นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ของ สศท.11 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ แหล่งผลิตอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยปีเพาะปลูก 2565/66 (ข้อมูล ณ 17 มกราคม 2566) คาดว่า มีเนื้อที่เพาะปลูกทั้งจังหวัด 22,201 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 22,874 ไร่ (ลดลง 673 ไร่ หรือร้อยละ 2.94) เนื่องจากเกษตรกรที่ปลูกหอมแดงหลังพื้นที่ทำนาในอำเภอยางชุมน้อย และอำเภอราศีไศล ปีนี้ได้รับผลกระทบจากพายุโนรู น้ำในนาแห้งช้า หัวพันธุ์ที่เตรียมไว้ปลูกบางส่วนฝ่อ ส่งผลให้หัวพันธุ์ราคาแพง ขณะที่เนื้อที่เก็บเกี่ยวรวม 22,098 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 20,077 ไร่ (เพิ่มขึ้น 2,021 ไร่ หรือ ร้อยละ 10 ) เนื่องจากปีนี้เกษตรกรในพื้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากพายุเตี้ยนหมู่เหมือนปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น ด้านผลผลิตรวม 72,945 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีจำนวน 67,262 ตัน (เพิ่มขึ้น 5,683 ตัน หรือร้อยละ 8) เนื่องจากเนื้อทีเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาแปลงปลูกหอมแดงที่ดี
สำหรับปีเพาะปลูก 2565/66 ผลผลิตได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 คิดเป็นร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด และผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงกลางเดือนมกราคม - กุมภาพันธ์ 2566 ประมาณ 51,061 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด ราคาหอมแดงที่เกษตรกรขายได้ ภาพรวมมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากการเปิดตลาดจากการผ่อนคลายสถานการณ์โควิด-19 ตลาดท่าเรือมีการปรับปรุงพื้นที่ตลาดให้เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่าย จังหวัดศรีสะเกษมีการจัดงานรักโครให้หอม เป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าอีกช่องทางหนึ่งด้วย รวมทั้งตลาดต่างประเทศมีความต้องการมากขึ้น โดยราคาเฉลี่ย วันที่ 20 มกราคม 2566 หอมแดงสดแก่ (คละ) ราคา 13 - 15 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีราคา 10-12 บาท/กิโลกรัม หอมปึ่งคละ ซึ่งเป็นหอมแดงที่เก็บเกี่ยวและแขวนตากในโรงเก็บเป็นเวลาประมาณ 14 วัน ราคา 20 - 25 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีราคา 18 - 22 บาท/กิโลกรัม และหอมมัดจุกใหญ่ ราคา 27 - 33 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีราคา 25 - 30 บาท/กิโลกรัม
ด้านสถานการณ์ตลาดหอมแดง ผลผลิตเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 80) เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น พ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษ ได้แก่ ร้านสิทธิกรณ์ดีพืชผล ซึ่งเป็นผู้รวบรวมและส่งหอมแดงรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะรับซื้อหอมแดงเพื่อส่งขายลูกค้าในประเทศและต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม เป็นต้น ส่วนผลผลิตที่เหลือจำหน่ายให้กับพ่อค้าต่างจังหวัด และจังหวัดใกล้เคียง ได้แก่ อุบลราชธานี สุรินทร์ นครราชสีมา รวมถึงพ่อค้ารายย่อยในพื้นที่
ทั้งนี้ หอมแดงศรีสะเกษ เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกหอมแดงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ การจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน การแปรรูปเป็นชาชงหอมแดง ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าและบางส่วนทำเป็นหอมเจียว ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดศรีสะเกษ รวมถึงสำนักงานพาณิชย์จังหวัดศรีสะเกษ ได้รวมกันสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการผลิตการแปรรูป และช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ควรมีการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มปลูกหอมแดงอินทรีย์ในโครงการแปลงใหญ่ทำสารสมุนไพรหรือสารอินทรีย์ใช้เป็นปุ๋ยและเป็นสารควบคุมป้องกันศัตรูหอมแดงในการพัฒนาคุณภาพหอมแดง พร้อมให้การสนับสนุนพัฒนางานวิจัยทั้งในด้านพันธุ์ เทคโนโลยีการผลิต วิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว และงานวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตหอมแดง เพื่อเพิ่มช่องทางจำหน่ายให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด เกษตรกรควรหมั่นตรวจและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมเชื้อโรค และในสภาพอากาศร้อนจัด ความชื้นในอากาศน้อย รวมทั้งสภาพอากาศแปรปรวน มีฝนตกในฤดูหนาว อาจทำให้หัวและรากเน่าเสียหาย เก็บเกี่ยวไม่ได้ หรือไปเน่าเสียในช่วงเก็บรักษา หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตหอมแดงของจังหวัดศรีสะเกษ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.11 จังหวัดอุบลราชธานี โทร 045 344 654 หรืออีเมล zone11@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร