สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 5, 2022 15:06 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,684 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,227 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.11

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,158 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,269 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.20

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 29,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,490 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,370 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 856 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,033 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 865 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,911 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 878 บาทข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 456 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,999 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 442 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,795 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.17 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 204 บาทข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 461 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,174 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 450 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,081 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.44 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 93 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.0856 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย: รัฐหนุน เอกชนนำ แผนทำตลาดข้าวปี 66

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการค้าข้าวของไทยเสียแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกให้กับ ?ข้าวผกาลำดวน? ของกัมพูชา ในการจัดประกวดข้าวโลกปี 2565 ที่จังหวัดภูเก็ต

สำหรับเหตุผลที่ทำให้ไทยต้องเสียแชมป์ เพราะข้าวหอมมะลิไทยมีกลิ่นหอมน้อยกว่า ทั้งๆ ที่คุณภาพข้าวและ รสชาติดีเหมือนกัน ส่วนอันดับที่ 3 เป็นข้าวหอมจากเวียดนาม และอันดับที่ 4 เป็นข้าวหอมจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวย้อนกลับไปดูการประกวดข้าวที่ดีที่สุดในโลก ตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน รวมแล้ว14 ครั้ง ไทยคว้าแชมป์มาได้ถึง 7 ครั้ง

เริ่มจากปี 2552 ข้าวหอมมะลิไทยประเดิมคว้าแชมป์เป็นประเทศแรกในโลก

ปี 2553 ป้องกันแชมป์ไว้ได้ ปี 2554 เสียแชมป์ให้กับเมียนมา ปี 2555 กัมพูชาก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ ปี 2556 กัมพูชา เป็นแชมป์ร่วมกับสหรัฐอเมริกา ปี 2557 ไทยกลับมาเป็นแชมป์ร่วมกับกัมพูชา ปี 2558 สหรัฐอเมริกาเป็นแชมป์ ปี 2559 ไทยทวงแชมป์กลับมาได้ ปี 2560 ไทยป้องกันแชมป์ได้ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 ปี 2561 ไทยเสียแชมป์ให้กับกัมพูชา ปี 2562 เวียดนามก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ครั้งแรก ปี 2563 ไทยพลิกกลับมาเป็นแชมป์ ปี 2564 ไทยป้องกันแชมป์ได้ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 และปี 2565 ไทยเสียแชมป์ให้กับกัมพูชา

นับจนถึงตอนนี้ ไทยยังเหนือกว่าประเทศอื่นๆ เพราะเป็นแชมป์มากกว่า แต่จากการตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ พบว่าไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการเตรียมแผนการรับมือไว้ล่วงหน้านานแล้ว ปัจจุบันมียุทธศาสตร์ข้าวไทย 5 ปี ซึ่งทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2563 โดยตั้งเป้า ?ไทยเป็นผู้นำในด้านการผลิต การตลาดข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก? ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563-2567 มีพันธกิจสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการตลาดต่างประเทศ มุ่งตอบสนองความต้องการข้าวที่หลากหลาย 2) ด้านการตลาดภายในประเทศ มุ่งสร้างสมดุลการบริโภคและการผลิต 3) ด้านการผลิตมุ่งลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ และเพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่ 12 สายพันธุ์ และ 4) ด้านผลิตภัณฑ์แปรรูปและนวัตกรรมจากข้าวมุ่งการวิจัยและคิดค้นนวัตกรรมจากข้าว โดยเมื่อช่วงต้นปี 2565 ไทยพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ได้แล้ว 6 สายพันธุ์ เป็นข้าวหอม ข้าวพื้นนุ่ม และข้าวพื้นแข็ง ซึ่งไม่ปลายปีนี้ก็ต้นปีหน้าจะได้อีก 6 สายพันธุ์ จึงมั่นใจว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้

ส่วนการเสียแชมป์ข้าวที่ดีที่สุดในโลกให้กับกัมพูชา ไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกข้าวของไทย เพราะผู้ซื้อ/ผู้นำเข้ายังคงให้ความเชื่อมั่นต่อข้าวไทย ทั้งในด้านคุณภาพ มาตรฐาน การส่งมอบที่ผู้ส่งออกไทยมีชื่อเสียงในการทำธุรกิจและได้รับความเชื่อมั่น ไม่เพียงแค่นั้น กระทรวงพาณิชย์ยังมีแผนทำตลาดข้าวเพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกข้าวไทยอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดกรมการค้าต่างประเทศได้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์ข้าวไทย ปี 2566 เสร็จแล้ว

สำหรับแผนการตลาดข้าว ปี 2566 จะเน้นรูปแบบรัฐหนุนเอกชนนำ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยร่วมมือกับผู้ส่งออกข้าวจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาดข้าวไทย เพื่อรักษาขยายตลาดในกลุ่มลูกค้าเดิมและแสวงหากลุ่มลูกค้าใหม่ มีกิจกรรมที่จะดำเนินการ เช่นการกระชับความสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นกับคู่ค้าสำคัญอย่างต่อเนื่อง ผ่านระบบการประชุมทางไกลกับฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อิรัก และญี่ปุ่น เป็นต้น แผนเข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติทั้งในประเทศ เพื่อแนะนำข้าวไทย ได้แก่ Thaifex Anuga ASIA 2023 และต่างประเทศ ได้แก่ งาน Summer Fancy Food Show ณ สหรัฐอเมริกางาน GULFFOOD 2023 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ งาน FOOFEX 2023 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น งาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 20 (CAEXPO) 2023 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน และงาน Fine Food 2023 ณ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นต้น

แผนทำตลาดกลุ่มลูกค้าหลัก เช่น จีน แอฟริกาใต้ สหรัฐอเมริกา และเบนิน รวมทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมที่กลับมาสั่งซื้อข้าวไทย เช่น อิรัก เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดการประชุมข้าวนานาชาติ หรือ Thailand Rice Convention 2023 เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการค้าและเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ส่งออกข้าวและผู้นำเข้าข้าวจากทั่วโลก

จากแผนการทำตลาดที่ชัดเจนบวกกับความต้องการข้าวไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงพาณิชย์และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้ทำการประเมินร่วมกันแล้ว คาดว่าการส่งออกข้าวในปี 2566 น่าจะไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่คาดว่าจะทำได้ 7.5 ล้านตัน

ที่มา CNA online

กัมพูชา

สำนักข่าว Khmer Times รายงานโดยอ้างสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (the Cambodia Rice Federation; CRF) ว่า รัฐบาลกัมพูชาตั้งเป้าที่จะส่งออกข้าวให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านตันต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป และตั้งเป้ารายได้จากการส่งออกข้าวไว้ที่ประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี พร้อมกันนี้รัฐบาลยังตั้งเป้าการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวที่สร้างมูลค่าเพิ่ม (value-added products made from rice) อีกประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์จากข้าวประมาณ 150,000 ตัน โดยมีราคาเฉลี่ยประมาณ 7,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

ทั้งนี้ คาดว่าการเติบโตของการส่งออกข้าวจะได้รับการสนับสนุนจากการส่งออกผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวจากการรุกเข้าไปยังตลาดใหม่ รวมทั้งการฟื้นตัวของตลาดสหภาพยุโรปและตลาดจีน โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุน ผู้ประกอบการท้องถิ่นและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพื่อให้กระจายงานการผลิตผลิตภัณฑ์ข้าวที่มี มูลค่าเพิ่ม

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในระดับทรงตัวหลังจากที่สัปดาห์ก่อนราคาทรงตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน เนื่องจากมีความต้องการข้าวจากผู้ซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ตันละ 373-378 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับตันละ 373-378 ดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าผู้ส่งออกในเมือง Kakinada ในรัฐ Andhra Pradesh ทางตอนใต้ของประเทศกล่าวว่า ราคาข้าวกำลังขยับสูงขึ้น

ในประเทศผู้ส่งออกรายอื่นๆ ขณะที่ข้าวอินเดียยังคงมีราคาถูกแม้ว่าจะมีการเก็บภาษีส่งออกแล้วก็ตาม ประกอบกับขณะนี้ผู้ส่งออกมีปริมาณข้าวจำกัด เนื่องจากรัฐบาลอินเดียได้กำหนดราคาซื้อข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่จากชาวนาในระดับที่สูงขึ้นจากปีที่แล้ว โดยรัฐบาลอินเดียได้ปรับราคาข้าวเปลือกฤดูกาลใหม่ที่จะซื้อจากชาวนาขึ้นอีกประมาณร้อยละ 5.2 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวนาเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกและผลผลิต

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 กระทรวงพาณิชย์ของอินเดียได้ออกประกาศ ฉบับที่ 45/2015-2022 โดยมีสาระสำคัญ คือ รัฐบาลกำหนดให้ข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติที่เป็นข้าวอินทรีย์ (Organic non-basmati rice) รวมทั้งข้าวหักที่ไม่ใช่บาสมาติที่เป็นข้าวอินทรีย์ (Organic non-basmati broken rice) (HS Code 1006 40 00) ได้รับการยกเว้นจากมาตรการจำกัดการส่งออกที่ประกาศไปเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า หน่วยงาน Bulog ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียกำลังวางแผนที่จะนำเข้าข้าวประมาณ 500,000 ตัน ภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเพิ่มสต็อกข้าวสำรองของรัฐบาลให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้โดยหน่วยงาน Bulog ได้ตั้งเป้าที่จะจัดหาข้าวประมาณ 1.2 ล้านตัน โดยจะจัดหาข้าวจากเกษตรกรในประเทศอีกประมาณ 500,000 ตัน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างผู้บริหารระดับสูงของ Bulog ว่า หน่วยงาน Bulog ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านโลจิสติกส์ของอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะจัดหาข้าวประมาณ 1.11 ล้านตัน จากการเก็บเกี่ยวข้าวในปี 2566 ทั้งนี้ ในการรายงานต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 สำนักงานอาหารแห่งชาติ (the National Food Agency; Bapanas) ระบุว่า สต็อกข้าวของ Bulog ในเดือนพฤศจิกายน 2565 อยู่ที่ประมาณ 590,000 ตัน และอาจจะลดลงถึงระดับ 342,000 ตัน ภายในสิ้นปี 2565 หากยังไม่มีการจัดหาข้าวเข้ามาเพิ่มเติม

นาย Arief Prasetyo Adi ประธานของสำนักงานอาหารแห่งชาติ (chairman of the National Food Agency (Bapanas)) กล่าวว่า การที่มีสต็อกข้าวในระดับที่ต่ำนี้ถือว่าอันตรายมาก เพราะ Bulog จะไม่สามารถแทรกแซงตลาดได้หากราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นหรือหากมีสถานการณ์พิเศษ ซึ่ง Bulog มีหน้าที่ในการนำข้าวในสต็อกของรัฐบาลออกมาจำหน่ายในตลาดในราคาที่ต่ำ เพื่อช่วยรัฐบาลรักษาเสถียรภาพราคาข้าวในประเทศในกรณีที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ สำนักข่าว Antara News รายงานว่าสภาผู้แทนราษฎร (the House of Representatives; DPR)ได้เรียกร้องให้สำนักงานอาหารแห่งชาติ (the National Food Agency; Bapanas) ดำเนินการตามปริมาณสำรองข้าวของรัฐบาล เนื่องจากสต็อกของ Bulog มีเพียง 651,437 ตัน ต่ำกว่าที่กำหนดไว้ที่ 1.3 ล้านตัน โดยสมาชิกสภาฯ ได้ย้ำว่าการสำรองข้าวของรัฐบาลต้องเพิ่มจากผลผลิตในประเทศ ไม่ใช่จากการนำเข้า ดังนั้น Bulog จึงได้ตั้งเป้าหมายในการจัดหาข้าวจากเกษตรกรในท้องถิ่นจำนวน 1.11 ล้านตัน ในปี 2566 เพื่อให้เพียงพอกับสต็อกสำรองของรัฐบาลที่ 1.3 ล้านตัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ