สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 23, 2023 13:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 16 - 22 มกราคม 2566

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,383 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,132 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.91

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,680 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,593 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,650 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 883 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,898 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 873 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,926 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.15 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 28 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 523 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,116 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 511 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,931 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.35 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 185 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 520 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,018 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 514 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,031 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.17 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 13 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.7272 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนมกราคม 2566 ผลผลิต 502.968 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 514.954 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2564/65 หรือลดลงร้อยละ 2.33

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนมกราคม 2566 มีปริมาณผลผลิต 502.968 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 2.33 การใช้ในประเทศ 516.097 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.77 การส่งออก/นำเข้า 54.375 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 3.63 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 169.983 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 7.17

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา ไทย และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล กัมพูชา จีน สหภาพยุโรป อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย ตุรกี อุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหภาพยุโรป กานา เม็กซิโก เนปาล แอฟริกาใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ แองโกลา จีน ไอเวอรี่โคสต์ กินี อิรัก ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เซเนกัล ศรีลังกา และเวียดนาม
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ไทย ไนจีเรีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะการค้าข้าวเริ่มชะลอลงเพราะใกล้เข้าสู่ช่วงเทศกาลตรุษเวียดนาม (Tet) ส่งผลให้ ภาวะราคาข้าวปรับตัวลดลงเล็กน้อย หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านี้ราคาขึ้นไปแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 เนื่องจากผู้ค้าข้าวต่างเร่งหาซื้อข้าวเพื่อเตรียมไว้ส่งมอบผู้ซื้อตามสัญญาที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 445-450 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงจากระดับ 458 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในขณะนี้ราคาข้าวเวียดนามถือว่าสูงกว่าผู้ส่งออกรายอื่นๆ

วงการค้าคาดว่า ภาวะการค้าข้าวจะยังคงชะลอตัวลงในช่วงเทศกาลตรุษเวียดนาม (Tet) โดยในช่วงนี้ผู้ส่งออกกำลังมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบข้าวสำหรับสัญญาที่ลงนามไว้แล้ว ขณะที่อุปทานข้าวในประเทศมีน้อยลงหลังจากที่ในช่วงปลายปี 2565 มีการส่งมอบข้าวจำนวนมาก ขณะที่ผู้ค้ากล่าว คาดว่าการเก็บเกี่ยวในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop) ซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยวที่ใหญ่ที่สุดของปีจะเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ และจะสูงสุดตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้

ในปี 2565 เวียดนามส่งออกข้าวเกือบ 7.2 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 3.49 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีการ ส่งออกข้าวจำนวนมากไปยังตลาดที่มีความต้องการข้าวเวียดนามมากขึ้น เช่น ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (EU)

ทั้งนี้ นาย Le Minh Hoan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบท (MARD) กล่าวว่า การส่งออกที่มากขึ้น เป็นสัญญาณว่าข้าวเวียดนามมีคุณภาพดีขึ้น นับตั้งแต่การคัดเลือกพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูก และการกำหนดมาตรฐานให้ตรงตามความต้องการของแต่ละตลาด ขณะที่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ เช่น บริษัท Trung An Hi-tech Farming JSC และ บริษัท Loc Troi Group

ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาว จึงได้ร่วมมือกับเกษตรกรและสหกรณ์ในเขตที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ เพื่อให้อุปทานข้าวมีคุณภาพและมีเสถียรภาพมากขึ้น ทางด้านนาย Do Ha Nam รองประธานสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) กล่าวว่า ต้องขอบคุณข้าวในกลุ่มข้าวหอมที่ช่วยให้เวียดนามสามารถเอาชนะคู่แข่งในตลาดหลายแห่ง และมีการเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดที่มีความต้องการ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผลจากข้าวหอมและข้าวขาวคุณภาพสูง โดยหลายบริษัทได้รับคำสั่งซื้อจนถึงเดือนเมษายนหรือแม้กระทั่งไตรมาสที่ 3 ของปี 2566

ขณะที่สมาคมอาหารเวียดนาม (VFA) คาดการณ์ว่า ในปีนี้ผู้ส่งออกข้าวมีข้อได้เปรียบหลายประการจากการที่ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น และมีความต้องการข้าวจำนวนมากจากประเทศจีน ฟิลิปปินส์ และแอฟริกา โดยที่ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ได้คงภาษีนำเข้าไว้ที่อัตราร้อยละ 35 ในปีนี้ส่วนผู้นำ เข้าข้าวจากเวียดนามรายใหญ่อันดับสองคือจีน ได้ยกเลิกนโยบายปลอดโควิดและเปิดพรมแดนกับเวียดนามอีกครั้ง

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

สำนักอุตสาหกรรมพืช (the Bureau of Plant Industry; BPI) รายงานว่า ในช่วงต้นปี 2566 (ณ วันที่ 5 มกราคม 2566) ได้เริ่มมีการส่งมอบข้าวจากต่างประเทศแล้ว ซึ่งถือเป็นล็อตแรกของปี 2566 โดยมีประมาณ 12,417 ตัน เป็นข้าวจากไทย ไม่ต่ำกว่า 6,500 ตัน และจากเวียดนามประมาณ 5,917 ตัน

ขณะเดียวกันสำนักอุตสาหกรรมพืช (the Bureau of Plant Industry; BPI) รายงานว่า ในช่วงตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2565 มีการนำเข้าข้าวจำนวน 3,826,238 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 38.07 เมื่อเทียบกับจำนวน 2,771,249 ตัน ที่มีการนำเข้าทั้งปี 2564 และมากกว่าตัวเลขนำเข้าในปี 2562 (2019) ที่เคยนำเข้าข้าวสูงสุดจำนวน 3.122 ล้านตัน โดยในปี 2565 มีการนำเข้าข้าวในเดือนสิงหาคม 2565 มากถึง 433,454 ตัน ซึ่งถือเป็นตัวเลขนำเข้าต่อเดือนที่มากที่สุด

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากเวียดนามมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 83.07 มีจำนวนประมาณ 3.178 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 34.6 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.361 ล้านตัน ที่นำเข้าในปี 2564) เมียนมาจำนวน 244,738 ตัน ไทยจำนวน 183,230 ตัน ปากีสถานจำนวน 198,912 ตัน อินเดียจำนวน 10,095 ตัน จีนจำนวน9,328.385 ตัน และสิงคโปร์จำนวน 822 ตัน เกาหลีใต้ 400 ตัน ญี่ปุ่น 303 ตัน และสเปน 4.96 ตัน เป็นต้น โดยผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท NAN STU Agri Traders ซึ่งนำเข้าปริมาณ 199,540.35 ตัน ตาม ด้วยบริษัท Lucky Buy and Sell จำนวน 163,763 ตัน, บริษัท Manus Dei Resources Ent. Inc. จำนวน 154,571.28 ตัน เป็นต้น ในปี 2566 กระทรวงเกษตรสหรัฐ (the United States Department of Agriculture; USDA) คาดการณ์ว่าฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวประมาณ 3.6 ล้านตัน เนื่องจากยังคงมีการนำเข้าข้าวปริมาณมากจากเวียดนาม

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทรงตัวในระดับสูง (ซึ่งเป็นระดับราคาที่สูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือน พฤศจิกายน 2565) เนื่องจากยังคงมีความต้องการข้าวจากผู้ซื้อต่างประเทศเพิ่มขึ้น เพราะผู้ซื้อบางส่วนหันมาซื้อข้าวจากอินเดียที่มีราคาถูกกว่าข้าวไทยและเวียดนาม ขณะที่อุปทานข้าวในตลาดมีเพิ่มขึ้นจากการที่มีผลผลิตฤดูใหม่ ออกสู่ตลาด โดยราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ระดับ 375-382 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เท่ากับระดับ 375-382 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้าวขาว 5% ราคาอยู่ที่ระดับ 398-405 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 394-400 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากขึ้น แม้ว่าจะต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 20 ก็ตาม แต่ข้าวของอินเดียยังคงมีราคาถูกกว่าคู่แข่งอย่างน้อย 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

กระทรวงเกษตรฯ (the Ministry of Agriculture and Farmers? Welfare (MOAFW)) รายงานว่า ณ วันที่ 13 มกราคม 2566 เกษตรกรได้เพาะปลูกข้าวฤดูการผลิตรองหรือ Rabi crop ไปแล้วประมาณ 16.375 ล้าน ไร่ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 33.5 เมื่อเทียบกับจำนวน 12.2625 ล้านไร่ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ฤดูการผลิตรอง หรือ Rabi crop ของอินเดีย จะเริ่มการหว่านเมล็ดในช่วงเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวในเดือน มีนาคม-เมษายนของทุกปีมีรายงานว่า รัฐบาลอินเดียได้กำหนดมาตรฐานการกำกับดูแลที่ครอบคลุมสำหรับข้าวบาสมาติ (regulatory standards for basmati rice) แล้ว ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอินเดียประกาศมาตรฐานการกำกับดูแล สำหรับข้าวบาสมาติโดยหน่วยงานมาตรฐานและความปลอดภัยด้านอาหารแห่งอินเดีย (The Food Safety and Standards Authority of India; FSSAI) ได้กำหนดมาตรฐานขนาดเมล็ดข้าวเฉลี่ยที่ยอมรับได้และข้อจำกัดที่ยอมรับได้ของเมล็ดข้าวที่มีข้อบกพร่องหรือเสียหาย รวมถึงจำนวนข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ และส่วนประกอบทางธรรมชาติบางอย่าง

โดยมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงาน FSSAI จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2566 ซึ่งการกำหนดมาตรฐานข้าวในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศทั้งนี้ มาตรฐานข้าวบาสมาติโดยหน่วยงาน FSSAI ระบุไว้ว่า

  • ความยาวเฉลี่ยของเมล็ดข้าวบาสมาติที่ปรุงสุก ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้อง ข้าวสารที่สีแล้ว ข้าวนึ่ง หรือข้าวนึ่งที่สีแล้ว ควรมีความยาวเป็น 12 มิลลิเมตรขึ้นไป
  • สัดส่วนของเมล็ดพันธุ์ข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติไม่ควรเกินร้อยละ 15 โดยปริมาณ เมล็ดหักไม่ควรเกินร้อยละ 5 และเมล็ดที่เสียหายไม่ควรเกินร้อยละ 1
  • มาตรฐานยังระบุค่าที่ยอมรับได้สำหรับความชื้นของเมล็ดข้าว ปริมาณอะมิโลส และกรดยูริก (uric acid)
  • มาตรฐานยังกำหนดให้ข้าวบาสมาติต้องปราศจากการปรุงแต่งสี สารที่ใช้ในการขัดสี และกลิ่นสังเคราะห์ (artificial coloring, polishing agents, and artificial fragrances)

ทั้งนี้ ในประกาศยังระบุว่าข้าวบาสมาติเป็นข้าวคุณภาพระดับพรีเมียมและมีราคาสูงกว่าพันธุ์ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติซึ่งในปัจจุบันข้าวบาสมาติมีแนวโน้มที่จะถูกปลอมปนหลายประเภทเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งอาจรวมถึงการผสมข้าวอย่างอื่นที่ไม่เป็นไปตามประกาศ รวมถึงข้าวพันธุ์ที่ไม่ใช่บาสมาติ

ดังนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีข้าวบาสมาติที่เป็นของแท้ที่ได้มาตรฐานทั้งในตลาดภายในประเทศและตลาดส่งออก หน่วยงาน FSSAI จึงได้แจ้งเกี่ยวกับมาตรฐานการกำกับดูแลสำหรับข้าวบาสมาติไปยังหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องและผู้มีสวนได้ส่วนเสียอื่นๆด้วย

ในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคมของปีงบประมาณปัจจุบัน การส่งออกข้าวหอมบาสมาติและข้าวที่ไม่ใช่บาสมาติของอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.37 เป็นประมาณ 12.697 ล้านตัน แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในการส่งออกก็ตาม ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้วที่มีปริมาณ 11.825 ล้านตัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ