สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 18, 2022 15:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 11 - 17 กรกฎาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,754 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,817 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.45

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,068 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,084 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.17

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,250 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,800 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,030 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.64

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 855 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,821 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 862 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,732 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.81 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 89 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,140 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 429 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,295 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.10 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 155 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,537 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 440 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,687 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.05 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 150 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.0479 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนกรกฎาคม 2565 ผลผลิต 514.759 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 513.556 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2564/65 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.23

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนกรกฎาคม 2565 มีปริมาณผลผลิต 514.759 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.23 การใช้ในประเทศ 518.635 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.74 การส่งออก/นำเข้า 54.655 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก

ปี 2564/65 ร้อยละ 0.92 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 182.762 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 2.08 โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน กายานา อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย ไทย และอุรุกวัย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล เมียนมาร์ กัมพูชา อียู และเวียดนาม

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล จีน ไอเวอรี่โคสต์ อียิปต์ กานา อิรัก มาดากัสดาร์ เม็กซิโก โมซัมบิก เนปาล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ มาลี และเวียดนาม

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน ไทย และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวอยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดเพิ่มขึ้นเพราะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (the summer-autumn crop) ไปแล้วประมาณร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม ผู้ค้าข้าวในประเทศได้ชะลอการซื้อข้าวเปลือกในช่วงนี้เพื่อรอให้ราคาอ่อนตัวลง เนื่องจากในช่วงนี้ต้นทุนค่าขนส่งยังคงสูงขึ้น โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 415-420 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 726,308 ตัน (มูลค่าประมาณ 354 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2565 และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 66.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน 2565) เวียดนามส่งออกข้าวประมาณ 3.5 ล้านตัน (มูลค่าประมาณ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงฮานอย รายงานว่า เวียดนามกำลังขยายการส่งออกข้าวคุณภาพสูง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกและปรับรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น

สมาคมอาหารเวียดนาม (Vietnam Food Association: VFA) ระบุว่าราคาส่งออกข้าวขาว 5% ของเวียดนามสูงกว่าราคาข้าวของไทย อินเดีย และปากีสถาน โดยราคาส่งออกข้าว 5% ของเวียดนามอยู่ที่ตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าราคาข้าวไทย 8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปากีสถาน 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดีย 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาส่งออกข้าวขาว 25% ของเวียดนามอยู่ที่ตันละ 403 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับราคาของไทย แต่สูงกว่าราคาข้าวของปากีสถาน 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดีย 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ข้าวคุณภาพสูงของเวียดนามกำลังจะส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น และยุโรป โดย บริษัท Tan Long Group JSC ร่วมมือกับธนาคาร Kiraboshi ของญี่ปุ่น ได้จัดงานแสดงสินค้าในกรุงโตเกียวเพื่อแนะนำข้าว ST25 (ซึ่งเคยได้รับเลือกให้เป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลกในปี 2562) ในตลาดญี่ปุ่น โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 บริษัท Loc Troi Group JSC ได้ส่งออกข้าวคุณภาพสูงประมาณ 500 ตัน ที่มีตราสินค้าข้าวเวียดนาม ?Com Vietnam Rice? ไปยังตลาดสหภาพยุโรป ด้วย

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 720,282 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 29.06 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 ที่ส่งออกจำนวน 558,084 ตัน และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.86 เมื่อเทียบกับจำนวน 627,091 ตัน ในเดือนพฤษภาคม 2564 โดยในเดือนพฤษภาคม 2565 ชนิดข้าวที่เวียดนามส่งออกประกอบด้วยข้าวขาว 5% จำนวน 201,016 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 3,718 ตันข้าวขาว 15% จำนวน 16,916 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 33,411 ตัน ปลายข้าวขาวจำนวน 18,260 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 79,826 ตัน ข้าวหอมจำนวน 342,105 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 25,031 ตัน โดยส่งไปยังตลาดในภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย

1. ตลาดเอเชียจำนวน 548,368 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 163,214 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 3,657 ตัน ข้าวขาว 15% จำนวน 16,916 ตัน ข้าวขาว 25% จำนวน 33,411 ตัน ปลายข้าวขาวจำนวน 18,020 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 78,632 ตัน ข้าวหอมจำนวน 217,490 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 17,029 ตัน

2. ตลาดแอฟริกาจำนวน 104,418 ตัน ประกอบด้วยข้าวขาว 5% จำนวน 3,778 ตัน ข้าวหอมจำนวน 100,504 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 136 ตัน

3. ตลาดยุโรปจำนวน 17,035 ตัน ประกอบด้วยข้าวขาว 5% จำนวน 428 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 1,062 ตันข้าวหอมจำนวน 11,842 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 3,704 ตัน

4. ตลาดอเมริกาจำนวน 35,067 ตัน ประกอบด้วยข้าวขาว 5% จำนวน 30,631 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 99 ตัน ข้าวหอมจำนวน 3,870 ตันและข้าวอื่นๆ จำนวน 466 ตัน

5. ตลาดโอเชียเนียจำนวน 15,394 ตัน ประกอบด้วย ข้าวขาว 5% จำนวน 2,965 ตัน ข้าวขาว 10% จำนวน 61 ตัน ปลายข้าวขาวจำนวน 240 ตัน ข้าวเหนียวจำนวน 34 ตัน ข้าวหอมจำนวน 8,398 ตัน และข้าวอื่นๆ จำนวน 3,696 ตัน

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

สำนักข่าว The Phnom Penh Post รายงานว่า สถานทูตจีนประจำกัมพูชาได้ออกแถลงการณ์ว่า จีนจะนำเข้าข้าวจากกัมพูชามากขึ้น เมื่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 คลี่คลายแล้ว ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่มีการประชุมระดับรัฐมนตรีของสองประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก จีนนำเข้าข้าวจากกัมพูชาประมาณ 168,280 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 17.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และคิดเป็นประมาณร้อยละ 51.4 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชา โดยในปี 2565 ประเทศจีนได้กำหนดโควตานำเข้าข้าวจากกัมพูชาจำนวน 400,000 ตัน ซึ่งมีทั้งข้าวหอม ข้าวขาว และข้าวหัก สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodian Rice Federation; CRF) ประกาศราคาส่งออกข้าวประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

1. ข้าวหอม Malys Angkor (Premium Jasmine Rice) ชนิด 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 860 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) เท่ากับราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ตันละ 860 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

2. ข้าวหอม Fragrant Rice (Sen Kra Ob - SKO) ชนิด 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 790 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) ลดลงจากราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

3. ข้าวขาว (Premium White Rice / Soft cooking) ชนิด 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 530 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) ลดลงจากราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

4. ข้าวนึ่ง (Parboiled Rice) ชนิด 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 525 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) เท่ากับราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ตันละ 525 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

5. ข้าวหอมอินทรีย์ (Organic Premium Jasmine Rice) ชนิด 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 1,350 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) เท่ากับราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ตันละ 1,350 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

6. ข้าวขาวอินทรีย์ (Organic White Rice) ชนิด 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 980 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) เท่ากับราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ตันละ 980 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

7. ข้าวนึ่งอินทรีย์ (Organic Parboiled Rice) ชนิด 5% ราคาอยู่ที่ตันละ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) เท่ากับราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ตันละ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

8. ข้าวกล้องหอม (Brown Jasmine Rice) ราคาอยู่ที่ตันละ 690 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) เท่ากับราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ตันละ 690 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

9. ข้าวกล้อง (Brown Rice) ราคาอยู่ที่ตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB) เท่ากับราคาวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ที่ตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (FOB)

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เมียนมาร์

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า นายเย มินออง (Ye Min Aung) ประธานสหพันธ์ข้าวเมียนมา (the Myanmar Rice Federation; MRF) เปิดเผยว่า เมียนมาตั้งเป้าส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในระยะเวลา 3 ปี นับจากนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่พันธุ์ข้าวคุณภาพสูง (higher-quality varieties) นายเย มินออง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เมียนมามีแผนส่งออกข้าวมากถึง 4 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2568 จากปัจจุบันที่ส่งออกประมาณ 2 ล้านตันต่อปี เนื่องจากคาดการณ์ว่าอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน ยุโรป และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งคาดว่ารายได้ ณ ช่วงเวลาดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าสู่ระดับประมาณ 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่เมียนมาส่งออกมากที่สุดทั้งนี้ คำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวมีขึ้นหลังจากการขาดแคลนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ตั้งแต่ข้าวสาลีไปจนถึงข้าวโพด และน้ำมันปรุงอาหาร ซึ่งผลักดันต้นทุนอาหารโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้

ประธานสหพันธ์ข้าวเมียนมาระบุว่า แนวโน้มภาพรวมการส่งออกที่สูงขึ้นนี้สวนทางกับผลิตผลในเมียนมาที่ลดลง โดยผลผลิตจะลดลงประมาณร้อยละ 5 เนื่องจากความไม่แน่นอนในบางพื้นที่ของประเทศ แต่ยังคงสามารถส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการทำรัฐประหารในปี 2564 ที่มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังของรัฐบาลทหารกับกองกำลังต่อต้าน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยรายงานฉบับล่าสุดขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า เมียนมากำลังเผชิญกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยเกือบร้อยละ 25 ของประชากร 55 ล้านคน ได้รับผลกระทบในระดับปานกลางถึงรุนแรง นอกจากนี้ ราคาการผลิตพืชผลทางการเกษตรปรับสูงขึ้น โดยปุ๋ยมีราคาสูงกว่า ปี 2562 ถึง 3.6 เท่า และเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เริ่มขาดตลาดหรือมีราคาสูงเกินไปจนไม่สามารถซื้อได้

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ