นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้ร่วมกับสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด จ.สระแก้ว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการพัฒนาฟาร์มโคนมของเกษตรกรสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมของสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด ที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 50 ฟาร์ม ให้มีการพัฒนาฟาร์มโคนม ของตนเองเป็น Smart Farm เพื่อเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพพันธุ์โคนม สร้างมูลค่าเพิ่มของน้ำนมจากการปรับปรุงคุณภาพการเลี้ยงและระบบการรีดน้ำนมดิบในระบบปิดให้เกิดความยั่งยืนของการเลี้ยงโคนม ซึ่งถือเป็นอาชีพพระราชทาน
จากที่กองทุน FTA ได้อนุมัติโครงการพัฒนาศักยภาพโคนมของสมาชิก (Smart Farm) จ.สระแก้ว โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อรองรับผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย - ออสเตรเลีย - นิวซีแลนด์ ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ปี 2557 ที่สนับสนุนงบประมาณจำนวน 77.69 ล้านบาท (ตั้งแต่ 2557 ? 2563) เป็นเงินจ่ายขาด 4.19 ล้านบาท เพื่ออบรมเกษตรกรหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงโคนม และหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อม เงินยืมปลอดดอกเบี้ย 73.50 ล้านบาท เพื่อจัดหาแม่พันธุ์โคนมสายเลือด Holstein Friesian สร้างโรงเรือนและอุปกรณ์เครื่องรีดนมโคระบบปิดแบบอัตโนมัติพร้อมแท้งค์เก็บที่มีการควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงการบริหารจัดการระบบขนถ่ายอาหารสัตว์ และระบบขนส่งน้ำนมดิบของสมาชิกไปที่สหกรณ์ฯ โดยเกษตรกรมีแผนเริ่มชำระเงินต้นปลอดดอกเบี้ย ตั้งแต่ปี 2561 ต่อมาเมื่อปี 2564 สศก. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 10 ปี (2565 ? 2574)
ในการนี้ จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยกองทุน FTA เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสระแก้ว เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของโครงการฯ พบว่า การดำเนินโครงการระยะเวลา 6 ปี เกษตรกรสมาชิกโครงการฯ ได้รับการจัดสรรโคนมเพศเมียพันธุ์ Holstein Friesian จำนวน 50 ฟาร์ม ฟาร์มละ 10 ตัว รวมทั้งสิ้น 500 ตัว ซึ่งทุกฟาร์มได้รับการสร้างโรงเรือนและระบบการรีดนมในระบบปิดที่ทันสมัย ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการเลี้ยงดูโคนมในระยะต่าง ๆ ตามหลักวิชาการ ในรูปแบบ Smart Farm ที่ถูกสุขลักษณะ เป็นไปตามมาตรฐาน GAP สามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐาน GMP มีการสร้างศูนย์ระบบสารสนเทศ ระบบการเลี้ยงโคนมของแต่ละฟาร์มที่เชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ และการสร้างระบบการผสมอาหารในรูป (Total Mixed Ration : TMR) โดยสหกรณ์ได้อบรมวิธีการใช้งาน ซึ่งขณะนี้ มีฟาร์มที่เป็นต้นแบบจำนวนมากกว่า 10 ฟาร์ม และเปิดให้เกษตรกรเลี้ยงโคนมรวมถึงผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้
นอกจากนี้ เกษตรกรสมาชิก ยังได้รับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ และระบบการขนถ่ายอาหารสัตว์เพื่อเลี้ยงโคนมจากสหกรณ์ไปยังสมาชิก และการขนส่งน้ำนมดิบจากคูลเลอร์แท้งค์ของสมาชิกมายังสหกรณ์ โดยปัจจุบัน สหกรณ์มีโรงงานผลิตอาหารโคนมสำหรับสมาชิก และมีการจัดตั้งศูนย์รับน้ำนมดิบจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์รับน้ำนมดิบ ต.วังใหม่ ตั้งอยู่ภายในสำนักงานสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด 2) ศูนย์รับน้ำนมดิบ ต. คลองหินปูน 3) ศูนย์รับน้ำนมดิบ สี่แยกไพรจิตร ต.วังใหม่ และ 4) ศูนย์รับน้ำนมดิบท่ากระบาก ต. หนองตะเคียนทอง โดยสหกรณ์ให้บริการรถขนถ่าย น้ำนมดิบจากคูลเลอร์แท้งค์ของฟาร์มสมาชิก มายังโรงรีดนมระบบปิดแบบอัตโนมัติ ตามรอบระยะเวลา ซึ่งเกษตรกรสมาชิกจะมีการรีดนม วันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้า เวลา 05.00 - 06.00 น. และ ช่วงบ่าย 14.00 - 15.00 น.
ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่ของ สศก. ครั้งนี้ ทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาของเกษตรกรสมาชิกโครงการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน ซึ่งส่งผลให้โคนมเจ็บป่วยตาย บางตัวจะแท้งลูก และมีปริมาณน้ำนมที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังประสบปัญหา ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าขนส่งน้ำนมดิบ และค่า FT ของค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรได้รับคำแนะนำและการดูแล จากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และฝ่ายส่งเสริมโคนมของสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด ผ่านหน่วยบริการด้านโคนม 14 หน่วย อีกทั้งฝ่ายส่งเสริมโคนม สัตวบาล และสัตวแพทย์ ที่คอยให้บริการควบคุมดูแล ด้านผสมเทียม การดูแลสุขภาพ และรักษาพยาบาล โคนม ตลอดจนการจัดการฟาร์ม และให้คำปรึกษาทางด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ที่สำคัญ เกษตรกรสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 50 ฟาร์ม ที่ส่งน้ำนมดิบให้สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการผลิตทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพสูง ผ่านการตรวจสอบให้ได้มาตรฐานสากลซึ่งน้ำนมดิบที่ได้จากเกษตรกรในโครงการที่ผลิตนมในรูปแบบ Smart Farm จะให้น้ำนมที่มีคุณภาพดีจากการรีดน้ำนมระบบปิดแบบอัตโนมัติ มีจำนวนจุลินทรีย์ในน้ำนมน้อยกว่า 150,000 โคโลนี/ลบ.ซม. โดยการตรวจด้วยวิธี Stand Plate Count (SPC) และมีจำนวนเม็ดเลือดขาว (Somatic Cell Count) น้อยกว่า 200,000 เซลล์/ลบ.ซม. ที่ตรวจด้วยวิธี Direct Microscope count หรือ Fluoro - opto Electronic Method ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรับซื้อน้ำนมโคเกณฑ์สูงสุด นอกจากนี้ ระบบจัดการอาหารแบบ TMR ทำให้มีปริมาณเนื้อนมไม่รวมมันเนย (SNF : Solids Not Fat) เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 8.70 และมีปริมาณไขมัน (Fat) ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 4.00 ส่งผลคุณภาพน้ำนมที่ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ผลจากการลงพื้นที่ สศก. ได้รับทราบปัญหาในเบื้องต้นและได้ร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดสระแก้ว และผู้แทนสหกรณ์วังน้ำเย็น จำกัด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมบูรณาการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ ทั้งในเรื่องการวางแผนการผลิตและการตลาด โดยกองทุน FTA พร้อมให้การสนับสนุนโครงการเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ต่าง ๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรสมาชิกเครือข่ายให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่สนใจ สามารถขอคำปรึกษาโครงการต่างๆ ได้ที่ 0 2561 4727 หรือ อีเมล fta.oae@gmail.com ซึ่ง สศก. โดยกองทุน FTA พร้อมให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมจากการเปิดเสรีทางการค้า (Free Trade Area: FTA) ด้วยการปรับโครงสร้างการผลิต ปฏิรูปผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร