สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 20, 2023 14:48 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 13 - 19 มีนาคม 2566

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,482 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,450 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,605 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,966 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.62

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,670 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.21

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 832 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,481 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้น จากตันละ 817 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,338 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.84 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 143 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 476 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,294 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 467 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,198 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.93 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 96 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 479 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,397 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 475 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,476 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 79 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.2317 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาวะราคาข้าวอยู่ในระดับทรงตัว ท่ามกลางภาวะที่อุปทานข้าวในตลาดมีมากขึ้นจากการที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิ (the winter-spring crop) ขณะที่ความต้องการข้าวจากต่างประเทศยังคงมีอยู่ โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ 440-445 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน คงที่เท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า วงการค้าระบุว่า การเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิอยู่ในช่วงที่กำลังมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุด อย่างไรก็ตาม จากการที่ความต้องการข้าวจากผู้ซื้อยังมีอย่างต่อเนื่อง จึงคาดว่าราคาข้าวของเวียดนามอาจจะไม่ลดลงมาก

สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างข้อมูลของกรมศุลกากร (the General Department of Customs) ว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีการส่งออกข้าวปริมาณ 534,607 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 48.8 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

สำนักข่าว Vietnam News Agency รายงานว่า นาย Tran Thanh Nam รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบท (The Ministry of Agriculture and Rural Developmen) เปิดเผยว่า กระทรวงฯ กำลังจัดทำร่างโครงการเพื่อพัฒนาข้าวคุณภาพสูงที่ปล่อยมลพิษต่ำ (low-emission high-quality rice) ในพื้นที่ประมาณ 6.25 ล้านไร่ของเวียดนาม ทั้งนี้ ร่างแผนพัฒนาโครงการใกล้จะเสร็จสิ้นแล้ว และกระทรวงฯ จะส่งร่างแผนพัฒนาของโครงการให้รัฐบาลพิจารณาในเดือนหน้า

ขณะนี้มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 4.375 ล้านไร่ทั่วประเทศ ได้รับการลงทะเบียนให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาล โครงการพัฒนาข้าวมลพิษต่ำเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อดำเนินการตามยุทธศาสตร์เวียดนามเพื่อการเกษตรยั่งยืนและการพัฒนาชนบทในช่วงปี 2564-2573 (Vietnam?s Strategy for Sustainable Agriculture and Rural Development in the 2021-2030) โดยมีวิสัยทัศน์ถึงปี 2593 ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายของยุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาพื้นที่สำหรับผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพ

ขณะเดียวกัน โครงการข้าวคุณภาพสูงในพื้นที่ 6.25 ล้านไร่ จะเป็นหนึ่งในความพยายามของเวียดนามที่จะบรรลุพันธกรณีการปล่อยก๊าซสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (net zero emissions by 2050) ของประเทศตามที่ให้คำมั่นไว้ในการประชุม COP 26

ทั้งนี้ โครงการนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม ซึ่งสถิติปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าการปล่อยก๊าซจากการผลิตข้าวคิดเป็นร้อยละ 40 ของการปล่อยก๊าซ ทั้งหมดจากการผลิตทางการเกษตร

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะจัดระเบียบการผลิตข้าวใหม่ โดยมีความร่วมมือเชื่อมโยงและสนับสนุนเกษตรกรเพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และรายได้ของเกษตรกร

ปัจจุบัน โมเดลการผลิตที่ปล่อยมลพิษต่ำถูกนำไปใช้กับพื้นที่ประมาณ 1.125 ล้านไร่ ทั่วเวียดนาม โดยโมเดลเหล่านั้นจะถูกรวมเข้าด้วยกันและขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้น ผลลัพธ์จากโครงการปฏิรูปเกษตรกรรมยั่งยืนของเวียดนาม (the Vietnam Sustainable Agriculture Transformation Project; VnSAT) ซึ่งเป็นโมเดลที่ประสบความสำเร็จ ได้ช่วยส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศ และจะมีการขยายผลด้วยข้อกำหนดที่สูงขึ้น นอกจากนี้ทางการจะเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ เข้าร่วมโครงการผลิตข้าวคุณภาพสูงที่ปล่อยมลพิษต่ำ เนื่องจากบริษัทเหล่านั้นก็ต้องการวัตถุดิบคุณภาพสูง

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินโดนีเซีย

สำนักข่าว VNA รายงานโดยอ้างข้อมูลการผลิตข้าวโดยประมาณสำหรับปี 2566 จากสำนักงานสถิติกลางของอินโดนีเซีย (Central Statistics Agency; BPS) คาดว่าประเทศอินโดนีเซียจะประสบปัญหาการขาดแคลนข้าวเป็นเวลา 9 เดือน

นาย Maino Dwi Hartono ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดหาอาหารและการรักษาเสถียรภาพราคาของสำนักงานอาหารแห่งชาติ (Food Supply and Price Stabilisation of the National Food Agency (Bapanas) ระบุว่า การขาดแคลนอาจเกิดขึ้นในเดือนมกราคม และช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม ขณะที่ในช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหลัก อินโดนีเซียจะมีผลผลิตส่วนเกิน

ทั้งนี้ การขาดดุลหลายเดือนในปีนี้ทำให้หน่วยงาน Bapanas กำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาระดับราคาข้าวอย่างไรก็ตาม ข้อมูลนี้เป็นเพียงข้อมูลในเบื้องต้น ซึ่งหมายความว่าข้อมูลจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกเดือนตามการปรับปรุงข้อมูลของสำนักงานสถิติกลาง (BPS)

เมื่อเดือนมกราคม 2566 ประธานาธิบดี Joko Widodo ประกาศว่าอินโดนีเซียจะยังคงนำเข้าข้าวเพื่อเป็นสต็อกสำรองของประเทศ หลังจากที่ได้มีการซื้อข้าวจากไทยและเวียดนาม จำนวน 500,000 ตัน เพื่อส่งมอบระหว่างเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยปัจจุบัน (ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566) ปริมาณสำรองข้าวของอินโดนีเซียมีประมาณ 600,000 ตัน ซึ่งต่ำกว่าความต้องการอย่างน้อย 1.2 ล้านตัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา รายงานว่า ราคาข้าวคุณภาพปานกลางในกรุง จาการ์ตาพุ่งสูงถึง 16,000 รูเปียต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของราคาขายปลีกสูงสุด (HET) ที่กระทรวงการค้ากำหนดไว้ที่ 9,450 รูเปียต่อกิโลกรัม ซึ่งจากการตรวจสอบโดยสำนักข่าว Katadata.co.id ที่ตลาด Pondok Labu ทางใต้ของกรุงจาการ์ตา เมื่อวันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ราคาข้าวคุณภาพปานกลางอยู่ที่กิโลกรัมละ 16,000 รูเปีย โดยราคาข้าวพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับสองสัปดาห์ก่อนหน้าซึ่งราคาอยู่ที่ 13,000 รูเปียต่อกิโลกรัม ขณะที่ข้าวคุณภาพต่ำราคา 11,500 รูเปียต่อกิโลกรัม โดยราคาสูงขึ้นจากเดือนก่อนซึ่งขายเพียง 8,000 รูเปียต่อกิโลกรัม

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุที่ข้าวราคาปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การแจกจ่ายข้าวยังคงเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งคลังสินค้าข้าวยังมีข้าวเพียงพอสำหรับการจัดจำหน่าย และมีการเพิ่มปริมาณข้าวในคลังสินค้าจากที่รัฐบาลมีการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ

นาย Abidzar หวังว่ารัฐบาลจะจัดการกับราคาข้าวที่เพิ่มสูงขึ้นได้ เนื่องจากลูกค้าจำนวนมากคัดค้านและแสดงความคิดเห็นเรื่องราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ขายข้าวกล่าวว่า มีกำไรเพียงเล็กน้อยเพื่อไม่ให้ราคาข้าวที่ขายแพงขึ้น โดยได้กำไรเพียงเล็กน้อย ประมาณ 800 ถึง 1,000 รูเปียต่อกิโลกรัม

นาย Zulkifli Rasyid ประธานสหกรณ์ตลาดข้าว Cipinang กล่าวว่า ราคาข้าวคุณภาพปานกลางในตลาด สูงถึง 15,000 รูเปียต่อกิโลกรัม เพราะจำนวนข้าวในคลังสินค้ามีปริมาณต่ำมาก และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาข้าวพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวคุณภาพปานกลาง เนื่องจากอุปทานข้าวจากปริมณฑลไม่ได้รวมอยู่ในตลาดข้าวกลาง Cipinang ทำให้ผู้ค้ารายอื่นประสบปัญหาในการเข้าถึงคลังสินค้าข้าว

นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านสภาพอากาศที่เลวร้าย ทำให้ชาวนาประสบปัญหาในการเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีชาวนาหลายรายที่เริ่มเก็บเกี่ยวแล้ว ทำให้เขามั่นใจว่าราคาข้าวโดยรวมทั้งคุณภาพปานกลางถึงคุณภาพเยี่ยมในเดือนมีนาคม 2566 จะปรับลดลง

ทั้งนี้ ธนาคารโลกประเมินว่า การที่ราคาข้าวของอินโดนีเซียปรับสูงขึ้นเป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลที่จำกัดการค้าผ่านภาษีนำเข้า การผูกขาดการนำเข้าโดยรัฐวิสาหกิจ และการดำเนินการอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษีรวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ การกำหนดราคาซื้อขั้นต่ำ การขาดการลงทุนระยะยาวเพื่อการวิจัยและพัฒนาภาคการเกษตร ตลอดจนการขาดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการเกษตร

เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่า จำเป็นต้องมีการนำเข้าข้าวจำนวน 500,000 ตัน เพื่อรักษาระดับปริมาณข้าวสำรองของ Bulog ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยมีการนำเข้าข้าวมาในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2566 ท่ามกลางความกังวลว่าจะทำให้ราคาข้าวในประเทศตกต่ำ เนื่องจากช่วงการนำเข้าข้าวใกล้เคียงกับช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศกำลังจะเก็บเกี่ยว

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2566 ถึงปัจจุบัน ราคาข้าวภายในประเทศอินโดนีเซียกลับมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความกังวลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นราคาที่สูงเกินปกติและส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบแอฟริกาที่ลดลง ประกอบกับค่าเงินรูปีที่อ่อนค่าลง จึงส่งผลให้ราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ระดับ 385- 390 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ลดลงจากระดับ 390-395 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาได้ปรับลดลงต่อเนื่องจากระดับประมาณ 400 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ในช่วงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ซึ่งเป็นระดับราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564

นาย Himanshu Agarwal กรรมการบริหารของ Satyam Balajee บริษัทส่งออกข้าวชั้นนำของอินเดีย กล่าวว่า จากการที่ราคาส่งออกของอินเดียปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าระวางเรือ สำหรับเรือเทกอง (break bulk vessels) ได้ส่งผลกระทบต่อความต้องการข้าวจากต่างประเทศ โดยในช่วงนี้ผู้ซื้อได้ชะลอการสั่งซื้อข้าวลง

ขณะที่แหล่งข่าวจากรัฐบาลระบุเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาว่า อินเดียไม่มีแผนที่จะยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวหัก และลดภาษีร้อยละ 20 สำหรับการส่งออกข้าวขาว เนื่องจากรัฐบาลพยายามที่จะควบคุมระดับราคาในประเทศ

สำนักข่าว The Hindu Businessline รายงานว่า ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณปัจจุบัน (เดือน เมษายน 2565-มกราคม 2566) การส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติของอินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เป็น 14.56 ล้านตัน จาก 14.01 ล้านตันเมื่อปีที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการเก็บภาษีส่งออกข้าวขาวร้อยละ 20 และห้ามส่งข้าวหักก็ตาม อย่างไรก็ตาม การที่ค่าขนส่ง (freight cost) มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงอาจจะทำให้ผู้ส่งออกได้รับผลกระทบหากประเทศผู้นำเข้าไม่ยอมรับกับราคาที่จะสูงขึ้น จากข้อมูลล่าสุดของหน่วยงานพัฒนาการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหารแปรรูป (the Agricultural and Processed Food Products Export Development Authority; APEDA) พบว่า กลุ่มข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ที่ 5.17 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (41,273 ล้านรูปี) จากระดับ 5.01 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในช่วงปีงบประมาณ 2564/2565 การส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติอยู่ที่ประมาณ 17.26 ล้านตัน มูลค่า 6.12 พันล้านเหรียญสหรัฐ (45,652.35 ล้านรูปี)

ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบัน ข้าวบาสมาติมีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 41 เป็น 3.82 พันล้านเหรียญสหรัฐ (30,514 ล้านรูปี) และมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เป็น 3.66 ล้านตัน ทำให้การส่งออกข้าวทั้งหมด (ทั้งที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติและบาสมาติ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เป็น 8.98 พันล้านเหรียญสหรัฐ (71,787 ล้านรูปี) ทางด้านผู้ส่งออกกล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลกำหนดมาตรการทางภาษีในเดือนกันยายน 2565 ซึ่งอัตราค่าขนส่งอยู่ที่ประมาณ 100-120 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน และมีแนวโน้มลดลง สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ราคาได้ลดลงเหลือประมาณ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน แต่อย่างไรก็ตาม ราคาเริ่มมีแนวโน้มปรับขึ้นอีกครั้งในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนที่ผ่านมา

นาย B.V. Krishna Rao ประธานสมาคมผู้ส่งออกข้าว (The Rice Exporters Association (TREA)) กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาประเทศผู้นำเข้าไม่รู้สึกถึงผลกระทบของภาษีส่งออก เนื่องจากในช่วงเดียวกันอัตราค่าขนส่งได้ปรับลดลง ประกอบกับทั้งโลกต่างรู้ว่าอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวที่น่าเชื่อถือสำหรับข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ และตอนนี้ยังไม่มีข้อกังวลใดๆ ซึ่งผู้ส่งออกพร้อมที่จะรอผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตหลัก (kharif crop) ที่จะออกสู่ตลาด ในเดือนตุลาคมเป็นต้นไป และกำลังตามดูว่าจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือไม่ ซึ่งผู้ส่งออกอาจจะขอให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหากการส่งออกมีแนวโน้มลดลง

นาย B.V. Krishna Rao กล่าวว่าอาจมีการประเมินอย่างยุติธรรมภายในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้เกี่ยวกับ ผลผลิตข้าวฤดูการผลิตหลัก (kharif crop) และการตัดสินใจของรัฐบาลอาจช่วยให้ผู้ส่งออกทำสัญญาใหม่สำหรับ การส่งออกตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ได้ประมาณการผลผลิตข้าวของอินเดียสำหรับปีการตลาด 2022/23 ไว้ที่ 132.0 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 6% จากเดือนที่แล้วและเพิ่มขึ้น 2% จากปี 2021 โดยคาดว่า พื้นที่เก็บเกี่ยวอยู่ที่ประมาณ 293.75 ล้านไร่ เพิ่มขึ้น 3% จากเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 2% จากปีที่แล้ว และคาดว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่จะสูงถึง 674 กิโลกัรมต่อไร่ เพิ่มขึ้น 2% จากเดือนที่แล้ว และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2021

ทั้งนี้ การเพาะปลูกในฤดู Rabi crop คิดเป็นร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูเพาะปลูก Kharif crop เนื่องจากในภาคเหนือ และภาคตะวันออกของอินเดียมีสภาพแห้งแล้ง ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกในฤดูเพาะปลูก Kharif crop ลดลงร้อยละ 1 การเพาะปลูกในฤดู Rabi crop ได้รับประโยชน์จากสภาพการเจริญเติบโตที่เหมาะสมและพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น พื้นที่เพาะปลูกในฤดู Rabi crop ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นในแคว้น Telangana (เพิ่มขึ้น 1.25 เท่า) และ West Bengal (เพิ่มขึ้นร้อยละ 32) ซึ่งเกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกได้ทันเวลาในเดือนตุลาคม ขณะที่ดินมีความชื้นดีและมีปุ๋ยเพียงพอ พืชส่วนใหญ่ได้รับน้ำจากระบบชลประทาน โดยระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีปริมาตรอย่างน้อยร้อยละ 80 ของความจุ

ทั้งนี้ ค่าดัชนีพรรณพืช (Normalized Difference Vegetation Index; NDVI) ที่ได้จากดาวเทียมบ่งชี้ว่า พืชผลเติบโตดีกว่าค่าเฉลี่ย โดยการเก็บเกี่ยวพืชผลในฤดู Rabi crop จะเริ่มในเดือนมีนาคมและสิ้นสุดในปลายเดือน เมษายนนี้

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ