สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 7, 2023 13:28 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 27 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2566

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,352 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,379 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,955 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,763 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.96

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,870 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.81

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 822 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,544 บาท/ตัน) ราคาลดลง

จากตันละ 829 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,471 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 73 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,321 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 474 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,279 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 42 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 478 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,599 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 477 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,382 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.21 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 217 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7249 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้นท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประเทศที่ยังคงมีต่อเนื่อง เพราะหลายประเทศต่างเร่งจัดหาข้าวเพื่อเก็บสต็อกไว้ ซึ่งรวมถึงประเทศจีน และอินโดนีเซีย โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 457 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 455-460 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในสัปดาห์ก่อนหน้า วงการค้าระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2566 การส่งออกข้าวไปยังประเทศในแอฟริกาและ มาเลเซียลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่การส่งออกไปยังฟิลิปปินส์และจีนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา

จากการประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมข้าวของเวียดนามเพื่อทบทวนเกี่ยวกับการส่งออกข้าวในปี 2565 และวางแผนการส่งออกในปี 2566 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (the Ministry of Industry and Trade) ได้คาดการณ์ว่าในปี 2566 เวียดนามจะส่งออกได้ประมาณ 6.5 - 7 ล้านตันข้าวสาร เนื่องจากในปีนี้มีสัญญาณที่ดีต่อการส่งออกข้าวของเวียดนาม เช่น ความต้องการนำเข้าข้าวของประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับหลายประเทศเร่งนำเข้าข้าวเพื่อเก็บสต็อกสำรองไว้ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังคงดำเนินอยู่ ขณะที่ประเทศผู้ส่งออกบางรายมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว เพื่อรักษาความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ ประกอบกับราคาข้าวของเวียดนามยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้

ทั้งนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม (the Vietnam Food Association) ระบุว่า การส่งออกข้าวยังมีแนวโน้มที่จะเติบโต ขณะที่ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงอยู่ในระดับดี โดยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 ราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ระดับ 463 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประมาณร้อยละ 16.3 โดยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคาข้าวของไทย แต่สูงกว่าราคาข้าวของอินเดียและปากีสถาน ประมาณ 20-30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน

จากข้อมูลของกรมการผลิตพืช (the Department of Crop Production) คาดว่าในปี 2566 ในเขตที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำโขงจะมีผลผลิตข้าวเปลือกประมาณ 24 ล้านตัน (ประมาณ 12 ล้านตันข้าวสาร) ซึ่งหลังจากหักลบปริมาณความต้องการบริโภคในประเทศแล้ว เวียดนามจะมีข้าวที่สามารถส่งออกได้ประมาณ 6.5 - 7 ล้านตัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการส่งออกในปีนี้ ผู้ส่งออกควรส่งเสริมการส่งเสริมการค้าในตลาดดั้งเดิม ตลาดที่มีศักยภาพ เช่น อิรัก และประเทศที่เวียดนามมีข้อตกลงทางการค้า รวมทั้งต้องมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ด้วย

อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่า แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกหลายด้าน แต่ผู้ส่งออกยังคงต้องเผชิญกับความยากลำบาก เช่น การขาดแคลนผลผลิตข้าวบางชนิด อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูง และต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เขายังให้ความเห็นว่า ธนาคารแห่งเวียดนาม (The State Bank of Vietnam) ควรจัดสรรมาตรการให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับการส่งออกข้าว และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ารวมทั้งกระทรวงและหน่วยงานอื่นๆ ต้องร่วมกันผลักดันในประเด็นดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้ กระทรวงการค้าฯ จำเป็นที่จะต้องทำงานร่วมกับทางการจีนเพื่อเพิ่มจำนวนบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ส่งออกข้าวไปยังจีน ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 22 บริษัทเท่านั้น ที่ได้รับอนุญาต

สำนักข่าว Viet Nam News รายงานโดยอ้างข้อมูลตามรายงานของบริษัทหลักทรัพย์ Vietcombank Securities Company (VCBS) ว่า การที่ต้นทุนการผลิตข้าวลดลง เนื่องจากยุโรปมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย และการจัดหาปุ๋ยที่เพิ่มขึ้น คาดว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจส่งออกข้าวรายงานระบุว่า เมื่อปีที่ผ่านมาภาวะราคาข้าวในตลาดโลกเป็นช่วงขาขึ้นเนื่องจากมาตรการห้ามส่งออกข้าวของรัฐบาลอินเดีย การเกิดน้ำท่วมครั้งรุนแรงในปากีสถาน และสภาพอากาศที่เลวร้ายในจีนและฟิลิปปินส์ ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวในประเทศเหล่านี้ลดลง ในขณะที่สินค้าคงคลังในฟิลิปปินส์ลดน้อยลง ประกอบกับคาดว่าผลผลิตข้าวจะลดลงเนื่องจากภัยแล้งที่ยืดเยื้อในจีนและอินเดีย ดังนั้นจึงคาดว่าจะส่งผลให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นในปี 2566 นี้

ขณะเดียวกัน การที่เกิดฝนตกหนักในเวียดนามเมื่อปีที่ผ่านมา และสภาพอากาศที่ค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 จึงคาดว่าผลผลิตข้าวของเวียดนามในปีนี้จะอยู่ในระดับทรงตัว ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่เวียดนามจะได้ประโยชน์จากภาวะราคาข้าวที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากภาวะอุปทานในตลาดที่จำกัด ขณะที่อินเดียยังคงมีมาตรการจำกัดการส่งออกข้าว โดยคาดว่าต้นทุนการผลิตจะลดลงในปี 2566 เนื่องจากยุโรปผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร และการส่งออกปุ๋ยของรัสเซียจะกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะทำให้อุปทานปุ๋ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้น

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

กัมพูชา

สำนักข่าว The Phnom Penh Post รายงานว่า กัมพูชาจะผลักดันให้มีการเพิ่มการส่งออกข้าวไปยังตลาดยุโรปให้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะปรับปรุงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรปด้วย

นาย Pan Sorasak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (Minister of Commerce) ได้นำเสนอแผนต่อผู้ส่งออกในการประชุมภาครัฐ-เอกชน ภายใต้เวทีเสวนาภาครัฐร่วมเอกชน Government-Private Sector Forum (G-PSF) ที่จัดขึ้นที่กระทรวงพาณิชย์เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อหารือแนวทางส่งเสริมภาคธุรกิจข้าว โดยรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของบทบาทของภาคเอกชนในการค้นหาและแบ่งปันแนวทางปฏิบัติเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของกัมพูชา รวมทั้งให้พวกเขาตั้งหลักในตลาดต่างประเทศได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสินค้าข้าวในตลาดสหภาพยุโรป

ทางด้านสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (the Cambodia Rice Federation; CRF) ซึ่งเป็นองค์กรด้านอุตสาหกรรมข้าวระดับแนวหน้าของประเทศ มีหน้าที่ดูแลด้านการผลิต ปริมาณ และราคาของข้าวสาร ตลอดจนประเมินกลไกการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกัน เพื่อการพัฒนาที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด โดยรัฐมนตรีได้แนะนำให้สหพันธ์ข้าวกัมพูชา และภาคเอกชน เพิ่มความร่วมมือกับสหภาพยุโรปและพันธมิตรที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงธุรกิจการค้าข้าว และเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการตลาด ข้อกำหนดในการส่งออก และประสบการณ์ที่สำคัญ

นาย Sok Puthyvuth ประธานกิตติมศักดิ์สหพันธ์ข้าวกัมพูชา และประธานร่วมของคณะทำงานร่วมภาคเอกชน (Private Sector Working Group I (PSWG-I)) ด้านข้าว ภายใต้ G-PSF ได้กล่าวถึงศักยภาพของการขายข้าวในต่างประเทศว่า สหพันธ์ข้าวกัมพูชา และสหภาพยุโรป ได้พัฒนาความร่วมมือที่ค่อนข้างลึกซึ้งผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูล และการให้ความร่วมมือในทุกด้านเพื่อส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภาคธุรกิจข้าวของกัมพูชา และภาวะตลาดที่เกี่ยวข้องของสหภาพยุโรป

ขณะที่ นาย Song Saran ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท Amru Rice (Cambodia) Co.,Ltd. กล่าวว่า การส่งออกข้าวไปยังสหภาพยุโรปเติบโตอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการลดภาษีนำเข้าลง โดยที่สหภาพยุโรปเป็นตลาดที่สำคัญมากสำหรับข้าวกัมพูชา เพราะทำให้มีการผลิตข้าวหอมและข้าวอินทรีย์มากขึ้น โดยเน้นที่ตลาดยุโรป และการได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีนำเข้าที่เป็นศูนย์ ยังช่วยให้ราคาข้าวหอมกัมพูชาอยู่ในระดับต่ำกว่าคู่แข่งอื่นๆ

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับสูงขึ้นท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประเทศที่ยังคงมีมาก โดยราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ระดับ 397 - 404 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เพิ่มขึ้นจากระดับ 395 - 402 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ผู้ซื้อต่างเร่งซื้อข้าวแม้ว่าราคาข้าวจะปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงต้นปี แต่ราคาข้าวในขณะนี้ของอินเดียยังคงถูกกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ

สำนักข่าว REUTERS รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวของรัฐบาลเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า อินเดียยังไม่มีแผนที่จะยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกข้าวหัก และการเก็บภาษีร้อยละ 20 สำหรับการส่งออกข้าวขาวใปต่างประเทศ เนื่องจาก อินเดียกำลังพยายามที่จะควบคุมภาวะราคาในประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2565 รัฐบาลอินเดียได้ออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวหักและเรียกเก็บภาษีร้อยละ 20 สำหรับการส่งออกข้าวขาวเกรดอื่นๆ ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับปริมาณผลผลิตข้าวที่จะลดลง เนื่องจากปริมาณ น้ำฝนในช่วงฤดูมรสุมที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรัฐที่เป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญ ซึ่งมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวดังกล่าว เท่ากับเป็นการบังคับให้ผู้ซื้อโดยเฉพาะในแถบเอเชียและแอฟริกา ต้องจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับการซื้อข้าวจากอินเดีย

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลซึ่งไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า ภายหลังจากมีมาตรการดังกล่าว การส่งออกข้าวของอินเดียไม่ได้ชะลอตัวลงแม้จะมีภาษีส่งออกร้อยละ 20 จึงเป็นเหตุผลที่น่าเชื่อว่ายังไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ ในปี 2565 ที่ผ่านมา การส่งออกข้าวของอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ 22.26 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งมากกว่าการส่งออกรวมกันของผู้ส่งออกรายใหญ่ 4 ราย รองจากอินเดีย ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน และสหรัฐอเมริกา โดยอินเดียยังไม่สามารถจะกลับมาส่งออกข้าวหักได้ ขณะที่ประเทศจีนหรือ ประเทศอื่นๆ ยังคงมีความต้องการใช้ข้าวหักเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลหรืออาหารสัตว์ เพราะอินเดียยังจำเป็นต้องใช้ข้าวหักสำหรับอุตสาหกรรมในประเทศด้วย โดยในปี 2564 ประเทศจีนเป็นผู้ซื้อข้าวหักรายใหญ่ที่สุด ของอินเดีย โดยซื้อไปประมาณ 1.1 ล้านตัน

นอกจากเหตุผลข้างต้นแล้ว การที่รัฐบาลอินเดียจะขยายมาตรการควบคุมการส่งออกข้าวออกไปอีก เนื่องจากมีความวิตกกังวลว่าในปี 2566 อาจจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (the El Nino) ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาในช่วงฤดูมรสุม ดังนั้นรัฐบาลจึงไม่ต้องการที่จะเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว แม้ว่าอินเดียจะมีสต็อกข้าวเพียงพอ แต่สต็อกข้าวสาลียังคงมีปริมาณจำกัด ซึ่งหากเกิดกรณีฉุกเฉินอินเดียสามารถนำสต็อกข้าวออกมาใช้แทนข้าวสาลีได้

สำนักข่าว the Financial Express รายงานโดยอ้างข้อมูลกระทรวงกิจการผู้บริโภคอาหาร & การเผยแพร่สาธารณะ (the Ministry of Consumer Affairs, Food & Public Distribution) ว่า ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 รัฐบาลอินเดีย ได้จัดหาข้าวเปลือกในฤดูการตลาด Kharif 2022/23 (KMS) (1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2566) ได้แล้วประมาณ 70.2 ล้านตัน (ประมาณ 47 ล้านตันข้าวสาร) เพิ่มขึ้นจากจำนวนประมาณ 68.29 ล้านตันข้าวเปลือก ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ปีการตลาด 2564/65) โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 9.6 ล้านราย ซึ่งรัฐบาลได้จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้วประมาณ 1,458,450 ล้านรูปี (ประมาณ 17.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

รัฐบาลตั้งเป้าหมายจัดหาข้าวเปลือกประมาณ 76.543 ล้านตัน ในฤดูการตลาด Kharif 2022/23 ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้าที่จัดหาได้ประมาณ 74.9 ล้านตัน และเมื่อเทียบเป็นข้าวสารเป้าหมายจะเท่ากับประมาณ 51.3 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากเป้าหมาย 50.9 ล้านตัน ในฤดูการตลาด Kharif 2021/22 โดยได้มีการคาดการณ์ว่า หน่วยงานต่างๆ มีแนวโน้มที่จะจัดหาข้าวเปลือกได้ประมาณ 77.1 ล้านตัน (ประมาณ 51.8 ล้านตันข้าวสาร) ในฤดูการตลาด Kharif 2022/23 ซึ่งการจัดหาข้าวเปลือกดำเนินการโดยองค์การอาหารแห่งชาติ (Food Corporation of India (FCI)) ของ รัฐบาลกลางและหน่วยงานของแต่ละรัฐ โดยข้าวเปลือกจะมีการจัดหาภายใต้ระบบราคาสนับสนุนขั้นต่ำ (the minimum support price; MSP) โดยตรงจากเกษตรกร (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565) และนำไปใช้เพื่อตอบสนองความต้องการภายใต้โครงการสวัสดิการต่างๆของรัฐบาล

โดยนับจนถึงปัจจุบันนี้ องค์การอาหารแห่งชาติ (FCI) มีข้าวสารในสต็อกประมาณ 20 ล้านตัน และอีก ประมาณ 27.66 ตัน ที่จะรับมาจากโรงสีข้าว ซึ่งมากกว่าความต้องการขั้นต่ำ (the buffer stock) ที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ประมาณ 13.58 ตัน (ณ วันที่ 1 เมษายน 2566) โดยองค์การอาหารแห่งชาติมีความต้องการใช้ข้าวประมาณ 40 ตันต่อปี เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้รับผลประโยชน์ภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติ (the National Food Security Act; NFSA) ซึ่งองค์การอาหารแห่งชาติจะจัดหาข้าวเพื่อแจกจ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์มากกว่า 800 ล้านคน ภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติ และโครงการสวัสดิการอื่นๆ และข้าวที่จัดหาจากรัฐที่มีธัญพืชส่วนเกินยังใช้สำหรับการเก็บรักษาสต็อกขั้นต่ำ (buffer stock) ไว้กับองค์การอาหารแห่งชาติ ด้วย

สำหรับการจัดหาข้าวเปลือกจากฤดูการผลิต rabi crop ของปี 2566 จะได้ข้อสรุปจากที่ประชุมเลขาธิการด้านอาหารที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งหากรวมการจัดหาข้าวเปลือกจากฤดูการผลิต rabi crop ด้วย รัฐบาลคาดว่าในปี 2565/66 จะมีการจัดหาข้าวเปลือกจากทั้ง 2 ฤดูการผลิตรวมประมาณ 90 ล้านตัน

ทั้งนี้ หลังจากองค์การอาหารแห่งชาติ (FCI) และหน่วยงานของรัฐได้จัดหาข้าวเปลือกจากเกษตรกรแล้ว ข้าวเปลือกนั้นจะถูกส่งต่อไปยังโรงสีเพื่อแปรรูปเป็นข้าวสาร โดยอัตราส่วนการแปรสภาพจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร กำหนดไว้ที่ร้อยละ 67 โดยในฤดูกาลปี 2563/64 รัฐบาลสามารถจัดหาข้าวได้ 60.2 ตันข้าวสาร ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ ปี 2564/65 การจัดหาข้าวลดลงเล็กน้อยที่ 59.2 ตันข้าวสารอินเดียจะมีผลผลิตข้าวเปลือก 2 ฤดู ทั้งในฤดู kharif (ฤดูร้อน) และ rabi (ฤดูหนาว) ซึ่งประมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตข้าวเปลือกทั้งหมดของประเทศจะมาจากฤดู kharif

ทางด้านสถานการณ์ข้าวสาลีนั้น สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ช่วงเดือนที่ผ่านมาราคาข้าวสาลีในอินเดียได้ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รัฐบาลอินเดียจึงระบุว่าจะจัดสรรข้าวสาลีออกสู่ตลาดเพิ่มอีก 2 ล้านตัน เพื่อทำให้ราคาสินค้าในตลาดลดลง

โดยในเดือนที่ผ่านมา การจัดสรรข้าวสาลีที่มากกว่า 3 ล้านตัน อาจช่วยทำให้ราคาจำหน่ายในตลาดลดลงจากที่ก่อนหน้านี้ราคาแพงกว่าราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ 21,250 รูปี (ประมาณ 256.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน) และทำให้อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคมสูงขึ้น ซึ่งนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศปล่อยสต็อกข้าวสาลีในตลาดเสรีเมื่อเดือนที่แล้ว ราคาข้าวสาลีก็ปรับราคาขึ้นเกือบหนึ่งในสี่

ทั้งนี้ แม้ว่าความต้องการของต่างชาติจะประสงค์ให้อินเดียส่งออกข้าวสาลีเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองต่อภาวะขาดแคลนอาหารทั่วโลก แต่อินเดียซึ่งเป็นผู้บริโภคข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก ได้สั่งห้ามการส่งออกข้าวสาลีเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565

ขณะที่บริษัทการค้าระดับโลกระบุว่า รัฐบาลอินเดียจึงพยายามลดราคาข้าวสาลีให้ต่ำลง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะสามารถซื้อข้าวสาลีจากเกษตรกรได้ในปริมาณที่เพียงพอ เนื่องจากราคาในตลาดเสรีสูงกว่าราคาซื้อของรัฐบาล เกษตรกรจะไม่ขายให้กับรัฐบาล โดยในปีที่ผ่านมา การจัดหาข้าวสาลีของรัฐลดลงประมาณร้อยละ 53 มาอยู่ที่ 18.8 ล้านตัน เนื่องจากราคาในตลาดเสรีเพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราที่รัฐบาลซื้อจากเกษตรกรในประเทศ

ขณะที่ผู้ค้าข้าวรายหนึ่งให้ความเห็นว่า รัฐทางตะวันตกเฉียงเหนือที่ปลูกข้าวสาลีกำลังเผชิญกับภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างกะทันหัน ซึ่งอาจทำให้ผลผลิตข้าวสาลีลดลงเหมือนปีที่ผ่านมา ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) ระบุว่า ในช่วงนี้บางรัฐอาจจะมีอุณหภูมิสูงสุดถึง 39 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าปกติถึง 9 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ อินเดียจะปลูกข้าวสาลีได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ซึ่งจะปลูกในช่วงเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวได้ในเดือนมีนาคมของปีถัดไป

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ