สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2022 15:05 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 16 - 22 พฤษภาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 -6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,739 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,411 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.64

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 8,659 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,594 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.76

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,100 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 30,325 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.85

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,600 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.03

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 940 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,254 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 911 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,294 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.18 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 960 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 461 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,818 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน (15,836 บาท/ตัน) แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 473 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,230 บาท/ตัน) ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน (16,248 บาท/ตัน) แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 18 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.3132 บาท

2. สถานการณ์การผลิตและการค้าของโลก

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนพฤษภาคม 2565 ผลผลิต 514.631 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 512.856 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2564/65 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนพฤษภาคม 2565 มีปริมาณผลผลิต 514.631 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.35 การใช้ในประเทศ 518.440 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 1.54 การส่งออก/นำเข้า 54.255 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 3.07 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 186.256 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 2.00

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน กายานา อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย ไทย และอุรุกวัย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล อียู เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล จีน ไอเวอรี่โคสต์ อียิปต์ อียู กานา อิรัก มาดากัสการ์ เม็กซิโก โมซัมบิก เนปาล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาลี ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศ ที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน ปากีสถาน ไทย และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวค่อนข้างทรงตัวท่ามกลางภาวะการซื้อขายที่เงียบเหงา ขณะที่อุปทานข้าว ในตลาดตึงตัว เพราะการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop) ได้เสร็จสิ้นแล้ว โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 415 - 420 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ก่อนหน้า ที่ระดับ 420 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

วงการค้าคาดว่า การส่งออกข้าวจะมาคึกคักอีกครั้งในช่วงเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ เนื่องจากคาดว่าจะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจากตลาดนำเข้าที่สำคัญ เช่น ฟิลิปปินส์ จีน บังคลาเทศ และประเทศในแถบแอฟริกา โดยในปี 2565 สมาคมอาหารเวียดนาม (the Vietnam Food Association; VFA) คาดว่าจะมีการส่งออกข้าวประมาณ 6 - 6.2 ล้านตัน ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2564 ที่ส่งออกได้ประมาณ 6.24 ล้านตัน

เว็บไซต์ Vietnam Plus รายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 (มกราคม-มีนาคม) เวียดนามส่งออกข้าวไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประมาณ 22,500 ตัน (มูลค่าประมาณ 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นประมาณ 4 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งเป็นผลมาจากการได้รับอัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่ได้รับภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (the EU-Vietnam Free Trade Agreement; EVFTA)

ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า the Ministry of Industry and Trade) รายงานว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-เมษายน) เวียดนามส่งออกข้าวมากกว่า 30,000 ตัน ไปยังประเทศในสหภาพยุโรป โดยที่ประเทศอิตาลี ยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ตามด้วยประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี 2564 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปประมาณ 60,000 ตัน (มูลค่าประมาณ 41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) โดยปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1 และมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เวียดนามได้มีการส่งออกข้าวหอมในกลุ่ม ST24 และ ST25 ไปยังตลาดสหภาพยุโรป

ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม (the EU-Vietnam Free Trade Agreement; EVFTA) สหภาพยุโรปอนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวจากเวียดนามโดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี จำนวนรวม 80,000 ตัน (ประกอบด้วย ข้าวสาร 30,000 ตัน ข้าวเปลือก 20,000 ตัน และข้าวหอม 30,000 ตัน) และไม่มีการกำหนดโควต้านำเข้าข้าวหัก โดยจะมีการลดภาษีนำเข้าลงเหลืออัตรา 0% ภายในเวลา 3-5 ปี

สมาคมอาหารเวียดนาม (the Vietnam Food Association; VFA) คาดว่าในปี 2565 การส่งออกข้าวของเวียดนามไปยังสหภาพยุโรปจะเพิ่มขึ้น หากคุณภาพข้าวของเวียดนามมีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออกข้าวเวียดนามต้องใช้ประโยชน์จากข้อตกลง EVFTA ให้มากขึ้นด้วย

ปัจจุบัน ข้าวของเวียดนามมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.1 ของปริมาณนำเข้าข้าวทั้งหมดของสหภาพยุโรป ซึ่งตามข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งยุโรป (Eurostat) สหภาพยุโรปมีการนำเข้าข้าวประมาณปีละ 3 - 4 ล้านตัน

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับลดลง เนื่องจากค่าเงินรูปีเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ มีทิศทางอ่อนค่าลง ทำให้ราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ระดับ 357 - 361 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงจากเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 363 - 367 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่วงการค้าคาดว่า การอ่อนค่าลงของเงินรูปีจะส่งผลให้ความต้องการข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มของข้าวหัก ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ และแปรรูปอาหาร

องค์การอาหารแห่งชาติ (The Food Corporation of India; FCI) รายงานว่า สต็อกข้าว ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 มีประมาณ 51.1 ล้านตัน (รวมข้าวสารที่คำนวณมาจากสต็อกข้าวเปลือกประมาณ 26.611 ล้านตัน) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6.35 เมื่อเทียบกับจำนวน 48.05 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงประมาณร้อยละ 7.16 เมื่อเทียบกับจำนวน 55.04 ล้านตัน ในเดือนเมษายน 2565

ขณะที่สต็อกธัญพืช (ข้าว ข้าวสาลี และธัญพืชอื่นๆ) โดยรวมของอินเดีย ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 มีจำนวนประมาณ 81.959 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 19.14 เมื่อเทียบกับจำนวน 101.365 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 9.99 เมื่อเทียบกับจำนวน 74.513 ล้านตัน ในเดือนเมษายน 2565

โดยสต็อกข้าวสาลีมีประมาณ 30.346 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 42.37 เมื่อเทียบกับจำนวน 52.656 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 67.75 เมื่อเทียบกับจำนวน 18.09 ล้านตัน ในเดือนเมษายน 2565 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลอินเดียมีคำสั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565 สั่งห้ามการส่งออกข้าวสาลีโดยให้มีผลบังคับใช้ทันทีหลังจากที่สต็อกข้าวสาลีในประเทศเริ่มส่อปัญหาขาดแคลน รายงานระบุว่า อินเดียในฐานะชาติผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับสองของโลก พยายามที่จะควบคุมราคาข้าวสาลีภายในประเทศหลังสต็อกข้าวสาลีเริ่มได้รับผลกระทบ รัฐบาลอินเดียระบุว่า การขนส่งข้าวสาลีจะได้รับอนุญาตเฉพาะที่มีการออกหนังสือรับรองการชำระเงินโดยธนาคาร (letters of credit ? L/C) แล้วเท่านั้น

นับตั้งแต่สงครามยูเครนปะทุ บรรดาผู้ซื้อข้าวสาลีทั่วโลกได้แห่มาซื้อข้าวสาลีจากอินเดีย หลังจากที่การส่งออกข้าวสาลีจากภูมิภาคทะเลดำลดลงตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครนจนส่งผลให้ราคาข้าวสาลีตลอดจนผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีในอินเดียพุ่งสูงถึงร้อยละ 15 - 20 เพียงไม่นานหลังสงครามรัสเซียยูเครนปะทุ เช่นเดียวกับราคาข้าวสาลีในตลาดโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบต่อปัจจัยต้นทุนราคาอาหารแล้ว การห้ามส่งออกข้าวสาลีของอินเดียคาดว่าจะกระทบต่อต้นทุนราคาอาหารสัตว์ให้มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ราคาข้าวสาลีในอินเดียได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์แตะระดับประมาณ 25,000 รูปี หรือประมาณ 11,193 บาทต่อตัน ซึ่งสูงกว่าราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้สำหรับการอุดหนุนเกษตรกรที่ 20,150 รูปี หรือประมาณ 9,021 บาทต่อตัน อินเดียถือเป็นชาติล่าสุดที่บังคับใช้มาตรการห้ามส่งออกอาหาร หลังจากที่ก่อนหน้านี้อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค คาซัคสถานห้ามส่งออกข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี ซึ่งจะยิ่งเป็นปัจจัยให้ราคาอาหารทั่วโลกปรับสูงขึ้นจากมาตรการห้ามส่งออก ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหาร นอกเหนือจากปัจจัยเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้อินเดียได้ตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวสาลีในปี 2565 จำนวน 10 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา อินเดียต้องเผชิญกับวิกฤตคลื่นความร้อน (Heat Wave) ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตข้าวสาลี และผลิตผลการเกษตร โดยมีรายงานว่า อินเดียเป็นประเทศหนึ่งที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดในโลก โดยขณะนี้มีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะสูงขึ้นถึง 50 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อผลผลิตข้าวสาลีทั้งนี้ อากาศที่ร้อนขึ้นของอินเดีย ทำให้ข้าวสาลีที่ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศร้อนได้ เกิดการไหม้เกรียม และผลผลิตอาจจะลดลงร้อยละ 10 - 50 ซึ่งหากสภาพอากาศแปรปรวนของอินเดียยังคงไม่คลี่คลาย ก็อาจจะทำให้ราคาข้าวสาลี แป้งข้าวสาลี หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของข้าวสาลี ราคาพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตขาดตลาด และไม่เพียงพอต่อการบริโภค นอกจากนี้ ประเทศอินเดียยังได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ และสงครามระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาปุ๋ยพุ่งสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของอินเดีย

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ