สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 28, 2022 14:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 21 - 27 พฤศจิกายน 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,227 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,804 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.18

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,269 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,242 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 29,550 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 27,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.72

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,370 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,250 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 865 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,911 บาท/ตัน)

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,795 บาท/ตัน)

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,081 บาท/ตัน)

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.1857 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 ผลผลิต 503.690 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 515.090 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2564/65 หรือลดลงร้อยละ 2.21

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือน พฤศจิกายน 2565 มีปริมาณผลผลิต 503.690 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 2.21 การใช้ในประเทศ 517.769 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.41 การส่งออก/นำเข้า 52.985 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 3.72 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 169.024 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 7.69

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา กายานา ปารากวัย เวียดนาม และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล กัมพูชา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ปากีสถาน ตุรกี อุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป กานา เม็กซิโก โมซัมบิก เนปาล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ จีน อิรัก ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ และเซเนกัล

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และไทย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประเทศที่มีมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะจากตลาดในแถบยุโรปที่มีความต้องการข้าวหอมมากขึ้น โดยราคาข้าวขาว 5% ตันละ 425-430 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า (ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564) ขณะที่วงการค้าระบุว่า ราคาข้าวมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่ระดับนี้หรืออาจจะขยับขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่จะมาถึง เนื่องจากความต้องการข้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหลัก เช่น ฟิลิปปินส์ และจีน จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ในขณะที่อุปทานข้าวในประเทศมีปริมาณจำกัดวงการค้าคาดว่า ในปี 2565 เวียดนามน่าจะส่งออกได้เกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 6.3-6.5 ล้านตัน

ขณะที่สำนักข่าว VNA รายงานว่า กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (The Ministry of Agriculture and Rural Development; MARD) ได้จัดการประชุมเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 โดยระบุว่า เวียดนามกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการส่งออกข้าว 7 ล้านตัน ในปี 2565 ในการประชุมฯ ผู้เชี่ยวชาญได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองว่า ราคาข้าวเวียดนามจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองจะผลักดันความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ส่งออกใช้โอกาสนี้ในการเข้าถึงและขยายตลาดข้าวให้มากขึ้น โดยในช่วงสองเดือนที่เหลือของปี 2565 หากปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงมากกว่า 400,000 ตันต่อเดือน จะทำให้ปริมาณการส่งออกข้าวทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 6.8-7 ล้านตัน

นาย Le Thanh Hoa รองผู้อำนวยการองค์การแปรรูปและพัฒนาตลาดเกษตร (The Agro Processing and Market Development Authority (AgroTrade)) ขอให้ภาคธุรกิจให้ความสนใจกับตลาดจีนมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่และมีแนวโน้มสำหรับผลิตผลทางการเกษตรของเวียดนาม แต่จีนได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดในการนำเข้าตั้งแต่การกักกันพืชไปจนถึงการบรรจุ การติดตามแหล่งกำเนิด และพื้นที่ปลูก

ปัจจุบันนี้ บริษัทส่งออกข้าวของเวียดนาม 22 แห่ง ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ส่งออกข้าวไปยังประเทศจีนได้ และเวียดนามได้เสนอให้จีนเพิ่มจำนวนบริษัทที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้มากขึ้น

นอกจากตลาดจีนแล้ว ตลาดสหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักรยังคงเป็นตลาดสำคัญของเวียดนามโดยทางการได้แนะนำให้ผู้ส่งออกกระชับความสัมพันธ์กับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อและหน่วยงานแปรรูปมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านเทคนิคของผู้นำเข้า ดังนั้นจึงควรใช้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และโควตาการส่งออกให้มากขึ้น

กรมศุลกากรเวียดนาม (the Customs Department) รายงานว่า ในเดือนตุลาคม 2565 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 713,546 ตัน มูลค่าประมาณ 341.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 478 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 และร้อยละ 5.9 แต่ราคาส่งออกเฉลี่ยลดลงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (เดือนตุลาคม 2564 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 618,120 ตัน มูลค่าประมาณ 321.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 520.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ) และถ้าเทียบกับเดือนกันยายน 2565 ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 และร้อยละ 23.9 ตามลำดับ และราคาส่งออกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 (เดือนกันยายน 2565 เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 583,203 ตัน มูลค่าประมาณ 275.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 472 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ตลาดสำคัญในเดือนตุลาคม 2565 ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเวียดนามส่งออกจำนวน 268,787 ตัน มูลค่าประมาณ 122.907 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.4 และร้อยละ 50.6 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565 ขณะที่ส่งออกไปยังประเทศจีนจำนวน 131,609 ตัน มูลค่าประมาณ 63.306 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.7 และร้อยละ 26.1 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2565

ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม 2565) เวียดนามส่งออกข้าวจำนวน 6,084,769 ตัน มูลค่าประมาณ 2,945.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 484.0 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 และร้อยละ 7.6 แต่ราคาส่งออกเฉลี่ยลดลงร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2564 เวียดนามส่งออกข้าวได้ 5,183,112 ตัน มูลค่าประมาณ 2,737.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ราคาส่งออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณตันละ 528.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

ตลาดสำคัญในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-ตุลาคม 2565) ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ซึ่งเวียดนามส่งออกจำนวน 2,739,698 ตัน มูลค่า 1,266.443 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.84 และร้อยละ 18.39 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 45.03 ของปริมาณส่งออกทั้งหมด และร้อยละ 43.0 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามด้วย จีน 757,575 ตัน มูลค่าประมาณ 382.676 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 18.01 และร้อยละ 16.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา คิดเป็นร้อยละ 12.45 และร้อยละ 12.99 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามลำดับ ไอวอรี่โคสต์ 588,621 ตัน มูลค่าประมาณ 264.459 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 88.43 และร้อยละ 66.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 9.67 และร้อยละ 8.98 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามลำดับ) กาน่า 393,522 ตัน มูลค่าประมาณ 206.571 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 22.86 และร้อยละ 31.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 6.47 และร้อยละ 7.01 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามลำดับ) มาเลเซีย 396,263 ตัน มูลค่าประมาณ 179.888 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.21 และร้อยละ 44.03 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 6.51 และร้อยละ 6.11 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามลำดับ) สิงคโปร์ 81,482 ตัน มูลค่าประมาณ 44.668 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 16.53 และร้อยละ 21.05 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 1.34 และร้อยละ 1.52 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามลำดับ) ฮ่องกง 58,360 ตัน มูลค่า 33.214 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 12.57 และร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 0.96 และร้อยละ 1.13 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามลำดับ) อินโดนีเซีย 56,851 ตัน มูลค่าประมาณ 27.619 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.81 และร้อยละ 4.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 0.93 และร้อยละ 0.94 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามลำดับ) โมซัมบิก 45,422 ตัน มูลค่า 24.102 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 9.22 และร้อยละ 16.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 0.75 และร้อยละ 0.82 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามลำดับ) สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ 36,526 ตัน มูลค่าประมาณ 22.652 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.07 และร้อยละ 1.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (คิดเป็นร้อยละ 0.6 และร้อยละ 0.77 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ตามลำดับ) ออสเตรเลีย 32,129 ตัน มูลค่าประมาณ 21.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.74 และร้อยละ 10.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบีย 26,181 ตัน มูลค่าประมาณ 17.177 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.12 และร้อยละ 22.28 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ 20,154 ตัน มูลค่าประมาณ 15.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 56.37 และร้อยละ 57.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา บังคลาเทศ 22,338 ตัน มูลค่าประมาณ 11.241 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณลดลงร้อยละ 58.02 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตุรกี 16,416 ตัน มูลค่าประมาณ 8.815 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,141.75 และร้อยละ 825.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ไต้หวัน 15,878 ตัน มูลค่าประมาณ 7.756 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.66 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 1.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนเธอร์แลนด์ 10,577 ตัน มูลค่าประมาณ 7.088 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 และร้อยละ 25.11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แทนซาเนีย 9,045 ตัน มูลค่าประมาณ 5.884 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.6 และร้อยละ 26.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โปแลนด์ 5,997 ตัน มูลค่าประมาณ 4.051 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณลดลงร้อยละ 1.19 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แอฟริกาใต้ 5,311 ตัน มูลค่าประมาณ 3.604 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.56 และร้อยละ 8.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา รัสเซีย 4,558 ตัน มูลค่าประมาณ 2.729 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 164.08 และร้อยละ 114.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศส 3,401 ตัน มูลค่าประมาณ 2.459 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.66 และร้อยละ 9.53 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เซเนกัล 2,358 ตัน มูลค่าประมาณ 1.391 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 356.98 และร้อยละ 334.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา สเปน 1,423 ตัน มูลค่าประมาณ 1.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 191 และร้อยละ 227.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เบลเยี่ยม 1,508 ตัน มูลค่าประมาณ 0.863 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 44.42 และร้อยละ 49.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แองโกล่า 1,092 ตัน มูลค่าประมาณ 0.608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 31.66 และร้อยละ 26.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา บรูไน 1,300 ตัน มูลค่าประมาณ 0.556 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

สำนักข่าว THE PHNOM PENH POST รายงานโดยอ้างผู้นำกลุ่มธุรกิจข้าวของกัมพูชาว่า พันธุ์ข้าวหอมผกาลำดวน (Phka Rumduol) ของกัมพูชาได้รับรางวัลข้าวที่ดีที่สุดในโลก (World?s Best Rice) เป็นครั้งที่ 5 ในการประชุมข้าวโลก TRT World Rice Conference 2022 ซึ่งจัดโดยองค์กร The Rice Trader ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565

สถาบันวิจัยและพัฒนาการเกษตรของกัมพูชา (Cambodian Agricultural Research and Development Institute) ระบุว่า ได้แจกจ่ายข้าวพันธุ์นี้ให้เกษตรกรใช้ปลูกในปี 2542 หลังจากพัฒนาและทดลองมากว่า 10 ปี โดยข้าวหอมพันธุ์ผกาลำดวนเป็นข้าวหอมเมล็ดยาวพันธุ์หนึ่งที่กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของผู้ซื้อจากต่างประเทศ และเป็นหนึ่งในพันธุ์ที่ส่งออกภายใต้เครื่องหมายรับรองอังกอร์มะลิ (Angkor Malys)

นาย Song Saran ประธานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation; CRF) และประธานบริษัท Amru Rice Cambodia จำกัด กล่าวว่า รางวัลนี้ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับอุตสาหกรรมข้าวในประเทศ และกล่าวขอบคุณทีมงานสมาพันธ์ข้าวกัมพูชา ชาวนา สมาชิกโรงสีข้าว ชุมชนเกษตรกรรม และกระทรวงเกษตรและการค้า ที่สนับสนุนการผลิตข้าวที่ดีที่สุด ทำให้กัมพูชามีส่วนร่วมในการแข่งขันและสามารถนำรางวัลชนะเลิศกลับกัมพูชา โดยก่อนหน้านี้ข้าวหอมผกาลำดวนเคยได้รับรางวัลมาแล้ว 4 ครั้ง เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2555-2557 และอีกครั้งในปี 2561 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ข้าวหอมผกาลำดวนครองอันดับสอง 3 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2558-2560

นาย Lay Chhun Hour รองประธาน CRF และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท City Rice Import Export Co Ltd ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดพระตะบอง และเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา เป็นบุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการมีส่วนร่วมของข้าวหอมผกาลำดวนในการแข่งขันปีนี้

นาย Chhun Hour มีความภาคภูมิใจอย่างยิ่งต่อบทบาทของธุรกิจข้าวกัมพูชาที่ได้รับรางวัลในปี 2565 โดยกล่าวว่า รางวัลนี้จะส่งผลให้การส่งออกเพิ่มขึ้นและเกิดประโยชน์อื่นๆ อีกมากมายสำหรับชุมชน ซึ่งการสร้างชื่อในครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมคุณภาพของข้าวกัมพูชาต่อไปและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น นาย Chhun Hour ยังระบุว่า ข้าวที่ปลูกในประเทศจะต้องผ่านการตรวจสอบด้านกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม ความชื้น และรูปร่างลักษณะของข้าวจึงจะได้รับรางวัล

ขณะที่ นาย Dith Tina รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (Minister of Agriculture, Forestry and Fisheries) ได้โพสต์ข้อความผ่าน Facebook เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 เพื่อแสดงความยินดีอย่างสุดซึ้งที่ข้าวหอมผกาลำดวนได้รับรางวัลครั้งที่ 5 ในฐานะข้าวที่ดีที่สุดในโลก โดยกล่าวว่ารางวัลเกียรติยศนี้จะนำความภาคภูมิใจมาสู่กัมพูชา

นาย Mak Chamroeun ประธานบริษัท AgriBee (Cambodia) Plc. แสดงความชื่นชมยินดีกับผลการประชุมข้าวโลกในปีนี้ โดยกล่าวว่า การได้รับรางวัลนี้จะช่วยให้ภาคการส่งออกข้าวของกัมพูชาสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้ดีขึ้น ซึ่งการคว้าชัยครั้งที่ 5 นี้ เป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่สำหรับ CRF และรัฐบาล และเป็นการเสริมชื่อเสียงของข้าวสารกัมพูชาให้เป็นตัวเลือกที่ดี

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำกรุงปักกิ่ง รายงานว่า สำนักงานศุลกากรจีนได้รายงาน ปริมาณการนำเข้าข้าวของจีนในเดือนกันยายน 2565 มีจำนวน 488,306 ตัน โดยปริมาณเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 6,601 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.37 (ปริมาณนำเข้าข้าวในเดือนสิงหาคม 2565 จำนวน 481,705 ตัน) โดยจีนนำเข้าข้าวจากแหล่งต่างๆ ดังนี้ 1. อินเดีย จำนวน 263,045 ตัน 2. ปากีสถาน จำนวน 21,065 ตัน และ 3.เวียดนาม จำนวน 71,946 ตัน

ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2565 จีนนำเข้าข้าวสาร (พิกัดสินค้า 1006) จากไทยจำนวน 59,418 ตัน มูลค่า ประมาณ 27.744 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 16 และร้อยละ 15 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีการนำเข้าจำนวน 70,627 ตัน มูลค่าประมาณ 32.785 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-กันยายน 2565) จีนนำเข้าข้าวสาร (พิกัดสินค้า 1006) จากไทยจำนวน 483,072 ตัน มูลค่าประมาณ 261.613 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 และร้อยละ 27 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีการนำเข้าจำนวน 339,177 ตัน มูลค่าประมาณ 206.789 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ