สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 13, 2023 15:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 6 - 12 มีนาคม 2566

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกร ได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,450 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,352 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,966 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,955 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,870 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.81

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 822 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,544 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 829 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,471 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 73 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,321 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 474 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,279 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 42 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 478 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,599 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 477 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,382 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.21 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 217 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7249 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย:

ครม.อนุมัติงบ 875 ล้าน ส่งเสริมการลดต้นทุนผลิตข้าว BCG Model

ครม.ไฟเขียวงบประมาณ 875 ล้านบาท อนุมัติโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนผลิตข้าวรักษ์โลก BCG Model ยกระดับมาตรฐานข้าวไทย สู่การแข่งขันในตลาดโลก เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า อนุมัติโครงการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิตข้าวรักษ์โลก BCG Model ภายใต้กรอบวงเงิน 874,832,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาปัจจัยการผลิตและเครื่องจักรกลการเกษตร ตามแผนความต้องการของศูนย์ข้าวชุมชน 292 ศูนย์ โดยมีเป้าหมาย พื้นที่ดำเนินการ 58,400 ไร่ และพื้นที่ให้บริการ 60 ล้านไร่ ด้วยการปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกข้าว เน้นการทำนาแบบประณีต คือ การใช้ระบบชีวมวล ชีวภาพ และจุลินทรีย์ที่ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ส่งเสริมการทำนาแบบยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มเกษตรกร

สำหรับพื้นที่และขอบเขตการดำเนินการพื้นที่ผลิต และกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี อยู่ในกลุ่มของศูนย์ข้าวชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว จำนวน 292 ศูนย์ ในพื้นที่ 74 จังหวัด ซึ่งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่มีความพร้อมในการดำเนินงานตามเงื่อนไขของโครงการฯ โดยดำเนินการศูนย์ละ 200 ไร่ เพื่อปลูกข้าวรักษ์โลก ซึ่งมีรูปแบบการเกษตรแบบยั่งยืน ไม่มีการเผาฟาง ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูข้าว มีการจัดการศัตรูข้าวด้วยการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรและสารชีวภัณฑ์ มีการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตรและเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ลดความเสียหายอันเกิดจากศัตรูข้าวหรือกิจกรรมการทำนา และเพิ่มศักยภาพในการผลิตข้าวคุณภาพดีปลอดสารพิษ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ส่งผลดีต่อสุขภาพและรายได้ของเกษตรกรที่จะเพิ่มขึ้น

ส่วนเงื่อนไขคุณสมบัติของศูนย์ข้าวชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ 1) เป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว ที่เสนอความต้องการขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามเงื่อนไข 2) เป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ประเภทนิติบุคคล 3) เป็นศูนย์ข้าวชุมชนที่มีความพร้อมในการผลิตข้าวคุณภาพดี ได้มาตรฐาน ลด ละ เลิกการใช้ปุ๋ยเคมี และสารเคมีในการป้องกันกำจัดศัตรูข้าว และ 4) ศูนย์ข้าวชุมชน ที่ขอรับการสนับสนุนโครงการฯต้องดำเนินโครงการและกิจกรรมที่ไม่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ๆ ภายใต้แผนงาน/โครงการ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของส่วนราชการอื่น ๆ

?รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการปรับเปลี่ยนการทำการเกษตร โดยต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ปัจจัยการผลิต เมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เกิดส่วนต่างระหว่างต้นทุน และราคาขายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีการส่งเสริมการผลิตข้าวรักษ์โลกในหลายพื้นที่แล้ว และได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี? นายอนุชากล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ส่งออกข้าวไทย เดือนมกราคม พุ่ง 8 แสนตัน หลังมีคำสั่งซื้อต่อเนื่อง โกยเงินกว่า 1.4 หมื่นล้าน

กรมการค้าต่างประเทศ เผยว่า การส่งออกข้าวไทย เดือนมกราคม 2566 พุ่งกว่า 8 แสนตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.20 มูลค่ากว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.76 เป็นผลจากการส่งมอบต่อเนื่องจากปลายปี 2565 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และยังมีความต้องการจากผู้ซื้อหลายประเทศ ทำให้มั่นใจปี 2566 ส่งออกได้ตามเป้า 7.5 ล้านตัน ชี้ผู้ส่งออกกังวลค่าบาท เหตุมีผลต่อราคา ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า เพราะไม่มีของขายทั้งที่ความต้องการสูง

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เดือนมกราคม 2566 ไทยส่งออกข้าวได้ปริมาณ 805,518 ตัน มูลค่า 14,277.39 ล้านบาท โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.20 และร้อยละ 78.76 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2565 ที่ส่งออกได้ปริมาณ 459,773 ตัน มูลค่า 7,956 ล้านบาท เป็นผลมาจากการส่งมอบที่มีต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2565 ประกอบกับช่วงปลายปีค่าเงินบาทอ่อนค่า ทำให้ราคาข้าวไทยแข่งขันกับข้าวของคู่แข่งได้ ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจำนวนมากในช่วงปลายปี

ทั้งนี้ ยังได้รับผลดีจากอินโดนีเซีย บังคลาเทศ และอิรัก รวมถึงหลายประเทศในตะวันออกกลาง มีความต้องการนำเข้าข้าวไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทั้งปี 2565 ไทยส่งออกข้าวไปตะวันออกกลางได้มากถึง 2.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากปี 2564 ที่ส่งออกได้เพียง 630,000 ตัน โดยมีอิรักนำเข้าเป็นอันดับ 1 และในปี 2566 คาดว่าการส่งออกข้าวไทยไปตะวันออกกลางยังคงเติบโตได้ ส่วนการส่งออกข้าวไทยไปทั่วโลกในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ยังต้องติดตามค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะค่าเงินบาทเป็นสิ่งที่ผู้ส่งออกกังวลมาก โดยมีผลกับราคาข้าวของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่งซึ่งในช่วงปลายปี ค่าเงินบาทอ่อนค่ามากแต่กลับมาแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นปี 2566 ทำให้ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง

โดยล่าสุด ราคาข้าวไทย FOB ข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 470 ดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนามตันละ 465 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปากีสถานตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดียตันละ 435 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนข้าวหอมมะลิไทยตันละ 825 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวหอมเวียดนามตันละ 560 ดอลลาร์สหรัฐฯ ข้าวบาสมาติอินเดียตันละ 1,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ และข้าวนึ่งไทยตันละ 475 ดอลลาร์สหรัฐฯ ปากีสถานตันละ 515 ดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดียตันละ 385 ดอลลาร์สหรัฐฯ

?คาดว่าการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2566 ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 7.5 ล้านตัน เพราะกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าทำตลาดข้าวไทยในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำข้าวไทย เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารนานาชาติที่ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย จีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยอรมนี เพื่อแนะนำข้าวไทย รวมถึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้าร่วมประมูลนำเข้าข้าวของประเทศต่างๆ ล่าสุดญี่ปุ่นเพิ่งเปิดประมูลนำเข้าข้าวขาว เกาหลีใต้ เปิดประมูลนำเข้าข้าวกล้อง ส่วนข้าวอินทรีย์ของไทย หลายประเทศให้ความสนใจ มีตลาดสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป ฮ่องกง เป็นต้น คาดว่า น่าจะส่งออกข้าวอินทรีย์ได้ใกล้เคียงกับปี 2565 ที่ประมาณ 21,000 ตัน มูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท? นายรณรงค์ กล่าว

ที่มา Commerce News Agency (CNA)

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ