สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 3, 2022 14:22 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 26 กันยายน - 2 ตุลาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,606 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,625 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.14

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,368 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,290 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,250 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 875 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,993 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 897 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,071 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.45 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 78 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,402 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 446 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,443 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.47 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 41 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,628 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 458 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,886 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.71 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 258 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 37.7062 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย: ผู้ส่งออกคาด ปี 2565 ไทยอาจจะส่งออกข้าวทะลุ 8 ล้านตัน จากอินเดียห้ามส่งออกข้าว

ผู้ประกอบการส่งออกชี้ปีนี้ไทยอาจส่งออกข้าวไทยถึง 8 ล้านตัน รับอานิสงส์ที่อินเดียห้ามส่งออกข้าวหัก และขึ้นภาษีส่งออกข้าวหลายชนิดถึงร้อยละ 20 ดันราคาข้าวอินเดียขยับขึ้นใกล้เคียงไทย ทำให้ผู้ซื้อหันมาซื้อข้าวจากไทย เหตุคุณภาพดีกว่า ส่งมอบเที่ยงตรง

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยถึงกรณีที่อินเดียประกาศระงับการส่งออกข้าวหัก และกำหนดอัตราภาษีส่งออกข้าวเปลือก ข้าวกล้อง ข้าวกึ่งขัดสีหรือข้าวขาว ที่ร้อยละ 20 (ยกเว้นข้าวนึ่งและข้าวบาสมาติ) ว่า อินเดียเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกข้าวขาว มาตรการนี้จะเป็นผลดีต่อการส่งออกข้าวของไทย เพราะจะทำให้ราคาส่งออกข้าวอินเดียปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับข้าวไทยและเวียดนาม จากก่อนหน้านี้ข้าวขาวอินเดียอยู่ที่ตันละ 340 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไทย 420 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จากการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20 ทำให้ล่าสุด ราคาข้าวอินเดียขยับขึ้นอีกตันละ 60-70 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 390-400 ดอลลาร์สหรัฐฯ และผู้ซื้อหันมาซื้อข้าวไทยมากขึ้น เพราะคุณภาพดีกว่า และการส่งมอบเที่ยงตรงแน่นอน ประกอบกับ ขณะนี้ข้าวที่อินเดียขายก่อนการใช้มาตรการนี้และอยู่ระหว่างการส่งมอบ ตกค้างที่ท่าเรือนับล้านตัน เพราะรัฐบาลประกาศใช้มาตรการทันทีโดยไม่มีระยะเวลาปรับตัว ทำให้ผู้ที่ซื้อไปแล้วไม่ยอมเสียภาษีเพิ่มร้อยละ 20 ส่วนผู้ขายก็ไม่ยอมขาดทุน ส่งผลให้ผู้ซื้อที่ต้องการข้าวเร่งด่วน หันมาหาไทยและเวียดนาม รวมถึงในช่วงปลายปีหลายประเทศเร่งนำเข้าเพื่อสต็อกข้าวสร้างความมั่นคงจากความกังวลวิกฤตขาดแคลนอาหาร

?ถ้าอินเดียใช้มาตรการนี้ต่อเนื่องถึงสิ้นปี อาจทำให้ไทยส่งออกข้าวได้มากถึง 8 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 150,000 ล้านบาท จากเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ปรับเป้าหมายส่งออกข้าวปีนี้เพิ่มเป็น 7.5 ล้านตัน จากเดิม 7 ล้านตัน เพิ่มขึ้น จากปี 2564 ที่ส่งออกได้ 6.1 ล้านตัน เพราะคาดว่ามาตรการนี้อาจมีผลทำให้การส่งออกข้าวอินเดียปีนี้ได้ 17 ล้านตัน จากปีก่อนที่ 21 ล้านตัน ส่วนที่หายไปจะไปเพิ่มสัดส่วนการส่งออกให้ประเทศผู้ส่งออกอื่น เช่น เวียดนาม เมียนมา ไทย แต่ไทยน่าจะมีศักยภาพมากกว่า"

ส่วนแนวโน้มราคาข้าวไทยและข้าวโลก น่าจะค่อยๆ ขยับขึ้นได้อีก ถ้าอินเดียยังคงใช้มาตรการนี้จนถึงสิ้นปีแต่ราคาคงไม่ปรับขึ้นมากนัก เพราะสต็อกข้าวโลกยังมีมากพอสมควร สำหรับสาเหตุที่อินเดียต้องระงับส่งออกปลายข้าวและขึ้นภาษีอีกร้อยละ 20 สำหรับข้าวหลายชนิดนั้น เป็นเพราะที่ผ่านมาอินเดียถล่มขายข้าวราคาถูกจนทำให้สต็อกลดลงมาก แต่ฤดูการผลิตปัจจุบันอินเดียเกิดภัยแล้ง ผลผลิตข้าวลดลง หากผู้ส่งออกยังเร่งส่งออก รัฐบาลเกรงว่า ราคาข้าวในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้นและอาจมีข้าวไม่เพียงพอ จึงใช้มาตรการนี้เพื่อลดความร้อนแรงของราคาและทำให้สต็อกข้าวมีเพียงพอ

นายชูเกียรติ กล่าวว่า ส่วนตลาดข้าวอิรักนั้น ขณะนี้อิรักเริ่มกลับมาซื้อข้าวขาว 100% เกรดบี จากไทยตั้งแต่ปลายปี 2564 จากที่ไม่ยอมซื้อในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะผู้ส่งออกไทยส่งมอบข้าวผิดสเป็กหรือข้าวไม่ได้มาตรฐาน ทำให้อิรักไม่พอใจและไม่ซื้อข้าวจากไทยอีกเลย แต่หลังจากนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์มีนโยบายให้รื้อฟื้นตลาดอิรัก ทำให้อิรักกลับมาซื้อมากขึ้น โดยปีนี้ซื้อเดือนละไม่ต่ำกว่า 100,000 ตัน ทั้งปี คาดจะซื้อได้ถึง 1.2 ล้านตัน หรือกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณที่อิรักตั้งเป้าหมายนำเข้าจากทั่วโลกที่ 1.5 ล้านตัน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก แบ่งเป็น การส่งออกข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติร้อยละ 65 มีกลุ่มประเทศแถบแอฟริกาเป็นตลาดหลัก และข้าวบาสมาติร้อยละ 35 มีกลุ่มประเทศแถบตะวันออกกลางเป็นตลาดหลัก โดยปี 2564 อินเดียส่งออกข้าวได้ 21.421 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่ส่งออกได้ 14.716 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.57 ที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ โดยเฉพาะ บังกลาเทศ จีน และเวียดนาม เพิ่มมากขึ้น ส่วนสถานการณ์ส่งออกข้าวไทยนั้น ข้อมูลจากกรมศุลกากร และใบอนุญาตส่งออกข้าวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ? 20 กันยายน 2565 ส่งออกแล้ว 5.35 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.46 จากช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นมูลค่า 93,578 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.11

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปีครึ่ง เนื่องจากผู้ส่งออกข้าวประสบปัญหาการจราจรติดขัดที่ท่าเรือ เพราะรัฐบาลมีมาตรการควบคุมการขนส่งไปยังต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ซื้อพยายามมองหาอุปทานข้าวที่ถูกกว่าจากแหล่งอื่นๆ โดยราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ตันละ 385-392 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับสัปดาห์ก่อน

ผู้ส่งออกจากเมือง Kakinada ในรัฐ Andhra Pradesh ของอินเดีย กล่าวว่า ผู้ซื้อบางรายยินดีจ่ายในราคาที่ สูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่กำลังรอให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ ขณะที่การขนถ่ายสินค้าข้าวได้หยุดลงที่ท่าเรือต่างๆ ของอินเดีย โดยมีข้าวที่รอขนถ่ายขึ้นเรือเกือบ 1 ล้านตัน เนื่องจากผู้ซื้อปฏิเสธที่จะจ่ายภาษีร้อยละ 20 นอกเหนือจากราคาตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวทำให้ผู้ซื้อบางส่วนเปลี่ยนไปหาข้าวจากแหล่งอื่น

รัฐบาลอินเดีย โดยกระทรวงอุปโภคบริโภค อาหาร และการจำหน่ายสาธารณะ (the Ministry of Consumer Affairs, Food & Public Distribution) ได้ออกแถลงการณ์ว่า การพิจารณาออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวหัก (broken rice) ทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ และเป็นการสร้างความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ปีกและอาหารสัตว์ใหญ่ และสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเอทานอล (Ethanol Blending Programme; EBP)

ขณะเดียวกันยังเป็นการควบคุมภาวะราคาข้าวในประเทศให้มีเสถียรภาพ ตลอดจนเพื่อเป็นการตรวจสอบอัตราเงินเฟ้อด้วยรัฐบาลแสดงความมั่นใจว่า ราคาขายปลีกข้าวในตลาดภายในประเทศจะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม เนื่องจากมีการห้ามส่งออกข้าวบางชนิด และสต็อกข้าวในส่วนกลางของรัฐบาลยังคงมีอย่างเพียงพอทั้งนี้ รัฐบาลระบุว่ามีสต็อกข้าวในประเทศประมาณ 21.73 ล้านตัน ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติ (the buffer stock norm) ที่จะต้องมีประมาณ 13.45 ล้านตัน สำหรับไตรมาสเดือนกรกฎาคม ? กันยายน ประกอบกับรัฐบาลตั้งเป้าจัดหาข้าวประมาณ 51 ล้านตัน จากผลผลิตในช่วงฤดู Kharif Season ที่จะมาถึง และในช่วงฤดู Rabi seasonอีกประมาณ 10 ล้านตัน ซึ่งทำให้สต็อกข้าวของประเทศมีมากเกินพอที่จะตอบสนองความต้องการของระบบจำหน่ายสาธารณะ (the public distribution system; PDS)แถลงการณ์ดังกล่าวยังเน้นย้ำว่า มาตรการแทรกแซงของรัฐบาลโดยการห้ามส่งออกข้าวหักและกำหนดภาษีร้อยละ 20 สำหรับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติและข้าวนึ่ง จะช่วยควบคุมสถานการณ์ข้าวภายในประเทศได้มากขึ้น

เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตร ระบุว่า มาตรการห้ามส่งออกข้าวหัก และกำหนดภาษีส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาสติ จะช่วยเพิ่มอุปทานข้าวในประเทศและบรรเทาแรงกดดันต่อราคาข้าวในประเทศได้ ซึ่งตามข้อมูลที่ดูแลโดยกระทรวงผู้บริโภค (the Ministry of Consumer Affairs) พบว่า ณ วันที่ 14 กันยายน 2565 ราคาขายส่งข้าว (the wholesale prices) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เป็น 3,357.2 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม จาก 3,047.32 รูปีต่อ 100 กิโลกรัม ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ราคาขายปลีก (the retail prices) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.47 เป็น 38.15 รูปีต่อกิโลกรัม จาก 34.85 รูปีต่อกิโลกรัม ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่ราคาอาหารสัตว์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 19 รูปีต่อกิโลกรัม เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2565 เป็น 24 รูปีต่อกิโลกรัม เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 และราคาข้าวหักก็เพิ่มขึ้นจาก 16 รูปีต่อกิโลกรัม เป็น 22 รูปีต่อกิโลกรัม ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งราคาข้าวในประเทศได้รับแรงกดดันจากคาดการณ์ผลผลิตข้าวในฤดู kharif ที่กำลังดำเนินอยู่ในปีการผลิต 2565/662 (กรกฎาคม 2565 ? มิถุนายน 2566) ที่มีแนวโน้มลดลงประมาณ 6-7 ล้านตัน แม้ว่าสต็อกข้าวของรัฐบาลจะมีเพียงพอก็ตามเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตร ระบุว่า ภาวะราคาข้าวในประเทศเริ่มทรงตัวหลังจากรัฐบาลออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวหัก โดยในบางพื้นที่เริ่มเห็นราคาที่ปรับลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ก่อน กระทรวงการอาหารระบุว่า มีการส่งออกข้าวหักผิดปกติอย่างยิ่ง ซึ่งทำให้ข้าวหักมีปริมาณเพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์และการผลิตเอทานอลสำนักข่าว Reuters รายงานเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ว่า รัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณาอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวบางส่วนที่ติดค้างอยู่ที่ท่าเรือ ซึ่งคาดว่ามีข้าวที่ติดอยู่ที่ท่าเรือประมาณ 1 ล้านตัน โดยผู้ส่งออกได้ขออนุญาตจากรัฐบาลในการขนส่งข้าวหัก (100% broken rice) ที่ท่าเรือ หลังจากรัฐบาลสั่งห้ามการส่งออกข้าวชนิดนี้ขณะเดียวกันผู้ส่งออกยังได้ร้องขอให้มีการส่งออกสินค้าข้าวขาวโดยไม่ต้องชำระภาษีร้อยละ 20 เนื่องจากผู้ซื้อไม่ต้องการจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม โดยมีรายงานว่า มีเรืออย่างน้อย 20 ลำ ที่กำลังรอขนถ่ายข้าวประมาณ 600,000 ตัน ที่ท่าเรือหลังจากถูกระงับไว้เกือบสองสัปดาห์ ซึ่งส่งผลให้ผู้ขายต้องเสียค่าปรับ (demurrage charges) เพิ่มขึ้น

ขณะที่มีข้าวอีกประมาณ 400,000 ตัน ที่ติดค้างอยู่ที่โกดังสินค้าท่าเรือและสถานีขนส่งสินค้าทางตู้คอนเทนเนอร์(port warehouses and container freight stations) แม้ว่าสัญญาซื้อขายจะมีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (letters of credit) แล้วก็ตาม ทั้งนี้ การส่งออกข้าวหักที่กำลังมีปัญหาติดขัดขณะนี้ มีปลายทางไปยังประเทศจีน เซเนกัล และจิบูตี ในขณะที่ข้าวขาวเกรดอื่นๆ กำลังจะถูกส่งไปยังประเทศเบนิน ศรีลังกา ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กระทรวงเกษตร (Ministry of Agriculture and Farmers Welfare) รายงานประมาณการผลผลิตธัญพืช ครั้งที่ 1 (First Advance Estimates of Production of Foodgrains for 2022/23) ของปีการผลิต 2565/66 (กรกฎาคม 2565 ? มิถุนายน 2566) ณ วันที่ 21 กันยายน 2565 โดยในปีการผลิต 2565/66 คาดว่าจะมีผลผลิตข้าว ในฤดูการผลิต the Kharif season (มิถุนายน ? ธันวาคม 2565) ประมาณ 104.99 ล้านตันข้าวสาร) ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 112 ล้านตันข้าวสาร และลดลงร้อยละ 6.06 เมื่อเทียบกับผลผลิตในปี 2564/65 ที่มีประมาณ 111.76 ล้านตันข้าวสาร *อินเดียมีผลผลิตข้าว 2 ฤดู คือ ฤดูการผลิต the Kharif season (มิถุนายน-ธันวาคม 2565) และฤดูการผลิต the Rabi season (พฤศจิกายน 2564-พฤษภาคม 2565)

ทั้งนี้ ในปีการผลิต 2564/65 (กรกฎาคม 2564 ? มิถุนายน 2565) จากข้อมูลรายงานประมาณการผลผลิตธัญพืช ครั้งที่ 4 (Fourth Advance Estimates of Production of Foodgrains for 2021/22) ผลผลิตรวมทั้ง 2 ฤดูการผลิตของปีการผลิต 2564/65 (the Kharif season และ the Rabi season) มีประมาณ 130.29 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งถือเป็นผลผลิตข้าวที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับปีการผลิตที่ผ่านๆ มา และสูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 121.1 ล้านตันข้าวสาร และมากกว่าผลผลิตในปี 2563/64 ที่มีประมาณ 124.37 ล้านตันข้าวสาร สำหรับผลผลิตธัญพืช (Foodgrains) รวมทุกชนิดในปีการผลิต 2565/66 คาดว่าจะมีประมาณ 149.52 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 163.15 ล้านตัน

สำนักข่าว Financial Express รายงานว่า ในการประชุมองค์การการค้าโลก (the World Trade Organization; WTO) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่นครเจนีวา ประเทศเซเนกัล สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการใช้มาตรการห้ามส่งออกข้าวและข้าวสาลีของอินเดีย โดยระบุว่าอาจมีผลกระทบในทางลบต่อตลาดโลก ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ออกมาปกป้องการใช้มาตรการห้ามส่งออกข้าวหักและข้าวสาลี โดยกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้เป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศประเทศสมาชิกบางรายของ WTO ซึ่งรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ได้ขอคำอธิบายเกี่ยวกับการใช้มาตรการดังกล่าวของอินเดีย ซึ่งอินเดียได้อธิบายกับสมาชิก WTO ว่า การห้ามส่งออกข้าวหักนั้น เนื่องจากอินเดียมีการใช้ข้าวหักส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้ยังไปกดดันภาวะราคาข้าวในประเทศให้สูงขึ้น และยังคาดว่าในปีนี้ผลผลิตข้าวในฤดู Kharif rice จะมีปริมาณลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ รัฐบาลต้องออกมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว ซึ่งเมื่อสถานการณ์ดีขึ้นมาตรการห้ามส่งออกก็จะถูกยกเลิกไปในที่สุดทั้งนี้ ประเทศเซเนกัล ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวหักและผลิตภัณฑ์ข้าวอื่นๆ ของอินเดียได้เรียกร้องให้อินเดียเปิดการค้าขายตามปกติในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีอาหารอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ประเทศสมาชิก WTO เช่น ไทย ออสเตรเลีย อุรุกวัย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา บราซิล นิวซีแลนด์ ปารากวัย และญี่ปุ่น ยังได้ขอคำอธิบายจากอินเดียในการใช้ "มาตราสันติภาพ" (the "peace clause") เพื่อปกป้องโครงการอาหารของอินเดียจากการดำเนินการจากข้อพิพาททางการค้า โดยเมื่อเดือนเมษายน อินเดียได้ใช้มาตราสันติภาพเป็นครั้งที่ 3 สำหรับการใช้เงินอุดหนุนเกินกว่าระดับเพดานร้อยละ 10 ของการสนับสนุนที่ให้กับเกษตรกร โดยแจ้งกับองค์การการค้าโลกว่าได้ใช้มาตราสันติภาพขององค์การการค้าโลก เพื่อให้มาตรการสนับสนุนส่วนเกินแก่ชาวนา สำหรับปีการตลาด 2563/64 เพื่อตอบสนองความต้องการความมั่นคงด้านอาหารในประเทศ

ภายใต้มาตราสันติภาพ (the peace clause) ประเทศสมาชิก WTO จะละเว้นจากการโต้แย้งในกรณีที่ ประเทศกำลังพัฒนามีการใช้เงินอุดหนุนเกินเพดานที่กำหนด ซึ่งการใช้เงินอุดหนุนเกินเพดานที่กำหนดถือเป็นการบิดเบือนทางการค้า และมีการจำกัดไว้ที่ร้อยละ 10 ของมูลค่าการผลิตอาหาร สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดีย

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์: ไต้ฝุ่นโนรูพัดกระหน่ำพื้นที่เกษตรของฟิลิปปินส์ นาข้าวเสียหายหนักสุด

พายุไต้ฝุ่นโนรูได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรในฟิลิปปินส์ ซึ่งส่งผลกระทบให้ประเทศเผชิญความเสี่ยงด้านอุปทานอาหาร และเงินเฟ้อทั้งนี้ เมื่อวันอังคาร (27 กันยายน 2565) พื้นที่เกษตรของฟิลิปปินส์ได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.29 พันล้านเปโซ (21.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งมากกว่าความเสียหายที่ประมาณการไว้ เมื่อวันจันทร์ (26 กันยายน 2565) ที่ 160 ล้านเปโซ โดยมีพื้นที่เกษตรกว่า 141,000 เฮกตาร์ (881,250 ไร่) ที่ได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและชาวประมงประมาณ 82,000 คน

กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ผลผลิตข้าวคิดเป็นร้อยละ 90 ของปริมาณพืชผลเกษตรที่ได้รับความเสียหาย 72,000 เมตริกตัน และเสริมว่าการประเมินความเสียหายยังคงดำเนินอยู่ในขณะนี้ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่าพายุไต้ฝุ่นโนรูอาจส่งผลกระทบต่อข้าวยืนต้นในประเทศประมาณร้อยละ 76

กระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมา พายุไซโคลนพัดผ่านฟิลิปปินส์จำนวนเฉลี่ย 20 ลูกต่อปีซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากภาวะอากาศที่อันตรายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหารตั้งแต่น้ำตาลไปจนถึงหอมหัวใหญ่ ซึ่งส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ ปี 2561

อาร์เซนิโอ บาลิซากัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายวางแผนเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ระบุว่าขณะที่ความเสียหายที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นโนรูดูเหมือนจะรุนแรงมาก แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ที่ปีนี้คาดว่าอยู่ในระดับร้อยละ 6.5 ? 7.5

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ