สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 20, 2023 15:25 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 13 - 19 กุมภาพันธ์ 2566

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,382 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,276 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,629 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,652 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 30,170 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,670 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,190 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.42

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 842 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,832 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 873 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,080 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.55 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 248 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 481 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,471 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละตันละ 502 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,722 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.18 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 251 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 484 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,573 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 505 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,822 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.12 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 249 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.2426 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ผลผลิต 502.976 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 514.796 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2564/65 หรือลดลงร้อยละ 2.30

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2565/66 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีปริมาณผลผลิต 502.976 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 2.30 การใช้ในประเทศ 517.184 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 0.52 การส่งออก/นำเข้า 54.165 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 3.76 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 169.133 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2564/65 ร้อยละ 7.75

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา จีน กายานา ไทย และตุรกี ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล กัมพูชา สหภาพยุโรป อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย อุรุกวัย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บราซิล สหภาพยุโรป กานา อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เนปาล แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ แองโกลา จีน ไอเวอรี่โคสต์ กินี อิหร่าน อิรัก เคนยา เม็กซิโก ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย เวียดนาม ไนจีเรีย และสหรัฐอเมริกา
2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย: ?พาณิชย์?เคาะส่วนต่างงวด 18 ชดเชย 2 ชนิดข้าว คาดราคาข้าวขึ้นหลังบาทมีเสถียรภาพและมีคำสั่งซื้อเข้ามา?พาณิชย์ เคาะส่วนต่างประกันรายได้ข้าว งวดที่ 18 กลับมาจ่ายชดเชย 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเจ้า ส่วนอีก 3 ชนิด ไม่ต้องจ่าย เหตุข้าวเปลือกหอมมะลิสิ้นสุดฤดูกาล ข้าวเปลือกปทุมธานีและข้าวเปลือกเหนียว ราคาทะลุเพดานประกัน เผยราคาข้าวปรับลดลงเล็กน้อย แต่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังค่าเงินบาทเริ่ม มีเสถียรภาพ ความต้องการซื้อข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้พิจารณาราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงและการชดเชยส่วนต่างราคาตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 งวดที่ 18 สำหรับเกษตรกรที่แจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวระหว่างวันที่ 4-10 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีการจ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 2 ชนิดข้าว ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ และข้าวเปลือกเจ้า ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิ ไม่ต้องจ่าย เพราะสิ้นสุดฤดูเก็บข้าว ข้าวเปลือกปทุมธานี และข้าวเปลือกเหนียว ไม่ต้องจ่าย เพราะราคาสูงกว่าเป้าหมาย

โดยข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาเกณฑ์กลางตันละ 13,644.35 บาท ชดเชยตันละ 355.65 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 5,690.40 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาเกณฑ์กลางตันละ 11,135.11 บาท สูงกว่าราคาประกันที่ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ราคาเกณฑ์กลางตันละ 9,993.02 บาท ชดเชยตันละ 6.98 บาท ได้รับชดเชยสูงสุดครัวเรือนละ 209.40 บาท ข้าวเปลือกเหนียว ราคาเกณฑ์กลางตันละ 12,550.07 บาท สูงกว่าราคาประกันที่ตันละ 12,000 บาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิไม่มีการคำนวณส่วนต่าง เพราะสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยวแล้ว

ทั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงภายใน 3 วันทำการ หรือภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 มีเกษตรกรได้รับชดเชยฯ งวดที่ 18 ตามข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 5,744 ครัวเรือน สำหรับราคาปุ๋ยเคมีขณะนี้ปรับลดลงมาต่อเนื่อง เช่น ปุ๋ยยูเรียลดลงร้อยละ 25 ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ที่เป็นปุ๋ยปาล์ม ลดลงถึงร้อยละ 30 เฉลี่ยในภาพรวมปุ๋ยทุกตัวลดถึงร้อยละ 13 และยังมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีก หากราคาน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติลดลง ซึ่งก๊าซธรรมชาตินำมาทำปุ๋ย ถ้าก๊าซธรรมชาติแพงปุ๋ยจะมีราคาแพง แต่ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดโครงการช่วยกลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์เป็นกรณีพิเศษหลายล็อตแล้ว ล่าสุดที่ดำเนินการ คือ จัดโครงการปุ๋ย 2,500,000 กระสอบ เปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ สามารถจับคู่ซื้อปุ๋ยจากโรงงานโดยตรง กระทรวงฯจะเป็นผู้ประสานให้ในราคาพิเศษ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดภาระราคาเรื่องปุ๋ยให้เกษตรกร นายอุดม ศรีสมทรงรองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ผู้แทนสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมค้าข้าวไทย และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยให้ข้อมูลว่า ราคาข้าวสารเริ่มปรับตัวลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง แต่ขณะนี้ถือว่าค่าเงินเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ประกอบกับตลาดข้าวพื้นแข็ง ยังคงมีความต้องการจากต่างประเทศ เนื่องจากประเทศคู่แข่งของไทย เช่น เวียดนาม ลดการปลูกข้าวขาวลง และในส่วนข้าวหอมมะลิ แม้คำสั่งซื้อมีการชะลอตัว

แต่ตลาดภายในประเทศถือว่ากระเตื้องขึ้นจากการเปิดประเทศ ทั้งนี้ กรมการค้าต่างประเทศได้แจ้งตัวเลขการขออนุญาตส่งออกถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 มีปริมาณสูงถึง 1 ล้านตัน ทำให้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยยังตั้งเป้าการส่งออกไว้ที่ 7.5 ล้านตัน

ส่วนการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างในงวดที่ 1-17 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรได้รับเงินส่วนต่างประกันรายได้แล้ว2.59 ล้านครัวเรือน จำนวน 7,846.54 ล้านบาท และการช่วยเหลือไร่ละพันบาท เกษตรกรได้รับเงินแล้วกว่า 4.62 ล้านครัวเรือน จำนวน 53,876.52 ล้านบาท สำหรับเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงิน ขอให้ติดต่อ ธ.ก.ส. สาขาใกล้บ้าน เพื่อให้ ธ.ก.ส. ตรวจสอบต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรมการค้าภายในยังได้เพิ่มการติดตามดูแลการซื้อขายข้าวเปลือก ทั้งในเรื่องของการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องชั่งน้ำหนักและเครื่องวัดความชื้น ซึ่งหากพบเห็นว่าท่าข้าวหรือโรงสีใด ไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ กดราคารับซื้อ โกงน้ำหนัก หรือมีพฤติกรรมใดๆ ที่เป็นการเอาเปรียบชาวนา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน โทร 1569

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

นาย Arief Prasetyo Adi หัวหน้าสำนักงานอาหารแห่งชาติ (the National Food Agency (NFA)) กล่าวว่า ภาวะราคาข้าวยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากยังไม่เข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวของอินโดนีเซีย ซึ่งฤดูเก็บเกี่ยวคาดว่าจะเริ่มปลายเดือนกุมภาพันธ์ ขณะเดียวกันความต้องการข้าวของอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านตันข้าวสารต่อปี ซึ่งต้องใช้ข้าวประมาณ 2.5 ล้านตันต่อเดือน

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย (Statistics Indonesia (BPS)) ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564มีข้าวส่วนเกินอยู่ประมาณ 1.30 ล้านตัน และปี 2565 มีข้าวส่วนเกินอยู่ประมาณ 1.46 ล้านราย ดังนั้น รวมแล้วในช่วงสองปีที่ผ่านมา จะมีข้าวส่วนเกินอยู่ประมาณ 2.70 ล้านตัน ซึ่งหากปริมาณการบริโภคข้าวต่อเดือนของอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 2.50 ล้านตัน ดังนั้นเมื่อมีข้าวส่วนเกินประมาณ 2.70 ล้านตัน อินโดนีเซียจะมีข้าวในสต็อกมากเกินสำหรับเวลาหนึ่งเดือน อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนข้าวเกิดขึ้นเนื่องจากสต็อกข้าวกระจายอยู่ในชุมชนต่างๆ ดังนั้น รัฐบาลต้องเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาอาหารให้มีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ผลผลิตข้าวในเดือนมกราคม 2566 ที่มีเพียง 1.51 ล้านตัน ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการข้าวรายเดือนของประเทศ

นาย Arief Prasetyo Adi กล่าวต่อว่า ในระดับโรงสีหรือชาวนาสามารถเกิดการขาดแคลนข้าวที่ยังไม่ได้สีได้ และยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น คือ การปรับต้นทุนการผลิตสำนักงานอาหารแห่งชาติมอบหมายให้หน่วยงาน Bulog (the State Logistics Agency) ทำหน้าที่ในการดูดซับผลผลิตข้าวที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้ในช่วงครึ่งปีแรก ประมาณร้อยละ 70 ของผลผลิต และอีกร้อยละ 30 ของผลผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เพื่อสร้างสต็อกข้าวสำรองให้ได้ประมาณ 2.4 ล้านตัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

Geo Politik รายงานว่า ทางการจีนได้เริ่มส่งเสริมการใช้รำข้าวเป็นอาหารหลัก ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างต่อเนื่องในประเทศ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2563 การขาดแคลนอาหารยังคงเป็นปัญหาสำคัญสำหรับชาวจีนซึ่งตามประกาศที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ทางการของจีน เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2566 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (China's National Health Commission) ระบุว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมรำข้าวเพื่อส่งเสริมการบริโภครำข้าวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปรับปรุงโภชนาการและสุขภาพของประชาชน และยังช่วยส่งเสริมการลดการสูญเสียอาหารด้วย

เว็บไซต์ยังระบุด้วยว่า แผนพัฒนาอุตสาหกรรมชนบทแห่งชาติ (2563-2568) (the National Rural Industry Development Plan) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงเกษตรและกิจการชนบท (the Ministry of Agriculture and Rural Affairs) ในปี 2563 เพื่อสนับสนุนการใช้ผลพลอยได้ (by-products) อย่างเต็มที่ เช่น แกลบ รำข้าว รำข้าวสาลี และอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อเยื่อชั้นนอกของข้าวที่ถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้รำข้าว (Oryza sativa) โดยการนำไปใช้งานหลัก2 ประการ คือ การสกัดน้ำมัน และเป็นวัตถุดิบป้อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ