สศก. เปิดผลศึกษาจัดการสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มสุกรสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิด BCG Model

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 10, 2022 15:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สศก. เปิดผลศึกษาจัดการสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มสุกรสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ด้วยแนวคิด BCG Model

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษา แนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มสุกรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยการนำผลพลอยได้จากบ่อบำบัดน้ำเสียแบบได้ก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกร ได้แก่ ก๊าซชีวภาพ กากตะกอน และน้ำเสียที่ผ่านการบำบัด กลับมาใช้ภายในฟาร์มรวมทั้งจำหน่ายสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อมุ่งยกระดับฟาร์มเลี้ยงสุกรไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางของ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) หรือการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว

ในการศึกษาครั้งนี้ สศก. ได้ทำการศึกษา เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขุนที่ได้มาตรฐานฟาร์ม GAP ที่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้ในการผลิตก๊าซชีวภาพ โดยเกษตรกรจะชำระล้างมูลสุกรผ่านท่อไปยังบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ซึ่งบ่อปิดคลุมด้วยพลาสติก ทำให้เกิดการผลิตก๊าซชีวภาพด้วยกระบวนการหมักแบบไร้ออกซิเจน ใช้ระยะเวลาในการหมักประมาณ 14-20 วัน จึงเกิดก๊าซ โดยเกษตรกรสามารถนำไปผ่านเครื่องปั่นไฟ เพื่อเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้าและนำไปใช้กับพัดลมในฟาร์มซึ่งสามารถลดต้นทุนการผลิตในส่วนของค่าพลังงานในฟาร์มลงได้ นอกจากนี้ กากตะกอนที่เหลือจากการหมัก เกษตรกรจะดูดออกมาจากบ่อและนำไปตากแดดให้แห้งและนำไปขายเป็นปุ๋ย หรือใช้เพาะปลูกพืชในฟาร์มเพื่อทดแทนปุ๋ยเคมีได้ รวมทั้งได้ศึกษากรณีการใช้ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรในระดับชุมชน ต.ท่ามะนาว อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

ซึ่ง อบต. ท่ามะนาว ได้จัดทำโครงการร่วมกับภาคีเครือข่ายจากหลาย ๆ หน่วยงานให้การสนับสนุนงบประมาณ และองค์ความรู้ในการปรับปรุงบ่อบำบัดน้ำเสียแบบผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกร ตลอดจนการวางระบบท่อก๊าซชีวภาพไปยังครัวเรือนในชุมชน โดยมีฟาร์มสุกรในชุมชนเข้าร่วม 11 ฟาร์ม เพื่อส่งก๊าซชีวภาพให้กับครัวเรือนในชุมชนใช้ทดแทนก๊าซหุงต้ม LPG จำนวน 486 ครัวเรือน โดยมีวิสาหกิจชุมชนผู้ใช้ก๊าซจากมูลสัตว์เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการและจัดเก็บค่าบริการจากการใช้ก๊าซชีวภาพของชุมชน ตลอดจนการบำรุงรักษาระบบท่อก๊าซ

นอกจากนี้ อบต.ท่ามะนาว ได้เข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งจะมีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ลดการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจากกระบวนการบำบัดน้ำเสียแบบผลิตก๊าซชีวภาพของฟาร์มสุกร และให้การรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตซึ่งสามารถนำไปจำหน่ายให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนผู้ที่สนใจจะนำไปชดเชยกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง ซึ่งตั้งแต่ปี 2559 ? 2563 สามารถขายคาร์บอนเครดิตแล้วรวมทั้งสิ้น 7,235 ตัน CO2 เป็นเงิน 1,853,234.03 บาท โดยในปี 2564 มีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 5,156 ตัน CO2 คิดเป็นมูลค่า 1,031,213 บาท โดยรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตจะนำเข้าวิสาหกิจชุมชนผู้ใช้ก๊าซจากมูลสัตว์

สำหรับกรณีศึกษาดังกล่าว สามารถนำมาเป็นต้นแบบของการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนด้านพลังงาน และเป็นแนวทางการพัฒนาการบริหารจัดการสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มสุกรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจตามแนวทางของ BCG Model ได้ โดยผลประโยชน์ 3 ด้าน คือ ทางด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในฟาร์ม ลดต้นทุนค่าก๊าซหุงต้มให้ครัวเรือนในชุมชน และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต ด้านสังคม ได้แก่ สร้างการแบ่งปันผลประโยชน์ และการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนผ่านวิสาหกิจชุมชนผู้ใช้ก๊าซ และสร้างงาน สร้างอาชีพ(ช่างชุมชน) พึ่งพาตนเองได้ และด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ลดการปล่อยน้ำเสียออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ลดกลิ่นเหม็น แมลงวัน การใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนน้ำมันและไฟฟ้าในฟาร์มลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งการใช้ก๊าซชีวภาพทดแทนก๊าซหุงต้ม LPG ในครัวเรือน เป็นต้น

นางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวเสริมว่า ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างฟาร์มสุกรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ มีการนำก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์เฉลี่ย 4,566 ลบ.ม./ฟาร์ม/ปีโดยนำมาใช้เพื่อทดแทนน้ำมันและไฟฟ้าของกิจกรรมภายในฟาร์ม ทำให้ประหยัดค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ย 63,980 บาท/ฟาร์ม/ปี อย่างไรก็ตาม ฟาร์มส่วนใหญ่มีการนำก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์ยังไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากไม่มีอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีในการจัดเก็บ และมีต้นทุนในการนำไปใช้ประโยชน์สูง ทำให้ต้องปล่อยก๊าซชีวภาพทิ้งโดยไม่เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ

ในส่วนของกรณีศึกษาการใช้ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรในระดับชุมชน ต.ท่ามะนาว อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรีพบว่า วิสาหกิจชุมชนฯ จะเก็บค่าบริการการใช้ก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม LPG ครัวเรือนละ 50 - 55 บาท/เดือน หรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 692 บาท/ปี ซึ่งช่วยให้ครัวเรือนในชุมชนสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายก๊าซหุงต้ม LPG ไปได้ครัวเรือนละ 2,806 บาท/ปี หรือลดลงร้อยละ 80.21 ทั้งนี้ อบต.ท่ามะนาวมีความมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง โดยสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และทำโครงการนำร่องให้เห็นจริงก่อนขยายผล เพื่อให้เห็นขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน มีการบูรณาการงานจากหน่วยงานต่างๆ เครือข่ายภายนอกเข้ามาช่วยพัฒนาพลังงานทดแทนในชุมชน พัฒนาอาชีพช่างชุมชนเพื่อให้สามารถบำรุงรักษาระบบส่งก๊าซในชุมชน ได้อย่างยั่งยืน สามารถพึ่งพาตนเองได้จนเกิดเป็นผลสำเร็จ สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลการสัมมนาและผลการศึกษาข้างต้น สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนวิจัยเศรษฐกิจปศุสัตว์และประมง สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร (สวศ.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร โทร. 0 2561 3448 ในวันและเวลาราชการ

******************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ