ดร.ทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาอาชีพและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนประมง ในรอบปีงบประมาณ 2565 และการติดตามผลต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นการเกษตรแผนแม่บทย่อยการพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร มีกรมประมงเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการประกอบอาชีพการประมง เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน โดยจะคัดเลือกชุมชนประมงที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นด้านประมงชายฝั่ง น้ำจืด และแปรรูปกับกรมประมงก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2564
โครงการฯ ดังกล่าว นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมอาชีพประมง ก่อเกิดการสร้างรายได้และการจ้างงานในชุมชน เกิดความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมง ชุมชนเข้มแข็งและสามารถพึ่งพาตนเองได้ ดังนั้น สศก. โดยศูนย์ประเมินผล จึงได้ดำเนินการติดตามผลโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2565 พบว่า มีชุมชนประมงที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 200 ชุมชน ในพื้นที่ดำเนินการ 50 จังหวัด ครบตามเป้าหมาย ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่พัฒนาแหล่งอาศัยสัตว์น้ำ 48 ชุมชน จัดตั้งและพัฒนาธนาคารสัตว์น้ำ 18 แห่ง จัดตั้งโรงเพาะฟัก 9 แห่ง จัดสร้างอนุบาลสัตว์น้ำ 17 แห่ง จัดซื้อเครื่องมือที่เหมาะสมและถูกกฎหมาย 80 ชุมชน สนับสนุนอุปกรณ์ซ่อมแซมเครื่องมือทำการประมงและเรือ 40 ชุมชน และอบรมถ่ายทอดเทคโนโลยีและเพิ่มทักษะประมง 25 ชุมชน
สำหรับปีงบประมาณ 2566 กรมประมงกำหนดเป้าหมายชุมชนประมงที่เข้าร่วมโครงการ เพิ่มเติมอีกจำนวน 230 ชุมชน 77 จังหวัด โดยล่าสุด จากการลงพื้นที่ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ระหว่างวันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ 2566 สศก. ได้ศึกษากลุ่มตัวอย่าง คือกลุ่มทำอาชีพประมงพื้นบ้าน (ท่ามะพร้าว) ตำบลคลองพน อำเภอคลองท่อม ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ มีการก่อตั้งรวมกลุ่มเมื่อปี 2539 แต่ภายหลังต่อมา มีการทำลายป่าชายเลน สัตว์น้ำถูกทำลาย ชาวประมงมีรายได้ลดลง ดังนั้น ทางกลุ่มจึงได้เข้าร่วมโครงการฯ ในปี 2564 โดยกรมประมงได้สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์เพื่อจัดตั้งธนาคารปูม้าไข่นอกกระดอง พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ชุมชนมีจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากชาวประมงที่ออกทะเลแล้วได้ปูม้าไข่นอกกระดองจะนำมาฝากที่ธนาคารของกลุ่ม เพื่ออนุบาลและนำลูกปูปล่อยสู่ทะเล ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการธนาคารปูม้า ได้มีการปล่อยลูกปู สู่ทะเลไปแล้วประมาณ 42 ล้านตัว
ผลจากการดำเนินโครงการฯ สามารถเพิ่มปริมาณปูม้าในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ชาวประมงในชุมชนท่ามะพร้าวมีรายได้เพิ่มขึ้น รถจับปูม้าได้ เฉลี่ย 2 กิโลกรัม/เที่ยว เพิ่มขึ้นเป็น เฉลี่ย 3 กิโลกรัม/เที่ยว และมีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมเฉลี่ย 150 บาท/กิโลกรัม เพิ่มเป็น 240 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากปูที่จับได้มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมถึงราคาตลาดปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณปูที่เพิ่มขึ้น ยังช่วยรองรับคนในชุมชนที่ประกอบอาชีพอื่นและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ได้หันมาประกอบอาชีพประมงจับปูม้าเพิ่มขึ้นกว่า 100 คน ทั้งนี้ ในภาพรวม ชุมชนท่ามะพร้าวและพื้นที่ใกล้เคียง สามารถจับปูม้าเพิ่มขึ้นหลังมีธนาคารปู จากเดิมเฉลี่ยวันละ 240 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ยวันละ 400 กิโลกรัม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในชุมชนรวมมากถึง 23.04 ล้านบาท/ปี
?ธนาคารปูม้าบ้านท่ามะพร้าวเป็นหนึ่งในกิจกรรมการเพิ่มผลผลิตสัตว์ ที่ประสบความสำเร็จได้เนื่องจากความสามัคคีภายในชุมชน และได้รับการสนับสนุนจากโครงการฯ เป็นการใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน เพื่อให้ทรัพยากรปูม้าฟื้นฟูกลับสู่ความสมบูรณ์ รวมถึงปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลให้มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมทุกมิติด้านการพัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืนของท้องทะเลไทยให้คงอยู่ต่อไปในอนาคตโดยหลังจากนี้ สศก. มีแผนจะลงพื้นที่อีกครั้งระหว่างช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น และชัยภูมิ? รองเลขาธิการ สศก. กล่าว
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร