นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดของ ?กลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพกระท้อนคลองน้อย? ตำบลคลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรในการผลิตกระท้อนที่มีคุณภาพ มีการบริหารจัดการกลุ่มอย่างเป็นระบบ โดยได้รับมาตรฐาน GAP ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพกระท้อนคลองน้อย เริ่มดำเนินการรวมกลุ่มเมื่อปี 2563 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 245 ไร่ สมาชิกเกษตรกร 111 ราย โดยมี นายครองลาภ พร้อมประเสริฐ ประธานแปลงใหญ่ และนายจรูญรัตน์ เทียมประทีป เป็นผู้จัดการแปลงใหญ่ ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกกระท้อนพันธุ์อีล่าและปุยฝ้าย มีจุดเด่น คือ ผลใหญ่ ทรงสวย เปลือกบาง เนื้อหนา แน่น ปุยนุ่ม ฟู และรสชาติดีหวานอมเปรี้ยวนิด ๆ หอม ต่างจากกระท้อนในพื้นที่อื่นๆ ทั้งนี้ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม ? สิงหาคมของทุกปี โดยในเดือนกรกฎาคมผลผลิตจะออกมากที่สุดร้อยละ 60 ของผลผลิตทั้งหมด และเดือนสิงหาคม ผลผลิตจะออกอีกร้อยละ 40
โดยปี 2566 กลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพกระท้อนคลองน้อย มีต้นทุนการผลิตของทั้งกลุ่มเฉลี่ย 26,000 บาท/ไร่/ปี (เริ่มให้ผลผลิตในปีที่ 3 และเก็บเกี่ยวได้จนถึง 40 ปี) ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,250 กิโลกรัม/ไร่/ปี กลุ่มได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 123,750 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยสุทธิ (กำไร) 97,750 บาท/ไร่/ปี ด้านราคาขายกระท้อนคลองน้อย ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ปี 2565 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 55 - 60 บาท/กิโลกรัม โดยแบ่งการขายตามขนาดของกระท้อน ได้แก่ เบอร์ 0 จัมโบ้ (ขนาด 700 - 1,000 กรัม) ราคา 80 บาท/กิโลกรัม , เบอร์ 1 พิเศษ (500 - 700 กรัม) ราคา 60 บาท/กิโลกรัม , เบอร์ 2 กลาง (300 - 500 กรัมขึ้นไป) ราคา 45 บาท/กิโลกรัม และ เบอร์ 3 เล็ก (ไม่ถึง 300 กรัม) ราคา 35 บาท/กิโลกรัม สำหรับการจำหน่ายผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 80 เกษตรกรจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดยตรง โดยวางขายริมถนนสาย 417 บริเวณเส้นสนามบิน สุราษฎร์ธานี - เซ็นทรัลสุราษฎร์ธานี จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ส่งจำหน่ายเซ็นทรัลพลาซ่า สุราษฎร์ธานี และตลาดชุมชน ส่วนผลผลิตอีกร้อยละ 20 จำหน่ายให้กับพ่อค้าที่เข้ามารับซื้อที่หน้าสวน ทั้งนี้ กระท้อนที่มาจากแปลงใหญ่กระท้อนคลองน้อยจะมีสติกเกอร์แปลงใหญ่กระท้อนคลองน้อยเพื่อแสดงที่อยู่แปลง รับรองคุณภาพ รับประกันผลผลิต สามารถตรวจสอบย้อนกลับยืนยันการปลูกในพื้นที่ตำบลคลองน้อย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค โดยระยะต่อไปทางกลุ่มมีแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกระท้อน เช่น การแปรรูปกระท้อนเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายหรือการทำให้กระท้อนสามารถออกผลผลิตนอกฤดูกาล เพื่อให้มีสินค้าเข้าสู่ตลาดตลอดและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งปี
สำหรับกระท้อนคลองน้อย เป็นกระท้อนที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกษตรกรในพื้นที่นิยมการปลูกแบบยกร่อง เพื่อควบคุมน้ำเข้าออกและปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมแก่การปลูกกระท้อนในพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ตาปีและคูคลองโดยรอบ สภาพพื้นที่มีน้ำตลอดทั้งปี มีสภาวะการขึ้นลงตามระดับน้ำทะเล และดินตะกอนที่เกิดจากการพัดพาของน้ำ และตกตะกอนทับถมกัน ทำให้มีความสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุธรรมชาติ สภาพดินสองน้ำ (น้ำจืดผสมน้ำกร่อย) ส่งผลให้กระท้อน มีคุณภาพและรสชาติดี หวานอร่อย เนื้อฟู นุ่ม และเพื่อเป็นการรักษาคุณภาพมาตรฐานของกระท้อนคลองน้อย เกษตรกรจะดูแลรักษาต้น ตัดหญ้าและวัชพืชไม่ปล่อยให้รกเพื่อป้องกันศัตรูพืช กระท้อนออกดอกประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงนี้ต้องให้น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ดอกมีความสมบูรณ์ และในช่วงที่ผลของกระท้อนขนาดเท่ากำมือ มีสีเขียวเข้มเกษตรกรจะห่อผลกระท้อนเพื่อป้องกันแมลงมาเจาะผลช่วยให้ผิวของผลสวยไม่มีตำหนิจำหน่ายได้ราคา ทั้งนี้ กลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพกระท้อนคลองน้อย ได้ขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับรองแปลง หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตกระท้อนคลองน้อยของกลุ่มแปลงใหญ่วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพกระท้อนคลองน้อย ติดต่อสอบถามได้ที่ นายจรูญรัตน์ เทียมประทีป โทร 09 6330 6162 หรือ Facebook : กลุ่มวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพกระท้อนคลองน้อย หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร