สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 7, 2022 14:30 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 31 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ๋ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2564/65 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อรักษาราคาข้าวเปลือกให้มีเสถียรภาพโดยให้มีการเก็บข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เพื่อชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2564/65โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 15,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2564/65 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 - 31 มีนาคม 2565 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2565) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,368 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,328 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.28

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,316 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,207 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.19

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,570 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,700 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.88

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 885 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,246 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 904 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,921 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.10 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 675 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,041 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 426 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,985 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 56 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,229 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 428 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,060 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.93 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 169 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 37.5665 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

กัมพูชา

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ปรับลดการคาดการณ์สำหรับผลผลิตข้าวในปีการตลาด 2565/66 (มกราคม- ธันวาคม 2566) ลงเล็กน้อยเป็น 5.933 ล้านตันข้าวสาร จากการคาดการณ์อย่างเป็นทางการของ USDA ที่ 5.94 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมที่ยืดเยื้อในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งคาดว่าน้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อการทำนาในฤดูฝนของปี 2565/66 และทำให้มีการชะลอการขยายพื้นที่ทำนาในพื้นที่ปลูกข้าวหลักทั้งนี้ ภาวะน้ำท่วมครั้งรุนแรงเริ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อนปี 2565 ทำให้การเพาะปลูกข้าวได้รับผลกระทบและผลผลิตลดลง ซึ่งส่งผลต่อพันธุ์ข้าวระยะสั้นและระยะกลางของกัมพูชา โดยมีรายงานว่า เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 22 จังหวัดจากทั้งหมด 25 จังหวัดของกัมพูชา ซี่งมากกว่าปี 2564 ที่มีเพียง 9 จังหวัด สำหรับในปี 2565 สถานการณ์น้ำท่วมมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อจนถึงเดือนธันวาคมนี้

ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวต่างคาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตทั้งหมดจะลดลงประมาณร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2564 เนื่องจากความเสียหายจากอุทกภัย และจากการประเมินอย่างต่อเนื่องของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries; MAFF) นับจนถึงช่วงกลางเดือนตุลาคม 2565 ภาวะน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 1.29 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่ได้รับความเสียหายประมาณ 0.53 ล้านไร่ ซึ่งแย่กว่าปี 2564 ถึง 3 เท่า

ภาวะน้ำท่วมที่ยืดเยื้อนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำนาในฤดูฝนในปีการตลาด 2565/66 และทำให้มีการชะลอการขยายตัวของพื้นที่เพาะปลูกตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญ เช่น Banteay Meanchey, Battambang, Kampong Thom, และ Siem Reap ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาได้แต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรคนใหม่เมื่อเดือนตุลาคม 2565 เพื่อจัดการกับปัญหาน้ำท่วม และดำเนินมาตรการในการจัดหาเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรเพื่อปลูกทดแทนเมื่อน้ำท่วมคลี่คลายลงแล้ว USDA จึงคาดการณ์ว่าพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดจะยังคงเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา

ในปีการตลาด 2564/65 (มกราคม-ธันวาคม 2565) USDA คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจากปี 2563/64 โดยคาดว่าจะมีประมาณ 5.771 ล้านตันข้าวสารด้านความต้องการบริโภคข้าว USDA ได้เพิ่มการคาดการณ์การบริโภคข้าวในปีการตลาด 2565/66 เป็น 4.398 ล้านตันข้าวสาร จากการคาดการณ์อย่างเป็นทางการของ USDA ที่ 4.2 ล้านตันข้าวสาร และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.35 ล้านตันข้าวสาร ในปีการตลาด 2564/65

ขณะที่การส่งออกข้าวในปีการตลาด 2565/66 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.49 ล้านตัน ลดลงจากการคาดการณ์อย่างเป็นทางการของ USDA ที่ประมาณ 1.6 ล้านตัน แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2564/65 ที่ระดับ 1.49 ล้านตันโดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีการตลาด 2564/65 (2565) กัมพูชาส่งออกข้าวสารแล้วจำนวน 449,361 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เนื่องจากค่าขนส่งทางเรือ (freight costs) ลดลงจากปีก่อนหน้า ขณะที่ผู้ส่งออกได้มีการใช้ประโยชน์จากการยกเลิกการใช้มาตรการป้องกัน (safeguard measures) ของสหภาพยุโรป ซึ่งได้คืนสิทธิพิเศษของกัมพูชาให้เป็นไปตามสิทธิพิเศษทางการค้า EBA ของสหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกไปสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทางด้านสถานการณ์ค่าขนส่งทางทะเล (Ocean freight costs) จากกัมพูชาไปยังสหภาพยุโรปสำหรับตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต ปรับลดลงประมาณร้อยละ 166 จากระดับ 8,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2564 ลงมาเป็น 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม 2565 ส่งผลให้การส่งออกไปยังฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 และเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4.65

นอกจากนี้ สหพันธ์ข้าวกัมพูชา (The Cambodia Rice Federation; CRF) ยังรายงานว่าในช่วง 9 เดือนของปี 2565 (มกราคม-กันยายน) มีการส่งออกข้าวเปลือกไปยังเวียดนามจำนวน 2,357,674 ตัน อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวทางการค้าอื่นๆ รายงานว่ามีการส่งออกน้อยมากที่ประมาณ 983,606 ตัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นจากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานข้าวในตลาด ประกอบกับ ค่าเงินรูปีที่แข็งค่าขึ้น โดยราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ตันละ 375-384 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตันละ 374-382 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า โดยตลาดกำลังมีความกังวลว่าผลผลิตข้าวในฤดูการผลิต Kharif ที่ใกล้เข้าสู่ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวอาจได้รับความเสียหายจากฝนที่ตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ (เช่น แคว้น Uttar Pradesh, West Bengal และ Andhra Pradesh) และอาจทำให้คุณภาพของผลผลิตข้าวที่เก็บเกี่ยวลดลงสำนักข่าว Reuters รายงานว่า รัฐบาลอินเดียจะอนุญาตให้มีการส่งออกข้าวขาวและข้าวกล้องที่ได้มีการเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต ที่ออกก่อนวันที่ 9 กันยายน 2565 ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงต้นเดือนกันยายน 2565

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 รัฐบาลได้ออกมาตรการสั่งห้ามการส่งออกข้าวหัก และกำหนดภาษีในอัตราร้อยละ 20 สำหรับการส่งออกข้าวเกรดต่างๆ ซึ่งรวมถึงข้าวขาวและข้าวกล้อง เนื่องจากรัฐบาลพยายามเพิ่มอุปทานข้าวภายในประเทศ และแก้ไขปัญหาราคาข้าวในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากในหลายพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของอินเดียมีปริมาณน้ำฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งส่งผลให้การเพาะปลูกข้าวลดลง และอาจทำให้ผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตหลักลดลงจากปี 2565 การออกมาตรการควบคุมการส่งออกดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ทำให้มีข้าวเกือบ 1 ล้านตัน ติดอยู่ที่ท่าเรือ และบางส่วนอยู่ระหว่างขั้นตอนการส่งออกก่อนที่รัฐบาลจะออกประกาศ

ทางด้าน นาย B.V. Krishna Rao ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าว (president of the Rice Exporters Association) กล่าวว่า นับเป็นความโล่งใจครั้งใหญ่ที่ผู้ส่งออกเรียกร้องมาตลอดช่วง 2 - 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งนี้ รัฐบาลได้ระบุในประกาศที่ออกเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 ว่า จะอนุญาตให้ส่งออกข้าวขาวจำนวน 600,000 ตัน ไปยังประเทศเนปาล และเมื่อเดือนตุลาคม 2565 รัฐบาลได้อนุญาตให้ส่งออกข้าวหักได้ 397,267 ตัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า อินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะสำรองข้าว โดยใช้ผลผลิตข้าวในประเทศและหลีกเลี่ยงการนำเข้า โดยรัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะจัดหาข้าวสำรองประมาณ 1.2 ล้านตัน เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายประเทศประมาณร้อยละ 3.9 ภายในสิ้นปีนี้

ปัจจุบันมีสต็อกข้าวสำรองของหน่วยงานจัดซื้ออาหารของรัฐ หรือ Bulog อยู่ที่ประมาณ 700,000 ตันโดยอินโดนีเซียจะจัดลำดับความสำคัญในการจัดหาข้าวอีก 500,000 ตัน จากผลผลิตข้าวในประเทศทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (Indonesia?s statistic office) คาดการณ์ว่า ผลผลิตข้าวสารของอินโดนีเซียในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 32.07 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.29 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 (ตุลาคม-ธันวาคม) จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 5.9 ล้านตัน

หน่วยงานอาหารแห่งชาติ (the National Food Agency or Bapanas) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดหาอาหารหลัก 11 ชนิดให้เพียงพอ ซึ่งรวมทั้ง ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง หอมแดง พริก น้ำตาลสำหรับใช้ในครัวเรือน น้ำมันปรุงอาหาร รวมทั้งเนื้อสัตว์ และปลาบางชนิดที่จัดเป็นวัตถุดิบหลักอื่นๆ ซึ่งการเก็บสำรองนี้ คาดว่าจะตอบสนองความต้องการประมาณร้อยละ 5 ของประเทศในปี 2565

ทั้งนี้ มาตรการเก็บสต็อกข้าวสำรองให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการนำเข้าจากต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อประจำปี (The annual inflation rate) ในเดือนกันยายน 2565 แตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ร้อยละ 5.95 โดยมีอัตราเงินเฟ้อด้านอาหารผันผวนที่ร้อยละ 9.02 ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ต่ำกว่าร้อยละ 5

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ