สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 22, 2022 15:27 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 5 - 21 สิงหาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพโดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,576 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,669 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.68

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,001 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,010 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.10

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 30,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.30

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,870 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.14

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 884 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,158 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 882 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,083 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 75 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 434 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,297 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 439 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,471 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.14 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 174 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,614 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,577 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 37 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.2462 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนสิงหาคม 2565 ผลผลิต 512.439 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 513.654 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2564/65 หรือลดลงร้อยละ 0.24

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือน สิงหาคม 2565 มีปริมาณผลผลิต 512.439 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.24 การใช้ในประเทศ 518.735 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.39 การส่งออก/นำเข้า 54.725 ล้านตันข้าวสาร เท่ากับปี 2564/65 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 178.519 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 3.41

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน กายานา อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย ไทย และอุรุกวัย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล เมียนมา กัมพูชา อียู และเวียดนาม

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ไอเวอรี่โคสต์ อียิปต์ อียู กานา มาดากัสดาร์ เม็กซิโก โมซัมบิก เนปาล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ อิรัก มาลี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย - อิรัก

การส่งออกข้าวไทยครึ่งปีแรกร้อนแรง ?อิรัก? ขึ้นแท่นตลาดนำเข้าอันดับ 1 ยอดพุ่งร้อยละ 429 ด้าน ?เอเซีย โกลเด้น ไรซ์? ครองเบอร์ 1 ไม่หลุดโผ มั่นใจแนวโน้มครึ่งปีหลังดีต่อเนื่อง ?บาทอ่อน? หนุน ไทยลุ้น 7.5 ล้านตัน ด้าน ?ธนสรรไรซ์? จังหวะดี ผงาดขึ้นแท่นเบอร์ 2 กวาดออร์เดอร์อิรัก 5 แสนตัน รอลุ้นอีก 4 แสนตันผู้สื่อข่าว ?ประชาชาติธุรกิจ? รายงานว่า การส่งออกข้าวในช่วง 6 เดือนแรก (มกราคม-มิถุนายน 2565) มีปริมาณ 3,507,020 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.6 และมีมูลค่า 60,932.3 ล้านบาท หรือ 1,837.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2564 ที่ส่งออกปริมาณ 2,239,432 ตัน มูลค่า 42,641.8 ล้านบาท (1,407.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)

ล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2565 มีปริมาณส่งออก 764,131 ตัน มูลค่า 13,129.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.40 และร้อยละ 57.10 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ โดยปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 รองจากอินเดียที่ส่งออกได้ 9.27 ล้านตัน และเวียดนามส่งออกได้ 3.31 ล้านตัน

?การส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดข้าวอิรักที่ดีขึ้นต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2564 จนทำให้การส่งออกในช่วงแรกของปี 2565 ตลาดอิรักได้กลายเป็นตลาดข้าวอันดับ 1 ของไทย มีปริมาณ 659,750 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 429.3 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แซงตลาดแอฟริกาใต้ที่เคยเป็นตลาดอันดับ 1 ให้ตกไปอยู่อันดับ 3 โดยมีการส่งออก 333,323 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 จากปีที่ผ่านมา ส่วนตลาดสหรัฐฯ ยังคงรั้งตำแหน่งเบอร์ 2 มีการส่งออก 393,400 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56.4 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่ส่งออกได้ 251,589 ตัน

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า สมาคมคาดว่าในเดือนกรกฎาคม 2565 ไทยจะส่งออกข้าว 600,000 - 700,000 ตัน เพราะยังมีสัญญาที่ค้างส่งมอบจากเดือนก่อน ขณะที่ตลาดสำคัญในตะวันออกกลาง เอเชีย แอฟริกา และอเมริกายังคงนำเข้าต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร และการที่ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับลดลงอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ราคาข้าวขาว 5% ของไทย ณ วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ตันละ 411 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวขาว 5% ของเวียดนาม ตันละ 413-417 ดอลลาร์สหรัฐฯ อินเดีย ตันละ 343-347 ดอลลาร์สหรัฐฯ และปากีสถาน ตันละ 368-372 ดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาข้าวนึ่งไทย ตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าอินเดียที่ราคาตันละ 358-362 ดอลลาร์สหรัฐฯ และปากีสถาน ตันละ 408-412 ดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับชนิดข้าวที่ส่งออกเดือนมิถุนายน 2565 เป็นข้าวขาว 405,963 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 208 ส่งไปยังตลาดอิรัก ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น โมซัมบิก แองโกลา เป็นต้น ข้าวนึ่งปริมาณ 140,225 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังคงส่งไปยังตลาดหลักในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลาง ส่วนข้าวหอมมะลิ (ต้นข้าว) มีปริมาณ 103,865 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.2 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่งไปยังตลาดประจำ เช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สหราชอาณาจักร แคนาดา เป็นต้น นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธานบริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด บริษัทผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย เปิดเผย ?ประชาชาติธุรกิจ? ว่า ช่วงครึ่งปีแรก ในส่วนของเอเซียฯ ส่งออกข้าวแล้ว 400,000 ตัน โดยยังคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดส่งออกจะยังคงดีอย่างต่อเนื่อง บริษัทคาดว่าในปีนี้จะสามารถส่งออกได้ 1 ล้านตัน เป็นผลจากตลาดข้าวกลับมาฟื้นตัวดี และได้รับผลดีจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง

?ภาพรวมปี 2565 มองว่าไทยน่าจะส่งออกได้ 7.5 ล้านตัน จากครึ่งปีแรกที่ทำได้แล้ว 3.6 ล้านตัน เพราะตลาดส่งออกฟื้นตัวกลับมา ค่าเงินบาทอ่อนค่าทำให้แข่งขันได้ดีขึ้น?

ขณะที่นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด เปิดเผย ?ประชาชาติธุรกิจ? ภายหลังจากที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกอันดับ 2 ว่า ปี 2565 บริษัทไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะต้องส่งออกได้ปริมาณเท่าไร แต่เป็นจังหวะดีที่อิรักให้ความมั่นใจนำเข้าข้าวจากบริษัทต่อเนื่องเป็นรายแรกมาตั้งแต่ปี 2564 ส่งผลให้ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 บริษัทมีการส่งออกข้าวไปอิรักแล้ว 400,000 - 500,000 ตัน โดยคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะยังมีคำสั่งซื้อจากอิรักเข้ามาเพิ่มอีก 300,000 - 400,000 ตัน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เมียนมา

หนังสือพิมพ์ Global News Light of Myanmar รายงานว่า ตามข้อมูลจากสหพันธ์ข้าวเมียนมา ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2565 (เมษายน ? กรกฎาคม 2565) เมียนมาส่งออกข้าวสารและข้าวหักประมาณ 733,098 ตัน คิดเป็นรายได้ประมาณ 249 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา บริษัทผู้ส่งออกของเมียนมา 43 บริษัท ส่งออกข้าวมากว่า 664,074 ตัน ให้กับคู่ค้าต่างประเทศผ่านทางทะเล และส่งออกมากกว่า 69,023 ตัน ให้กับประเทศเพื่อนบ้านผ่านด่านทางชายแดนอย่างไรก็ตาม ความล่าช้าที่เกิดจากกฎระเบียบชายแดนที่เข้มงวดของประเทศจีน ทำให้ปริมาณการส่งออกข้ามชายแดนลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันศูนย์ค้าส่งข้าวของมูเซ รายงานว่า เมียนมาส่งออกข้าวสารและข้าวหักมากกว่า 10,000 ถุง ไปยังจีนโดยผ่านด่านมูเซ

ทั้งนี้ เมียนมาส่งออกข้าวสารและข้าวหักไปยังประเทศจีน อาเซียน แอฟริกา และสหภาพยุโรป ผ่านทางทะเล ซึ่งเมียนมาส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศกว่า 20 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน (ประมาณ 92,622 ตัน) และประเทศฟิลิปปินส์ (ประมาณ 91,374 ตัน) นอกจากนี้ เมียนมายังส่งออกข้าวหักจำนวน 91,603 ตัน ไปยังเบลเยี่ยม และกว่า 91,033 ตัน ไปยังประเทศจีน และจำนวน 37,500 ตัน ไปยังสเปนอีกด้วย

ด้านราคาข้าวในตลาดส่งออกได้ปรับสูงขึ้นเนื่องจากอุปทานในประเทศลดลง ซึ่งจากการรายงานของโกดังการขายส่งข้าว บะยิ่งนอง พบว่า ข้าวขาวชนิดต่างๆ มีราคาประมาณตันละ 325-360 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และคุณภาพ ทั้งนี้ ตามข้อมูลของสหพันธ์ข้าวเมียนมา (MRF) ราคาข้าวส่งออกของเมียนมาค่อนข้างต่ำกว่าราคาข้าวของไทยและเวียดนามสหพันธ์ข้าวเมียนมา ระบุว่า เมียนมาส่งออกข้าวสารและข้าวหักประมาณ 1.4 ล้านตัน ไปยังประเทศคู่ค้า ต่างประเทศ ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 ซึ่งตรงกับปีงบประมาณที่ผ่านมา (เมษายน 2564 - มีนาคม 2565) โดยในปีงบประมาณ 2563 - 2564 เมียนมามีรายได้จากการส่งออกข้าวประมาณ 2 ล้านตัน ไปยังต่างประเทศ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ