สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2022 15:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 25 - 31 กรกฎาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3)โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,666 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,713 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,048 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,076 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.31

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,250 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,617 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,590 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 842 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,703 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 847 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,864 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.59 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 161 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,987 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,940 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 47 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 416 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,169 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 413 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,050 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 119 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.4642 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดเพิ่มขึ้นเพราะกำลังมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (the summer-autumn crop) ไปมากกว่าครึ่งแล้ว ขณะที่ผู้ค้าข้าวในประเทศได้ชะลอการซื้อข้าวเปลือกในช่วงนี้ เพื่อรอให้ถึงช่วงที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุด ซึ่งราคาข้าวมักจะอ่อนตัวลง โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 415-420 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

วงการค้าระบุว่า ในช่วงนี้ราคาข้าวเปลือกในประเทศปรับตัวลดลง เนื่องจากมีผลผลิตข้าวฤดูใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ประกอบกับการที่มีฝนตกบ่อยครั้งในระหว่างการเก็บเกี่ยว ได้ส่งผลให้คุณภาพของข้าวเปลือกลดลง ขณะที่ผู้ค้าบางส่วนระบุว่า กำลังรอดูสัญญาณการซื้อข้าวครั้งใหม่จากประเทศผู้ซื้อที่สำคัญทั้งจากฟิลิปปินส์ และจีน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง รายงานว่า สำนักงานศุลกากรจีนได้รายงาน ปริมาณการนำเข้าข้าวของจีนในเดือนพฤษภาคม 2565 มีจำนวน 657,265 ตัน โดยปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2565 จำนวน 60,976 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 (ปริมาณนำเข้าข้าวในเดือนเมษายน 2565 จำนวน 596,289 ตัน) โดยจีนนำเข้าข้าวจากแหล่งต่างๆ ดังนี้ (1) อินเดีย จำนวน 243,509 ตัน (2) ปากีสถาน จำนวน 138,888 ตัน และ (3) เวียดนาม จำนวน 130,887 ตัน

ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2565 จีนนำเข้าข้าวสาร (พิกัดสินค้า 1006) จากไทย จำนวน 30,688 ตัน มูลค่าประมาณ 16.795 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 187.4 และร้อยละ 147 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีการนำเข้า จำนวน 10,678 ตัน มูลค่าประมาณ 6.799 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 33.1 และร้อยละ 35.9 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2565 ที่มีการนำเข้า จำนวน 45,856 ตัน มูลค่าประมาณ 26.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤษภาคม 2565) จีนนำเข้าข้าวสาร (พิกัดสินค้า 1006) จากไทย จำนวน 325,072 ตัน มูลค่าประมาณ 181.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 91 และร้อยละ 48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มีการนำเข้า จำนวน 170,636 ตัน มูลค่าประมาณ 122.643 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ผลผลิตข้าวต้นฤดูในปี 2565 (China's 2022 early rice) คาดว่าจะมีปริมาณเท่าเดิมแม้ว่าบางพื้นที่จะประสบกับภัยธรรมชาติ เช่น อุทกภัย ก็ตาม โดยทางการจีนต้องใช้มาตรการเพื่อลดการสูญเสียผลผลิตในช่วงที่มีฝนตกชุก และไม่ได้รับแสงแดดในบางพื้นที่ ซึ่งการเก็บเกี่ยวข้าวต้นฤดูกำลังดำเนินการ และเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณร้อยละ 40

ทั้งนี้ จากรายงานข่าวระบุว่า ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรแห่งประเทศจีน (the Chair Professor at China Agricultural University) ได้กล่าวในการประชุม World Economic Forum โดยระบุว่า จีนมีข้าวและข้าวสาลีเพียงพอ และรัฐบาลมีความพร้อมที่จะประกันความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ และได้ตั้งข้อสังเกตว่าสต็อกข้าวที่มีอยู่สามารถตอบสนองความต้องการของประเทศได้นานกว่าหนึ่งปี โดยเขายังแนะนำว่าการกระจายความเสี่ยงโดยการนำเข้าจากหลากหลายแหล่งอาจเป็นกลยุทธ์ระยะยาวสำหรับความมั่นคงด้านอาหาร

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เกษตรกรจีนได้ทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวต้นฤดู (2022 early rice crops) ไปแล้วประมาณร้อยละ 68.3 ของพื้นที่ โดยการเก็บเกี่ยวในมณฑล Hainan ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ในมณฑล Jiangxi, Hubei และ Guangdong เสร็จสิ้นไปแล้วประมาณร้อยละ 80 ซึ่งตามปกติแล้ว ข้าวต้นฤดูจะมีการเพาะปลูกในช่วงเดือนมีนาคม-กรกฎาคม และเก็บเกี่ยวช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม โดยปีนี้คาดว่าผลผลิตข้าวฤดูนี้จะมีปริมาณทรงตัว ขณะที่ข้าวปลายฤดู (Late rice) จะทำการเพาะปลูกในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้มีการเพาะปลูกไปแล้วประมาณร้อยละ 27.6 ของพื้นที่เป้าหมาย สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงรายงานของศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ (the National Meteorological Center) ว่า พื้นที่การผลิตข้าวที่สำคัญในภาคใต้ของจีนจะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้ง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อการเก็บเกี่ยวปริมาณมากของข้าวต้นฤดูที่โตเต็มที่ ซึ่งสภาพอากาศที่ร้อนจะไม่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตที่อยู่ในช่วงระยะแก่ของเมล็ด (การสะสมน้ำหนักเมล็ด) เนื่องจากอาจทำให้พืชเข้าสู่ระยะสุกเต็มที่ก่อนเวลาอันควร นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงจะเผาผลาญเมล็ดข้าวตอนปลายในบางพื้นที่ด้วยเช่นกัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ