นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน ในช่วงรอยต่อฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน รวมถึงจากการเผาในที่โล่ง ในพื้นที่ป่า และพื้นที่การเกษตร ทั้งพื้นที่ทำนา พื้นที่ปลูกอ้อย และพื้นที่ปลูกข้าวโพด รวมทั้งพื้นที่บนที่สูงทางภาคเหนือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะที่รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร วางแผนและดำเนินการป้องกัน และแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง ในปีงบประมาณ 2566 มีการดำเนินงานผ่านแผนงานยุทธศาสตร์การจัดการมลพิษและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทประเด็นที่ 18 การเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 33.81 ล้านบาท สำหรับดำเนินการ 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (กรมพัฒนาที่ดิน) โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2566 รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร (กรมส่งเสริมการเกษตร) และ โครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน (สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม)
ในการนี้ สศก. ได้มีการติดตามผลการดำเนินโครงการทั้ง 3 โครงการ (1 ตุลาคม 2565 ? 28 กุมภาพันธ์ 2566) พบว่า โครงการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในปี 2566 มีเป้าหมายในพื้นที่ 26,842 ไร่ ครอบคลุม 9 จังหวัดภาคเหนือ ขณะนี้ได้ดำเนินการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวม 18,017 ไร่ (ร้อยละ 67.12 ของเป้าหมาย) อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการบริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรตามหลักวิชาการเพื่อนำมาผลิตปุ๋ยหมัก ปรับปรุงบำรุงดิน อนุรักษ์ดิน และน้ำให้สามารถใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และสร้างแรงจูงใจในการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เองในแปลง
โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี 2566 รวมทั้งสร้างต้นแบบในการทำการเกษตรปลอดการเผาเพื่อสนับสนุนการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร มีเป้าหมายอบรมเกษตรกร จำนวน 17,640 ราย สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผาเพื่อสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร รวม 337 เครือข่าย ในพื้นที่ 62 จังหวัด ขณะนี้ มีการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกร ให้สามารถเป็นวิทยากรด้านการทำการเกษตรปลอดการเผา และส่งเสริมให้มีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรทดแทนการเผาทำลายแล้วรวม 10,022 ราย (ร้อยละ 56.81 ของเป้าหมาย)
โครงการเฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 44 จังหวัด เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จำนวน 1,000 ราย โดยดำเนินการเฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตร ด้วยการ รณรงค์ ให้ความรู้ ความเข้าใจในผลกระทบของการเผาทำลายพื้นที่เกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยเกษตรกรจะต้องผ่านการอบรม 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรแนวทางการเฝ้าระวังการเผาไหม้ในเขตปฏิรูปที่ดิน และหลักสูตรการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า และยังเน้นสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ นำฟางข้าวอัดก้อนเป็นอาหารสัตว์หรือเป็นวัสดุเพาะเห็ด ประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์จากเปลือกข้าวโพด
นอกจากนี้ สศก. ยังได้ลงพื้นที่สำรวจเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 4 มีนาคม 2566 ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ตาก และลำปาง เกษตรกรตัวอย่าง 37 ราย พบว่า โครงการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดลำพูนและตาก ได้เข้าไปดำเนินการไถกลบในพื้นที่นาข้าวและพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในปี 2566 จำนวน 4,499 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 75.42 ของเป้าหมาย 5,965 ไร่ และจากการพูดคุยสอบถามเกษตรกร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายเดิมที่เข้าร่วมโครงการเมื่อปี 2565 ได้บอกเล่าว่า ในปีที่ผ่านมาจากการไถกลบตอซังฟางข้าว ข้าวโพด และเศษวัสดุทางการเกษตร ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ คุณภาพดินดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายการเตรียมดิน (ไถกลบ) 300 บาทต่อไร่ ซึ่งโครงการเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการไถกลบให้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และยังช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดี ได้รับผลผลิตสูงขึ้น นอกจากนี้ ได้นำเศษตอซังฟางข้าวหรือเศษวัสดุการเกษตรอื่น ๆ ที่เหลือทิ้งในแปลงเพาะปลูกมาทำปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยหมักใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ทำให้ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเฉลี่ย 674 บาทต่อไร่
ด้านโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่เกษตร จังหวัดลำพูน ปี 2566 มีการดำเนินการอบรมถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาศักยภาพเกษตรกรเกษตรกรให้สามารถเป็นวิทยากรด้านการทำการเกษตรปลอดการเผา 4 ครั้ง ทำปุ๋ยจากเศษวัสดุทางการเกษตร และการสาธิตเทคโนโลยีการจัดการเศษวัสดุการเกษตรทดแทนการเผา 1 ครั้ง ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในปี 2565 มีการรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษวัสดุทางการเกษตร ช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยเฉลี่ย 936 บาทต่อไร่ และมีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปสร้างมูลค่า โดยผลิตใช้ในแปลงของตนเอง อาทิ ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เฉลี่ย 807 กิโลกรัมต่อราย และนำเศษวัสดุการเกษตรมาใช้เลี้ยงสัตว์ เช่น นำมาอัดก้อนเป็นอาหารสัตว์ (ฟางอัดก้อน) ได้เฉลี่ย 263 ก้อนต่อราย
ส่วนโครงการการเฝ้าระวังการเผาซากพืช วัชพืช และวัสดุทางการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน ในพื้นที่จังหวัดลำปาง มีการดำเนินการอบรมถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพเกษตรกร หลักสูตรแนวทางการเฝ้าระวังการเผาไหม้ในเขตปฏิรูปที่ดินการวิเคราะห์ชุมชน การบริหารจัดการไฟป่าแบบพึ่งพาตนเอง การลดพื้นที่เผาไหม้และจุดความร้อน (Hotspot) สาธิตการฝึกปฏิบัติในการควบคุมไฟป่า และสุขอนามัยของเกษตรกรจากปัญหาการเผาซากพืช วัชพืช ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน หมู่ที่ 2 บ้านห้วยก้อด และหมู่ที่ 3 บ้านป่าคา ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง จำนวน 30 ราย โดยส่งเสริมและเฝ้าระวังให้มีการลดการเผาในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่นาข้าว แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่การเกษตรอื่นๆ รวม 300 ไร่ ครบตามเป้าหมาย อีกทั้งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมสร้างเครือข่ายเกษตรปลอดการเผา กำหนดกติกาชุมชน สัตยาบันชุมชนปลอดเผา มีการจัดเวรเฝ้าระวังการเกิดไฟป่าและร่วมกันทำแนวกันไฟป้องกันพื้นที่ชุมชนพื้นที่เพาะปลูกเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร
ทั้งนี้ เพื่อให้ดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร วางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่นละออง ในปีงบประมาณ 2566 สำเร็จลุล่วงด้วยดี สศก. ขอเชิญชวนเกษตรกรทำการเกษตรแบบปลอดการเผา ลด ละ เลิก การเผาในพื้นที่เกษตร บริหารจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรตามหลักวิชาการเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน และร่วมกันเฝ้าระวังการเผาในชุมชน เพื่อลดปัญหามลพิษ ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนร่วมกัน
**************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์
ข้อมูล : ศูนย์ประเมินผล
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร