สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 17, 2022 15:03 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 10 - 16 ตุลาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิตพืช โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการเกษตร (ข้าวพันธุ์ กข43 และข้าวเจ้าพื้นนุ่ม) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าว โครงการเพิ่มปริมาณ น้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ระบบส่งน้ำให้พื้นที่เกษตรกรรม และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นแข็ง และพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการเชื่อมโยงตลาดข้าวอินทรีย์ และข้าว GAP ครบวงจร

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โครงการส่งเสริมผลักดันการส่งออกข้าว และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทย เพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการ ลด/แก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าข้าวไทยและเสริมสร้างความเชื่อมั่น

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทยในงานแสดงสินค้านานาชาติ และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

(5) การประชาสัมพันธ์รณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(6) การประชาสัมพันธ์ข้าวไทยในกลุ่มผู้บริโภคในต่างประเทศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพ

โดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,791 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,606 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.36

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,226 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,368 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.52

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,050 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 31,250 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.56

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,830 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 895 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,401 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 875 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,993 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.29 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 408 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 439 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,383 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,402 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.92 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 19 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 448 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,719 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,628 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.59 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 91 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 37.3190 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 420-425 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตันละ 400-410 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ผู้ค้าข้าวกล่าวว่า ราคาข้าวในประเทศมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น เนื่องจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง (the summer-autumn harvest) สิ้นสุดแล้ว ทำให้อุปทานข้าวในประเทศมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ผู้ส่งออกต่างเร่งหาซื้อข้าวจากเกษตรกร เพราะคาดว่าการส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นหลังจากอินเดียมีมาตราการจำกัดการส่งออกข้าว อย่างไรก็ตาม ราคาข้าวที่สูงขึ้นทำให้การลงนามข้อตกลงใหม่ยังมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้ซื้อยังคงรอดูสถานการณ์ ขณะที่ผู้ขายก็รอให้ราคาขึ้นอีก

ข้อมูลเบื้องต้นจากกรมศุลกากร ระบุว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 1-9 ตุลาคม 2565 มีเรือรอการขนถ่ายสินค้าประมาณ 37,400 ตัน ที่ท่าเรือ Ho Chi Minh City port โดยมีปลายทางที่ประเทศฟิลิปปินส์ และบังคลาเทศวงการค้าระบุว่า การเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วงสิ้นสุดแล้ว และต้องรออย่างน้อย 2 เดือน ก่อนการเก็บเกี่ยวฤดูใหม่จะเริ่มขึ้น

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า พายุไต้ฝุ่นโนรู (Typhoon Noru) ที่พัดขึ้นฝั่งทางเวียดนามตอนกลางเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้านั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตรของฟิลิปปินส์ และเมื่อพัดเข้า เวียดนาม ทำให้เกิดแผ่นดินถล่มในพื้นที่ภาคกลางของเวียดนาม พืชผลทางการเกษตรเสียหายประมาณ 8,125 ไร่ รวมถึงพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 1,875 ไร่

ขณะที่รายงานของสำนักงานสถิติของเวียดนาม (the Vietnam General Statistics Office; GSO) พยากรณ์ว่า ผลผลิตข้าวในฤดูใบไม้ผลิ-ฤดูหนาว (winter-spring rice) ของปีการผลิตนี้ อยู่ที่ประมาณ 19.98 ล้านตัน ลดลงประมาณ 649,000 ตัน จากปีที่ผ่านมา ซึ่งการลดลงเป็นผลมาจากมีการขยายตัวของเมืองรุกเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตต่อพื้นที่ลดลงจาก 1.075 ตันต่อไร่ เมื่อปีที่ผ่านมา เหลือ 1.050 ตันต่อไร่ เนื่องจากปีนี้ราคาปุ๋ยและยาฆ่าแมลงปรับสูงขึ้น โดยข้อมูล ณ กลางเดือนกันยายน 2565 พื้นที่เพาะปลูกข้าวฤดูหนาวของเวียดนาม ประมาณ 9.4 ล้านไร่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา

ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวในฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (summer-autumn rice crop) ของประเทศอยู่ที่ประมาณ 11.97 ล้านไร่ ลดลงประมาณ 241,250 ไร่ จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในเขตสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงลดลง

โดยข้อมูล ณ กลางเดือนกันยายน 2565 เกษตรกรของเวียดนามเก็บเกี่ยวข้าวฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (summer-autumn rice) ได้ประมาณ 11.44 ล้านไร่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา ขณะที่ผลผลิตต่อพื้นที่อยู่ที่ประมาณ 0.9 ตันต่อไร่ ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา โดยมีปริมาณผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 10.8 ล้านตัน ลดลงประมาณ 340,000 ตัน จากปีที่ผ่านมา

สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างข้อมูลของทางการเวียดนามว่า ในเดือนกันยายน 2565 มีการส่งออกข้าวประมาณ 650,00 ตัน มูลค่าประมาณ 308 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2565) เวียดนามส่งออกข้าวแล้วประมาณ 5.4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีรายงานว่า ในปี 2565 ประเทศจีนนำเข้าข้าวเหนียวจากเวียดนามลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยเห็นได้จากสัดส่วนการส่งออกข้าวเหนียวทั้งหมดไปยังจีนลดลงจากร้อยละ 74 เหลือเพียงร้อยละ 48 ซึ่งสถิติของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (The Ministry of Industry and Trade; MOIT) แสดงให้เห็นว่า การนำเข้าข้าวเหนียวของจีนจากเวียดนามมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวเหนียวรายใหญ่ที่สุดไปยังจีน และจีนเป็นตลาดข้าวเหนียวที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ซึ่งจากการที่รัฐบาลจีนใช้นโยบายปลอดโควิด (Zero-Covid policy) ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความต้องการข้าวเหนียว

โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-กรกฎาคม 2565) การส่งออกข้าวทุกชนิดของเวียดนามไปยังจีนมีปริมาณ 466,225 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 242.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณลดลงประมาณร้อยละ 27.5 และมูลค่าลดลงประมาณร้อยละ 28.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกข้าวเหนียวมีปริมาณ 223,464 ตัน ลดลงประมาณร้อยละ 53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาอย่างไรก็ตาม จีนได้เพิ่มการนำเข้าข้าวหอมโดยเฉพาะข้าวหอม ST21 และ ST24 โดยการส่งออกข้าวหอมไปจีนมีจำนวน 188,459 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า พายุไต้ฝุ่นโนรู (Typhoon Noru or Super Typhoon Karding) สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรในฟิลิปปินส์ ส่งผลให้ประเทศเผชิญความเสี่ยงด้านอุปทานอาหารและเงินเฟ้อ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ได้มีการประเมินพื้นที่เกษตรของฟิลิปปินส์ที่ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 21.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากความเสียหายที่ประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีพื้นที่เกษตรกว่า 883,200 ไร่ ได้รับความเสียหายและส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและชาวประมงราว 82,158 คน

กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ (the Department of Agriculture; DA) เปิดเผยว่า พืชผลเกษตรที่ได้รับความเสียหาย มีผลผลิตข้าวประมาณร้อยละ 90 หรือประมาณ 72,000 ตัน ทั้งนี้ การประเมินความเสียหายยังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ระบุว่า พายุไต้ฝุ่นโนรูอาจส่งผลกระทบต่อข้าวที่กำลังปลูกประมาณร้อยละ 76

ด้านกระทรวงการคลังฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า เมื่อปีที่ผ่านมาพายุพัดผ่านฟิลิปปินส์เฉลี่ย 20 ลูกต่อปี ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากภาวะอากาศที่แปรปรวนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า เมื่อช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์ประสบกับปัญหาขาดแคลนอาหารตั้งแต่น้ำตาลไปจนถึงหอมหัวใหญ่ ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นใกล้ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561

สำนักอุตสาหกรรมพืช (the Bureau of Plant Industry; BPI) รายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จนถึงวันที่ 22 กันยายน 2565 มีการนำเข้าข้าวประมาณ 2.913 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.12 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.771 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนามมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 82.11 หรือประมาณ 2.392 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.35 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.360 ล้านตัน ที่นำเข้าจากเวียดนามเมื่อปี 2564 (เป็นสถิตินำเข้าจากเวียดนามมากที่สุด) ตามด้วยเมียนมา จำนวน 203,879.28 ตัน และไทย จำนวน 150,416.375 ตัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.64 และร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการนำเข้าจากปากีสถาน จำนวน 146,055.675 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 477.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากฟิลิปปินส์ได้ลดภาษีนำเข้าจากอินเดีย และปากีสถาน ให้อยู่ในอัตราเดียวกับการนำเข้าจากประเทศสมาชิกอาเซียน (ร้อยละ 35)

สำนักอุตสาหกรรมพืช (BPI) ระบุว่า ผู้ค้าและผู้นำเข้าที่มีสิทธิ์นำเข้าข้าว จำนวน 138 ราย ได้นำเข้าข้าวจากหลายประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เมียนมาร์ ปากีสถาน สิงคโปร์ สเปน ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม โดยใช้เอกสารใบรับรองสุขอนามัยพืช (sanitary and phytosanitary import clearances; SPS-ICs) จำนวน 3,218 ใบ

สำหรับผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุด 5 อันดับแรกของฟิลิปปินส์ ได้แก่ บริษัท NAN STU Agri Traders ซึ่งนำเข้าปริมาณ 146,990.35 ตัน ตามด้วยบริษัท Manus Dei Resources Ent. Inc. จำนวน 142,881.28 ตัน บริษัท Lucky Buy and Sell จำนวน 128,523 ตัน บริษัท Macman Rice and Corn Trading จำนวน 112,500 ตัน และบริษัท BLY Agri Venture Trading จำนวน 98,341 ตัน เมื่อสัปดาห์ผ่านมา สำนักอุตสาหกรรมพืช (BPI) รายงานว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม 2565) ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวแล้วประมาณ 2.719 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 63.8 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.660 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะนำเข้าเพิ่มขึ้น จำนวน 2.777 ล้านตัน จากที่เคยนำเข้าในปี 2564

โดยในเดือนสิงหาคม 2565 มีการนำเข้าจำนวน 380,244.5 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 66.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 228,353.97 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

เซเนกัล

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ประธานาธิบดีของประเทศเซเนกัลกล่าวกับผู้นำธุรกิจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า เซเนกัลวางแผนที่จะจัดการเจรจากับอินเดีย เพื่อจัดหาข้าวที่จำเป็นมากหลังจากอินเดียสั่งห้ามการส่งออกข้าวหัก และกำหนดอัตราภาษีสำหรับข้าวประเภทอื่นๆ ซึ่งอินเดียและปากีสถานเป็นแหล่งนำเข้าข้าวของเซเนกัล ซึ่งเป็นอาหารหลักของประเทศ เนื่องจากประเทศเซเนกัลปลูกข้าวได้เพียงครึ่งเหนึ่งของความต้องการบริโภค ทั้งนี้ มาตรการห้ามส่งออกข้าวของอินเดียส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลางที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเพื่อชดเชยการขาดแคลนผลผลิตในประเทศ

ประธานาธิบดี Macky Sall ของเซเนกัลได้แจ้งกับที่ประชุมและผู้นำธุรกิจเพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการควบคุมอัตราเงินเฟ้อของอาหารว่า เซเนกัลต้องเปิดการเจรจากับรัฐบาลอินเดียและปากีสถานเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวหัก พร้อมทั้งเตือนว่าเซเนกัลเป็นผู้ส่งออกกรดฟอสฟอริก (phosphoric acid) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ทำให้อินเดียสามารถผลิตปุ๋ยได้และยังเสริมว่าเซเนกัลควรได้รับการยกเว้นจากมาตรการของอินเดียด้วยเหตุผลดังกล่าว

แม้ว่าปัจจุบันเซเนกัลได้ผลิตข้าวเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.2 ล้านตันต่อปี จากเมื่อปี 2550 ผลิตได้ประมาณ 200,000 ตัน แต่ยังคงต้องนำเข้าข้าวมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี เพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศซึ่งมีมากกว่า 2 ล้านตันต่อปีทั้งนี้ แอฟริกาตะวันตกต้องเผชิญกับวิกฤตอาหารที่เลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2565 โดยมีประชากรหลายล้านคนต้องหิวโหย เนื่องจากการผลผลิตที่เก็บเกี่ยวคุณภาพไม่ดีและมีความไม่มั่นคง ในขณะที่สงครามในยูเครนทำให้ภูมิภาคนี้เสี่ยงต่อการปรับขึ้นราคาอาหารและการขาดแคลนอาหารมากขึ้น

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ