สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2022 13:22 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 6 - 12 มิถุนายน 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,862 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,767 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.69

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,116 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,987 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.43

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,910 บาท ราคาลดลงจากตันละ 33,025 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.38

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,490 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.08

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 930 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,844 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 963 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,728 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.43 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 884 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 463 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,853 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 465 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,803 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 86.45 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 50 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 475 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,264 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 477 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,211 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.42 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 53 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.2405 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่าสมาคมคาดว่าในเดือนพฤษภาคม 2565 การส่งออกข้าวจะอยู่ที่ระดับประมาณ 600,000 - 650,000 ตัน เนื่องจากผู้ส่งออกยังมีสัญญาส่งมอบที่ค้างจากเดือนก่อนๆ อยู่พอสมควร ในขณะที่ตลาดหลักที่สำคัญในแถบตะวันออกกลาง เช่น อิรัก สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ ตลาดเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น ตลาดแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้ แองโกล่า โมซัมบิก รวมทั้งตลาดอเมริกา เช่น สหรัฐ แคนาดา ยังคงมีความต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ หลังจากที่สถานการณ์ด้านโลจิสติกส์และการส่งมอบมีทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับภาวะค่าเงินบาทยังคงอยู่ในทิศทางอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาข้าวไทยอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ โดยราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 อยู่ที่ 465 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 423 - 427, 338 - 342 และ 373 - 377 เหรียญสหรัฐต่อตัน ตามลำดับ ด้านราคาข้าวนึ่งไทย อยู่ที่ 480 เหรียญสหรัฐต่อตัน ขณะที่ข้าวนึ่งของอินเดีย และปากีสถานอยู่ที่ 348 - 352 และ 392 - 396 เหรียญสหรัฐต่อตัน

สำหรับการส่งออกข้าวในเดือนเมษายน 2565 มีปริมาณ 548,636 ตัน มูลค่า 9,977.6 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าส่งออก ลดลงร้อยละ 15.3 และร้อยละ 10.0 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2565 ที่มีปริมาณ 647,608 ตัน มูลค่า 11,085 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนเมษายนที่ผ่านมา การส่งออกข้าวขาว และข้าวนึ่ง มีปริมาณลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาข้าวในประเทศเกือบทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ราคาส่งออกปรับสูงขึ้นตาม ทำให้ผู้ซื้อบางส่วนชะลอการสั่งซื้อและรับมอบสินค้า

โดยในเดือนเมษายน 2565 มีการส่งออกข้าวขาวปริมาณรวม 199,939 ตัน ลดลงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม โดยส่วนใหญ่ส่งไปยังประเทศอิรัก ญี่ปุ่น โมซัมบิก มาเลเซีย แองโกล่า เป็นต้น ขณะที่ข้าวนึ่ง ส่งออกปริมาณ 94,572 ตัน ลดลงร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดหลัก ในแถบแอฟริกา และตะวันออกกลาง เช่น แอฟริกาใต้ เยเมน ไนเจอร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) ส่งออกปริมาณ 149,594 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม เนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดประจำ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง แคนาดา สิงคโปร์ ก็ยังคงมีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของกรมศุลกากร การส่งออกข้าวในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม - เมษายน 2565) มีปริมาณ 2,291,916 ตัน มูลค่า 39,445.8 ล้านบาท (1,203.3 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยปริมาณ และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.7 และร้อยละ 36.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 1,500,593 ตัน มูลค่า 28,914.5 ล้านบาท (965.7 ล้านเหรียญสหรัฐ)

ขณะที่ เดือนมิถุนายน 2565 นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% อยู่ที่ 8,896 - 9,046 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.37 - 5.12 เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดลดลงจากการเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง รอบที่ 1 และแนวโน้มเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้ประเทศคู่ค้านำเข้าข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 12,604 - 12,799 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 1.72 - 3.29 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศคู่ค้าในตะวันออกกลางมีรายได้เพิ่มขึ้น อาทิ อิรัก อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย จึงต้องการนำเข้าข้าวหอมมะลิจากไทยเพิ่มขึ้น

ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ราคาอยู่ที่ 8,744 - 8,806 บาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 0.35 - 1.07 เนื่องจากมีความต้องการใช้ในเทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง ประกอบกับความต้องการนำเข้าข้าวเหนียวของจีนเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในเทศกาลแข่งขันเรือมังกร

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

กัมพูชา

สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (CRF) เปิดเผยว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม - พฤษภาคม) กัมพูชาส่งออกข้าวไปยังจีนประมาณ 149,447 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยจีนยังคงเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา มีสัดส่วนร้อยละ 52.6 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชา รองลงมา คือ สหภาพยุโรป (EU) ซึ่งซื้อข้าวจากกัมพูชา 88,167 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31 ของปริมาณการส่งออกรวม สหพันธ์ฯ ระบุว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว กัมพูชาส่งออกข้าวขาวทุกชนิดสู่ตลาดต่างประเทศผ่านบริษัท 53 แห่ง คิดเป็นปริมาณ 283,675 ตัน เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 22 และสร้างรายได้รวม 173.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.94 พันล้านบาท)

นายทรง สราญ ประธานสหพันธ์ฯ กล่าวว่า จีนเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับข้าวกัมพูชา และกัมพูชามีแนวโน้มส่งออกข้าวไปยังจีนมากขึ้น หลังจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรืออาร์เซ็ป (RCEP) มีผลบังคับใช้

เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 ?อาร์เซ็ป จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าระหว่างกัมพูชาและจีน รวมถึงประเทศที่เข้าร่วมอื่นๆ ยิ่งขึ้น? นายสราญ เปิดเผยกับสำนักข่าวซินหัว ว่า ?ความตกลงการค้าระดับภูมิภาคขนาดใหญ่นี้ ช่วยขยับขยายการเข้าถึงตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา และคิดว่าจะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากให้เข้ามาลงทุนในหลายภาคส่วน ซึ่งรวมถึงในอุตสาหกรรมข้าว เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังสมาชิกความตกลงฯ ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี? โดยนายสราญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท อัมรู ไรซ์ (กัมพูชา) จำกัด กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันบริษัทส่งออกข้าวขาวไปยัง จีน สิงคโปร์ และออสเตรเลีย

ที่มา: Xinhuathai

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ