สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 12, 2022 15:01 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 5 - 11 ธันวาคม 2565

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,857 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,684 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.36

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,158 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 29,550 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,490 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 834 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,904 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 856 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,033 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.57 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,129 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 460 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,942 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 456 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,999 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.88 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 57 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 465 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,115 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 461 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,174 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.87 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 59 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.6568 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เมียนมา: เมียนมาส่งออกข้าวกว่า 8.6 แสนตัน ใน 8 เดือน

สหพันธ์ข้าวเมียนมาเปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565-2566 เมียนมาส่งออกข้าวกว่า 860,410 ตัน และข้าวหักกว่า 550,597 ตัน โดยในเดือนตุลาคม 2565 ส่งออกข้าว 136,206 ตัน และเดือนพฤศจิกายน 2565 ส่งออกข้าว 179,853 ตัน

ขณะเดียวกัน ในเดือนพฤศจิกายน 2565 เมียนมาส่งออกข้าวและข้าวหักรวม 264,038 ตัน ลดลงเมื่อเทียบกับ 285,223 ตัน ในเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จัดส่งข้าวและข้าวหักทางทะเล เนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ไปยังจีน ญี่ปุ่น ประเทศในสหภาพยุโรป อินโดนีเซีย บังกลาเทศ มาเลเซีย ศรีลังกา ประเทศในแอฟริกา และประเทศในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ข้าวเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกมากที่สุดในเมียนมา ตามด้วยถั่วฝัก และถั่วพัลส์

ที่มา xinhuathai

อินเดีย: อินเดียยกเลิกห้ามส่งออกข้าวหลังบังคับใช้นานเกือบ 3 เดือน

ประกาศทางการจากกรมการค้าต่างประเทศอินเดีย (DGFT) ระบุว่ารัฐบาลอินเดียได้ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวออร์แกนิกที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ รวมถึงข้าวหักแล้ว หลังจากบังคับใช้คำสั่งดังกล่าวเมื่อเกือบ 3 เดือนที่ผ่านมาอนึ่ง กรมการค้าฯ สังกัดกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมกลางอินเดีย มีหน้าที่ควบคุมการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเป็นหลัก

โดยที่ผ่านมา อินเดียออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวเพื่อรับประกันอุปทานข้าวให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ท่ามกลางความกังวลว่าจะเผชิญปัญหาขาดแคลนข้าวหลังจากผลผลิตลดน้อยลงในช่วงเพาะปลูกฤดูหนาว อีกทั้งรัฐบาลกลางยังได้กำหนดการจัดเก็บภาษีส่งออกข้าวที่ร้อยละ 20 สำหรับสายพันธุ์ข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติ ยกเว้นข้าวนึ่ง (parboiled rice) เพื่อเพิ่มปริมาณอุปทานข้าวในประเทศด้วย อย่างไรก็ดี การประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามดังกล่าวเกิดขึ้นหลังความกังวลต่อปัญหาขาดแคลนข้าวเริ่มทุเลาลง ทั้งนี้ อินเดียออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าวเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน หลังรัฐบาลกลางพบว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวโดยรวมอาจน้อยลงกว่าปีที่แล้ว และอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวและราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งการเพาะปลูกช่วงฤดูหนาวในอินเดียเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และเก็บเกี่ยวพืชผลได้ในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

ที่มา xinhuathai

อิหร่าน: อิหร่านนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นสามเท่าตัว ในปีช่วง 7 เดือนของปี 2565

ท่ามกลางสถานการณ์การขยับตัวสูงขึ้นของราคาข้าวในตลาดอิหร่านแบบรายเดือน อันเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการขาดแคลนสินค้านับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้ภาพรวมราคาข้าวในตลาดอิหร่านขยายตัวมากกว่าร้อยละ 140 รัฐบาลอิหร่านจึงมีความจำเป็นต้องเร่งนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ รวมถึงรักษาดุลสำรองข้าวที่เริ่มลดลง ดังนั้น ในต้นปีงบประมาณ 2565 (เริ่ม 21 มีนาคม 2565) รัฐบาลอิหร่านได้ให้ภาคเอกชนเร่งจัดหาและนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเป็นการเร่งด่วน ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 พบว่า ราคาข้าวในตลาดอิหร่านเริ่มคงที่และมีการขยับตัวขึ้นลงน้อยมากจากการให้สัมภาษณ์ของประธานสหภาพผู้ขายข้าวเมืองบาบุล จังหวัดมาซันดาราน (The Union of rice sellers) ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีการปลูกข้าวและมีผลผลิตข้าวมากที่สุดของอิหร่าน พบว่า ราคาข้าวสารที่วางขายในร้านสหกรณ์ทางภาคเหนือของประเทศ มีราคาลดลงเฉลี่ยกิโลกรัมละ 200,000 เรียล

จากสถิติการนำเข้าข้าวของอิหร่าน โดยกรมศุลกากรอิหร่าน พบว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน (มีนาคม-กันยายน 2565) อิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศแล้วมูลค่า 1.481 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นปริมาณข้าวจำนวน 1.2 ล้านตัน ขณะที่ในข่วงเดียวกันของปี 2564 อิหร่านนำเข้าข้าวจากต่างประเทศมูลค่า 378,440,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นปริมาณ 437,539 ตัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จึงแสดงให้เห็นว่าอิหร่านนำเข้าข้าวในมูลค่าที่เพิ่มขึ้น 1.161 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปริมาณที่เพิ่มขึ้น 787,000 ตัน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงถึงร้อยละ 292 และร้อยละ 174 ตามลำดับ หรือคิดเป็นมูลค่าการนำเข้าที่สูงถึง 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยประเทศปากีสถานเป็นตลาดนำเข้าหลัก ปริมาณ 717,386 ตัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ปากีสถานก้าวเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดไปจากอินเดีย ซึ่งในอดีตเคยเป็นตลาดนำเข้าหลักของอิหร่านมาโดยตลอด ส่วนตลาดนำเข้าลำดับรองลงมา ได้แก่ การนำเข้าผ่านเขตการค้าเสรีของอิหร่านที่ไม่ระบุประเทศ จำนวน 289,130 ตัน ลำดับที่ 3 เป็นการนำเข้าจากอินเดีย ปริมาณ 149,246 ตัน ลำดับที่ 4 นำเข้าจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปริมาณ 38,689 ตัน และลำดับที่ 5 เป็นการนำเข้าจากไทย ปริมาณ 6,386 ตัน นอกจากนี้ อิหร่านยังนำเข้าข้าวจากประเทศอื่นๆ อีกด้วย แต่ในปริมาณที่ไม่มากนัก ทั้งนี้ อิหร่านมีพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศประมาณ 803,000 เฮกตาร์หรือประมาณ 5,018,750 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวของโลก โดยในแต่ละปีจะให้ผลผลิตข้าวเฉลี่ยที่ประมาณ 2.50-2.95 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่และสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตข้าวในอิหร่านไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ดังนั้น ในทุกๆ ปี อิหร่านจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 800,000 - 1,500,000 ตัน ตลาดนำเข้าส่วนใหญ่จะยังคงเป็นอินเดีย ปากีสถาน ไทย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอุรุกวัย โดยมีข้าวบาสมาติเป็นรายการข้าวที่นำเข้ามากที่สุด

อนึ่ง มีการประเมินว่า ในปีปัจจุบันผลผลิตข้าวในประเทศอิหร่านมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และจากปริมาณข้าวที่เพิ่มขึ้นนี้ผนวกกับรัฐบาลได้อนุญาตให้มีการนำเข้าข้าวในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต (สิงหาคม - พฤศจิกายน 2565)จึงคาดการณ์ว่าในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณนี้ อิหร่านจะมีปริมาณข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศ รวมไปถึงปริมาณข้าวในคลังสำรองของทั้งภาครัฐและเอกชนด้วย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลในการควบคุมราคาข้าวในตลาดให้ลดลงสู่ระดับปกติได้หลังจากมีการขยับตัวสูงมาโดยตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังคงพบว่า ปริมาณการนำเข้าข้าวของอิหร่านในแต่ละปีมีความไม่แน่นอนและตัวเลขไม่ชัดเจน เนื่องจากความไม่ลงรอยกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนซึ่งอ้างอิงสถิติตัวเลขของผลผลิตข้าวภายในประเทศที่แตกต่างกันออกไป ในขณะที่ภาครัฐเห็นว่าผลผลิตภายในประเทศแต่ละปีมีเพียงพอต่อความต้องการและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ ภาคเอกชนกลับมองว่าข้าวที่อิหร่านผลิตได้ในแต่ละปีไม่เคยแตะตัวเลขขั้นต่ำที่กำหนดไว้เลย ดังนั้น การนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไป และที่สำคัญเพื่อรักษาราคาข้าวในตลาดไม่ให้สูงเกินไป จึงยังคงมีความจำเป็น ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน ที่ราคาข้าวลดลงมาอยู่อัตราปกติ ซึ่งเป็นเพราะอานิสงค์ของการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศนั่นเอง ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ฟิลิปปินส์: กลุ่มเกษตรกรชาวนาฟิลิปปินส์เรียกร้องไม่ให้รัฐบาลขยายเวลาการลดภาษีนำเข้าข้าวจากนอกอาเซียน

นาย Raul Q. Montemayor ผู้จัดการสมาพันธ์เกษตรกรอิสระ (The Federation of Free Farmers: FFF) เรียกร้องประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ไม่ให้ขยายการบังคับใช้มาตรการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไป (MFN) สำหรับสินค้าข้าว เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่ลดลงไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 อดีตประธานาธิบดีโรดิโก ดูเตอร์เต ได้ลงนามในคำสั่งผู้บริหาร (Executive Order: EO) ฉบับที่ 171 ขยายระยะเวลาการปรับลดกำหนดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไป สำหรับการนำเข้าข้าวเหลือร้อยละ 35 เทียบเท่ากับอัตราภาษีนำเข้าข้าวจากประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าจากเดิมที่เรียกเก็บปริมาณในโควตาร้อยละ 40 และนอกโควตาร้อยละ 50 โดยคำสั่ง EO ดังกล่าวจะหมดอายุการบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2565 ทั้งนี้ นาย Raul Q. Montemayor กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าการนำเข้าข้าวจากปากีสถานและประเทศอื่นๆ

นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะทำให้มีราคาถูกลง เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำลง แต่ผู้บริโภคทั่วไปกลับไม่ได้รับประโยชน์ เนื่องจากการนำเข้าส่วนใหญ่เป็นข้าวเกรดพรีเมียม ซึ่งกลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับประโยชน์ คือ ผู้บริโภคข้าวบาสมาติของอินเดีย ข้าวญี่ปุ่น หรือลูกค้าของร้านอาหาร/ภัตราคารระดับ 5 ดาว ที่เสิร์ฟข้าวคุณภาพเฉพาะ อย่างไรก็ตาม

นาย Raul Q. Montemayor ยังคาดการณ์ว่าการนำเข้าข้าวจากปากีสถานอาจมีปริมาณลดลง เนื่องจากเกิดสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปากีสถาน รวมถึงประเทศอินเดียกำหนดให้มีการเรียกเก็บภาษีส่งออกข้าวในอัตราร้อยละ 20 เพื่อให้แน่ใจว่าอุปทานข้าวยังคงมีเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ ทั้งนี้ นาย Raul Q. Montemayor ได้เสนอให้รัฐบาลฟิลิปปินส์พิจารณาร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น กัมพูชา และเมียนมา เป็นต้น เพื่อพัฒนาการจัดการด้านอุปทานร่วมกัน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีการปรับอัตราภาษีศุลกากร และรัฐบาลไม่ต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีศุลกากร รวมทั้งยังช่วยปรับปรุงความสัมพันธ์ทางการค้าของฟิลิปปินส์กับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ทั้งนี้ ข้อมูลของกรมศุลกากรระบุว่า ประเทศต้องสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีกว่าครึ่งพันล้านเปโซ เนื่องจากการปรับลดภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับสินค้าข้าวจากประเทศนอกอาเซียน นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า แม้ว่าฟิลิปปินส์จะคงอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปเดิมที่ร้อยละ 50 ข้าวนำเข้าจากประเทศปากีสถานยังคงสามารถแข่งขันกับข้าวนำเข้าจากประเทศเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์

ทั้งนี้ รายงานข่าวระบุเพิ่มเติมว่า หน่วยงาน Foundation for Economic Freedom ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมาธิการด้านภาษีของฟิลิปปินส์ (Tariff Commission) เพื่อขอให้พิจารณาขยายการบังคับใช้คำสั่ง EO 171 เฉพาะการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับสินค้าเนื้อสุกร ข้าวโพด และถ่านหิน โดยระบุว่า อัตราภาษีนำเข้าที่ลดลงช่วยควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยภายใต้คำสั่ง EO ดังกล่าว ได้ปรับลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไป สินค้าเนื้อสุกรภายในโควตา MAV เหลือร้อยละ 15 จากร้อยละ 30 ในขณะที่การนำเข้าเนื้อสุกรนอกโควตาเหลือร้อยละ 25 จากร้อยละ 40 สำหรับอัตราภาษีนำเข้าข้าวโพดในโควตาปรับลดเหลือร้อยละ 5 จากร้อยละ 35 และนอกโควตาเหลือร้อยละ 15 จากร้อยละ 50 สำหรับอัตราภาษีนำเข้าถ่านหินปรับลดเป็นร้อยละ 0 จากร้อยละ 7 โดยคำสั่ง EO ดังกล่าวจะหมดอายุการบังคับใช้ภายในสิ้นปี 2565 เช่นเดียวกับสินค้าข้าว

อดีตประธานาธิบดี Duterte ได้ลงนามคำสั่ง Executive Order (EO) No.171 Serie 2022 เมื่อวันที่21 พฤษภาคม 2565 ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไป (MFN) สินค้าข้าวที่ร้อยละ 35 ออกไปจนถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2565 จากเดิมที่มีกำหนดครบอายุการบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 สำหรับสินค้าข้าว โดยมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 นอกจากนี้ ภายใต้คำสั่งฉบับเดียวกันยังได้ขยายการปรับลดภาษีนำเข้า MFN สินค้าเนื้อสุกร และปรับลดภาษีนำเข้า MFN สินค้าข้าวโพดและถ่านหินอีกด้วย เพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่มีต่อราคาและอุปทานอาหารภายในประเทศ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อของประเทศ จึงมีความจำเป็นต้องคงการลดอัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญต่างๆ รวมถึงเป็นการเพิ่มอุปทาน ขยายแหล่งนำเข้า รวมถึงการรักษาเสถียรภาพราคาเพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ

ปัจจุบันฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับภาวะอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติฟิลิปปินส์รายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุด ณ เดือนตุลาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนกันยายน 2565 ที่มีอัตราร้อยละ 6.9 และเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2564 ที่มีอัตราร้อยละ 4.0 ซึ่งถือเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 โดยปัจจัยหลักเกิดจากแรงกดดันราคาสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภค รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับการที่กลุ่มเกษตรกรฟิลิปปินส์ออกมาเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ขยายระยะเวลาการปรับลดภาษี นำเข้าทั่วไปสำหรับสินค้าจากประเทศนอกอาเซียน คาดว่าน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกข้าวของไทยไปยังตลาดฟิลิปปินส์ เนื่องจากตั้งแต่ฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราภาษีนำเข้า MFN สินค้าข้าว ซึ่งมีผลให้อัตราภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าข้าวจาก

นอกอาเซียนลดลงอยู่ในระดับเดียวกับประเทศสมาชิกอาเซียนที่ร้อยละ 35 พบว่า การนำเข้าข้าวจากประเทศนอกอาเซียนเข้ามาสามารถแข่งขันในตลาดข้าวฟิลิปปินส์ได้มากขึ้น โดยจากสถิติข้อมูลการนำเข้าข้าวของฟิลิปปินส์(Global Trade Atlas) พบว่า ในปี 2565 (เดือนมกราคม - กรกฎาคม) ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวรวม 2.80 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.36 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณนำเข้า 1.74 ล้านตัน โดยแหล่งนำเข้าข้าว 5 อันดับแรก ได้แก่ เวียดนาม (ร้อยละ 85.57) เมียนมา (ร้อยละ 6.84) ไทย (ร้อยละ 5.29) ปากีสถาน (ร้อยละ 5.21) และอินเดีย (ร้อยละ 0.72) ตามลำดับ โดยเมื่อพิจารณาการนำเข้าจากประเทศปากีสถานและอินเดียซึ่งอยู่นอกประเทศอาเซียน พบว่า การนำเข้าข้าวในช่วงเวลาดังกล่าว

จากปากีสถานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2,243 จากปริมาณ 6,219 ตัน เป็น 145,749 ตัน ในขณะที่การนำเข้าจากประเทศอินเดียมีปริมาณ 20,252 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 204.21 จากปริมาณ 6,657 ตันในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ โดยปกติราคาข้าวของปากีสถานและอินเดียมีราคาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศแหล่งผลิตข้าวอื่น รวมทั้งไทย ประกอบกับฟิลิปปินส์มีการปรับลดอัตราภาษีนำเข้า MFN จึงทำให้ข้าวจากประเทศปากีสถานและอินเดียเข้าสู่ตลาดฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น ดังนั้นหากรัฐบาลไม่ขยายเวลาการปรับลดอัตราภาษีนำเข้า MFN สินค้าข้าวออกไป คาดว่าจะทำให้มีความต้องการนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป ประกอบกับภาวะการขาดแคลนสินค้าอาหารพื้นฐานสำคัญหลายรายการรวมถึงข้าวที่ฟิลิปปินส์จำเป็นต้องนำเข้า ทั้งนี้ คงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไปว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์จะตัดสินใจอย่างไรต่อมาตรการปรับลดภาษีนำเข้าดังกล่าวที่กำลังจะหมดอายุลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2565

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ