สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2022 15:39 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 29 สิงหาคม - 4 กันยายน 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,637 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,635 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.01

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,042 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,069 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,150 บาท ราคาลดลงจากตันละ 30,450 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.99

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,070 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.86

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 860 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,210 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 865 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,931 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.58 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 279 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,533 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,412 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.70 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 121 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 434 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,750 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 436 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,591 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.46 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 159 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.2910 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ขยับเป้าการส่งออกข้าวปี 2565 เป็น 7.5 ล้านตัน เหตุเงินบาทอ่อนค่า และผลผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาไม่ห่างจากประเทศคู่แข่งมากนัก ขณะที่ 'พาณิชย์' เผย 7 เดือนแรกของปี ไทยส่งออกข้าวแล้ว 4.08 ล้านตัน สร้างรายได้เข้าประเทศ 7.1 หมื่นล้านบาท

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ประเทศไทยสามารถส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้ทั้งสิ้น 5.78 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 โดยมีมูลค่าการส่งออก 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (คิดเป็นเงินบาท 10,173 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะที่ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม ? กรกฎาคม 2565) ไทยส่งออกข้าวไปต่างประเทศได้ทั้งสิ้น 4.08 ล้านตัน มูลค่า 2,127.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.6 และร้อยละ 29.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ หรือสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศ เป็นเงิน 71,105 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ตันละ 501.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยจากเดือนมิถุนายน ที่ราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 502.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.2565) ราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 520.7 ดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 550 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือลดลงร้อยละ 5.32

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขการส่งออกข้าวไทยในปี 2565 เป็น 7.5 ล้านตัน จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะส่งออกข้าวได้ 7 ล้านตัน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาข้าวไทยไม่แตกต่างจากคู่แข่งมากนัก และ (2) ผลผลิตข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาข้าวในประเทศไม่ได้สูงเหมือนเมื่อ 2 ปีก่อน ที่มีปัญหาภัยแล้ง

?ตั้งแต่ต้นปี เงินบาทอ่อนค่าลงเรื่อยๆ ซึ่งมีส่วนช่วยทำให้ราคาส่งออกข้าวของเราไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยช่วงที่เงินบาทแข็งค่า ราคาข้าวไทยแพงกว่าเวียดนาม 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปัจจุบันราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนามเพียง 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ทำให้ไทยแข่งขันได้มากขึ้น ลูกค้าหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น และคาดว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะส่งออกข้าวได้เดือนละ 6.5 แสนตัน? นายชูเกียรติ กล่าว

ที่มา สำนักข่าวอิศรา

ไทย-เวียดนาม

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจการเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายว่า ในการเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จในการขยายความร่วมมือด้านการเกษตรและการค้าระหว่าง 2 ประเทศ

โดยเฉพาะผลการประชุมหารือความร่วมมือด้านข้าวกับนายเจิ่น แทงห์ นาม (H.E. Mr. Tran Thanh Nam) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท และคณะผู้บริหารระดับสูง ณ นครเกิ่นเทอ โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เวียดนาม ยืนยันอย่างแข็งขันและมุ่งมั่นในการร่วมมือกับไทย เพื่อยกระดับราคาข้าวในตลาดโลกการเจรจาครั้งนี้เป็นการเจรจารอบที่ 2 ต่อจากการประชุมหารือที่ฝ่ายไทยเสนอข้อริเริ่มให้มีความร่วมมือร่วมกันยกระดับราคาข้าวที่กรุงเทพเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯทั้ง 2 ฝ่าย คือ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเล มิน ฮวาน (Mr. Le Minh Hoan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท ได้ทราบ และเห็นด้วยในหลักการจนนำมาสู่การเจรจาล่าสุดนับเป็นความสำเร็จและเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับที่ 2 และอันดับที่ 3 ของโลก ตกลงร่วมมือกันเพื่อยกระดับราคาข้าวในตลาดโลก เป็นงานที่ยากและยังมีภารกิจที่ท้าทายรออยู่เบื้องหน้าจะสำเร็จตามเป้าหมายหรือไม่ยังตอบไม่ได้ แต่วันนี้เราได้เริ่มเดินก้าวแรกร่วมกันแล้วในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านการเกษตร? นายอลงกรณ์กล่าวนายอลงกรณ์กล่าวว่า มีความเห็นตรงกันว่าราคาข้าวในตลาดโลกไม่เป็นธรรมกับประเทศผู้ผลิตและชาวนาของ 2 ประเทศ มาเป็นเวลายาวนาน นำมาซึ่งหนี้สินและความยากจน ถึงเวลาที่จะต้องต่อสู้เพื่อชาวนา ตัวอย่างชัดเจนที่สุด คือ ราคาข้าวในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากผลกระทบของวิกฤตการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ดังนั้น หากปล่อยสถานการณ์ราคาข้าวเป็นเช่นนี้ ชาวนาจะอยู่ไม่ได้เพราะขาดทุน เปลี่ยนไปทำเกษตรอื่นที่มีรายได้มากกว่า ส่งผลให้ปริมาณการผลิตข้าวลดลง และในระยะยาวกระทบต่ออุปทานข้าวของโลกที่สวนทางกับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น และปัญหาความมั่นคงด้านอาหารจะรุนแรงมากขึ้นซึ่งทั้ง 2 ฝ่าย จะนำสรุปผลการประชุมเสนอต่อรัฐมนตรีเกษตรของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อตั้งกลไกการขับเคลื่อนร่วมกันในรูปของคณะทำงานเฉพาะกิจ และให้แจ้งสมาคมชาวนา สมาคมผู้ค้าข้าว สถาบันอาหาร และสมาคมผู้ส่งออกข้าวของไทยและเวียดนาม ได้ทราบถึงแนวทางความร่วมมือดังกล่าว รวมทั้งเจรจาความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อื่นๆ ต่อไป

โดยระหว่างนี้จะกระชับความร่วมมือด้านข้าวระหว่างไทยกับเวียดนามในระดับองค์กรชาวนา และหน่วยงานด้านการเกษตรให้มากขึ้น ซึ่งนายฟาน จี๊ ทัญ เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย มีส่วนสำคัญต่อการประสานความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ ในครั้งนี้ทั้ง 2 ฝ่าย ยังเห็นตรงกันที่จะเพิ่มการค้าสินค้าเกษตรให้มากขึ้นและสมดุลมากขึ้น

จากสถิติการค้าในปี 2564 มีมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับเวียดนาม จำนวน 74,214 ล้านบาทโดยไทยนำเข้า 25,465 ล้านบาท และส่งออกไปเวียดนาม 48,750 ล้านบาท ซึ่งฝ่ายไทยได้เปรียบดุลการค้า 23,285 ล้านบาท โดยเฉพาะการค้าข้าวระหว่าง 2 ประเทศ ยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวียดนามนอกจากจะเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวแล้วยังนำเข้าข้าวปีละ 1.2 ล้านตัน และไทยส่งออกข้าวไปเวียดนามเป็นอันดับที่ 4 สามารถเพิ่มการส่งออกข้าวไปสนับสนุนเวียดนามได้เพิ่มขึ้น นับเป็นตลาดที่ใกล้ตัวและคนเวียดนามนิยมข้าวไทยโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ

ในการเยือนเวียดนามครั้งนี้ นายอลงกรณ์และคณะ ประกอบด้วย นายจักรกริช เรืองขจร รองกงสุลใหญ่นครโฮจิมินห์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรเวียดนาม ได้เยี่ยมชมสถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว แปลงข้าว และการใช้เครื่องจักรกลเกษตรและเทคโนโลยีเกษตร โดยมีนายเจิ่น แทงค์ นาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เวียดนาม และ ดร.เจิ่น หงับ ถัดห์ ผอ.สถาบันวิจัยข้าวสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง นำชมอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังได้หารือกับชาวนา โรงสีข้าว และสหกรณ์การเกษตร ที่หมีเว้ย (My Quoi agricultural cooperative) จังหวัดเตี่ยน ซาง (Tien Giang Province) รวมทั้งสำรวจตลาดข้าวในนครโฮจิมินห์อีกด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

อินเดีย

รัฐบาลอินเดียกำลังหารือเกี่ยวกับการจำกัดการส่งออกข้าวหัก คิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศ โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวมีแนวโน้มทำให้ตลาดพืชผลทางการเกษตรโลกได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น และซ้ำเติมวิกฤตความอดอยากในหลายประเทศ แต่ยังดีกว่าจำกัดการส่งออกข้าวทั้งหมด

ทั้งนี้ อินเดียส่งออกข้าวสู่ตลาดโลกมากกว่าร้อยละ 40 ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการส่งออกจึงสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคนหลายพันล้านรายที่พึ่งพาข้าวเป็นอาหารหลัก

อย่างไรก็ตาม อินเดียเคยระงับการส่งออกข้าวมาแล้วในช่วงปี 2550-2551 ส่งผลให้ประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่น เช่น เวียดนาม ระงับการส่งออกตามไปด้วย ทำให้เกิดแรงซื้อจากความตื่นตระหนก ผลักดันให้ราคาข้าวพุ่งทะลุตันละ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าระดับปัจจุบันถึง 2 เท่า โดยนายปีเตอร์ ทิมเมอร์ ศาสตราจารย์กิตติมาศักดิ์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ผู้ที่เคยทำงานด้านนโยบายเพื่อรับมือกับวิกฤตดังกล่าวร่วมกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ให้ความเห็นว่า การจำกัดการส่งออกข้าวหักในครั้งนี้ ไม่มีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดวิกฤตเช่นเดียวกับเมื่อปี 2550-2551 แต่อย่างใด

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า หลังจากที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียประกาศว่า อินเดียพร้อมที่จะ ?จัดสรรอาหารให้กับผู้คนทั่วโลก? แต่ได้กลับคำในช่วงไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ด้วยการระงับการส่งออกข้าวสาลีเพื่อรักษาอุปทานอาหารในประเทศ ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากบรรดารัฐมนตรีเกษตรของกลุ่ม G7 ซึ่งกล่าวว่า มาตรการดังกล่าวทำให้วิกฤตอาหารของโลกแย่ลงที่มา

สำนักข่าวอินโฟเควสท์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ