นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา (สศท.5) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ?ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่? เป็นสินค้าเกษตรล่าสุดที่ได้รับการรับรองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทุเรียนปากช่องเขาใหญ่พบปลูกในพื้นที่อำเภอปากช่อง ตั้งอยู่บนเทือกเขาดงพยาเย็นเป็นแหล่งโอโซนอันดับ 7 ของโลก มีความอุดมสมบูรณ์จากดินภูเขา และสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตทุเรียนมีคุณภาพ รสชาติหวาน มัน เนื้อเนียนละเอียดแห้ง และมีเส้นใยน้อย เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ทางการค้า และเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
สำหรับทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ ได้ชื่อว่าเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางจังหวัด โดยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มเกษตรกร ได้ผสานความร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ ส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวเชิงเกษตร และสร้างรายได้ให้กับท้องถิ่น ผลักดันทุเรียนปากช่องเขาใหญ่จนได้รับมาตรฐาน GAP และได้รับรองตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 ครอบคลุมพื้นที่ปลูกทุเรียนในอำเภอปากช่อง
สศท.5 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตทุเรียนปากช่อง GI ของจังหวัดนครราชสีมา พบว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนและพืชสวน ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นกลุ่มต้นแบบที่มีศักยภาพการผลิต และเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับสินค้า GI ปัจจุบันมีสมาชิกเกษตรกร 39 ราย พื้นที่ปลูกรวม 2,000 ไร่ ครอบคลุม 4 ตำบล ได้แก่ หนองน้ำแดง ปากช่อง กลางดง และคลองม่วง โดยมี นายมาโนช รูปดี เป็นประธานกลุ่ม และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้ได้รับสินค้า GI สำหรับฤดูกาลผลิตทุเรียนของกลุ่ม ปี 2565 ผลผลิตจะออกสู่ตลาดเดือนมิถุนายน ? สิงหาคม ให้ผลผลิตรวมประมาณ 800 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 400 กิโลกรัม/ไร่ เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตแบบคละ ราคากิโลกรัมละ 150 ? 200 บาท (ราคาขาย ณ เดือนกรกฎาคม 2565) ซึ่งราคาจะสูงกว่าทุเรียนทั่วไปตามท้องตลาดที่มีราคากิโลกรัมละ 120 บาท เนื่องจากทุเรียน GI มีกระบวนการผลิตตามมาตรฐาน GAP พร้อมส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทุกลูก และมีการรับประกันคุณภาพสินค้า ด้านสถานการณ์ตลาดทุเรียน GI ของกลุ่ม ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เน้นการจำหน่ายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงเกษตร และนักท่องเที่ยวทั่วไปที่เข้ามารับซื้อหน้าสวน รองลงมา ร้อยละ 15 จำหน่ายให้พ่อค้าแม่ค้าแผงผลไม้ และอีกร้อยละ 5 จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ได้แก่ Facebook และ Line ของเกษตรกรเอง
ด้านมาตรฐาน GI ของกลุ่ม คือการรักษาคุณภาพผลผลิต ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดการเรื่องน้ำ และธาตุอาหาร เกษตรกรจึงต้องเข้มงวดกับการดูแลรักษาผลผลิต ซึ่งทางกลุ่มได้ส่งเสริมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่องโดยในระยะต่อไป ทางกลุ่มมีแนวทางในการผลิตทุเรียนคุณภาพด้วยการให้สมาชิกกลุ่มผลิตทุเรียนตามมาตรฐาน GAP การขยายจำนวนสมาชิกผู้ปลูกทุเรียน เพื่อรวบรวมพื้นที่และจำนวนผลผลิตให้มีปริมาณมาก ให้สามารถส่งออกผลผลิตไปต่างประเทศได้ รวมถึงการขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น? ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าว
?ถึงแม้ว่าผลผลิตทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ GI จะออกตลาดไปมากแล้วในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2565 ร้อยละ 80 หรือประมาณ 640 ตัน สำหรับผู้บริโภคที่สนใจต้องการลิ้มลองรสชาติของทุเรียนปากช่อง GI ยังสามารถสั่งซื้อได้ถึงปลายสิงหาคม 2565 เนื่องจากเป็นช่วงที่ทุเรียนยังให้ผลผลิตอยู่ ร้อยละ 20 หรือประมาณ 160 ตัน จึงขอเชิญชวนผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา หรือจังหวัดใกล้เคียงสนับสนุนผลผลผลิตของเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนและพืชสวน เพื่อเป็นกำลังใจให้เกษตรกรได้ผลิตสินค้าคุณภาพต่อไป ทั้งนี้ หากท่านในสนใจข้อมูลการผลิตและตลาดทุเรียนปากช่อง GI ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนและพืชสวน ตำบลหนองน้ำแดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายมาโนช รูปสมดี ประธานกลุ่ม โทร 09 4516 6864? ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวทิ้งท้าย
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 นครราชสีมา
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร