วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง จ.ลำปาง ผลิตข้าวเจ้าพันธุ์มะลินิลสุรินทร์ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มยกระดับรายได้เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 27, 2023 13:23 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง จ.ลำปาง ผลิตข้าวเจ้าพันธุ์มะลินิลสุรินทร์แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ สร้างมูลค่าเพิ่มยกระดับรายได้เกษตรกร

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ?วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง? ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง เป็นหนึ่งในวิสาหกิจชุมชนตัวอย่างที่เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรที่มีความมุ่งมั่นทำเกษตรปลอดสารพิษ โดยร่วมกันขับเคลื่อนพัฒนาองค์ความรู้ และสร้างความเข้มแข็งจนประสบผลสำเร็จ ร่วมกับศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร (ศพก.) อำเภอห้างฉัตร ซึ่งในแต่ละปีจะมีเกษตรกร กลุ่มเกษตร ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เข้ามาศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้การพัฒนาการเกษตรในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตข้าวและการแปรรูปข้าวอินทรีย์

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง นับเป็นผู้ปลูกและจำหน่ายข้าวอินทรีย์แบบครบวงจร โดยทำการปลูก แปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง และทำสารสกัดแอนโทไซยานินชนิดผง ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ปลูกเป็นข้าวพันธุ์มะลินิลสุรินทร์ เป็นแปลงนาอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ ได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) สำหรับวิสาหกิจชุมชนฯ เริ่มดำเนินการปลูกข้าวอินทรีย์มาตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์รวม 304 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอห้างฉัตร อำเภอเมือง และอำเภอเมืองปาน มีเกษตรกรสมาชิก 32 ราย โดยมี นายนันทวัตธ์ ไชยมงคล เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนฯ และนายเนตร ใจเที่ยง ประธาน ศพก. เป็นรองประธานวิสาหกิจฯ ซึ่งปี 2562 วิสาหกิจชุมชนฯ ได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสารคาม สำนักงานวิจัยแห่งชาติ และบริษัท ศาลานา ออแกนิค วิลเลจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทดลองทำผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากข้าวเป็นเครื่องดื่มข้าวออร์แกนิคชนิดผงเพื่อสุขภาพจนสำเร็จและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ ?กลุ่มข้าวทิพย์ช้าง? และเริ่มจำหน่ายสารสกัดแอนโทไซยานินในปี 2564 จนได้รับตราสัญลักษณ์ The Best of Lampang ของจังหวัดลำปาง จึงมั่นใจได้ว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

สถานการณ์การผลิตข้าวพันธุ์มะลินิลสุรินทร์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง ปีเพาะปลูก 2565/66 พบว่า เกษตรกรสมาชิกจะทำการเพาะปลูกข้าวพันธุ์มะลินิลสุรินทร์ ปีละ 1 รอบการผลิต นิยมเพาะปลูกช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม และเก็บเกี่ยวผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม (รวมระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 154 วัน) ต้นทุนการผลิตของทั้งกลุ่มเฉลี่ย 6,542 บาท/ไร่/ปี ให้ผลผลิตรวมประมาณ 147 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 483.33 กิโลกรัม/ไร่/ปี ผลตอบแทนเฉลี่ยของทั้งกลุ่ม 9,183 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิของทั้งกลุ่ม (กำไร) เฉลี่ย 2,641 บาท/ไร่/ปี หรือ 5.47 บาท/กิโลกรัม โดยราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ความชื้น 15% อยู่ที่ 19,000 บาท/ตัน หรือ 19 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาสูงกว่าข้าวเจ้าพันธุ์อื่นที่รับซื้อในพื้นที่เฉลี่ยอยู่ที่ 12,000 บาท/ตัน หรือ 12 บาท/กิโลกรัม

ด้านการแปรรูปและการตลาด เกษตรกรสมาชิกจัดการผลผลิต โดยจะขายผลผลิตเองร้อยละ 70 ขายให้วิสาหกิจชุมชนฯ ร้อยละ 20 เก็บไว้บริโภคร้อยละ 7 และทำพันธุ์ร้อยละ 3 ของผลผลิตทั้งหมด โดยเกษตรกรจะขายข้าวเปลือกให้วิสาหกิจฯ แปรรูปข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศ ขนาด 1 กิโลกรัม ราคา 60 บาท/ถุง แล้วนำรำอ่อนที่ได้จากการสีข้าวไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสารสกัดแอนโทไซยานินชนิดผงที่โรงงานแปรรูปตั้งอยู่ที่ ศพก.อำเภอห้างฉัตร โดยโรงงานมีกระบวนการผลิตตามมาตรฐานโรงงาน และได้รับเครื่องหมาย อย. ซึ่งสกัดจากรำอ่อนของข้าวเปลือก จำนวน 1 ตัน สกัดสารได้ 7 กิโลกรัม แบ่งเป็นบบรรจุภัณฑ์ชนิดแคปซูลบรรจุกระปุก ขนาด 30 เม็ด ราคา 300 บาท/กระปุก ขนาด 60 เม็ด ราคา 600 บาท/กระปุก จำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วไปเองผ่านช่องทางออฟไลน์ เช่น ออกบูธตามงานต่างๆ ตลาดนัดชุมชน และช่องทางออนไลน์ Facebook ,Line ส่วนตัว และชนิดผงบรรจุถุง ขนาด 1 กิโลกรัม ราคา 2,500 บาท จำหน่ายให้กับ บริษัท ศาลานา ออแกนิค วิลเลจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด

?ผลสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง ให้ความสำคัญในการตรวจวิเคราะห์ค่าดิน ใช้สารอินทรีย์วัตถุในการปรับปรุงบำรุงดิน และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยอินทรีย์ สารชีวภัณฑ์ อีกทั้งทางกลุ่ม ยังมีการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อยอดการผลิต การแปรรูป และการตลาด รวมถึงมีการพัฒนาส่งเสริมองค์ความรู้ให้กับสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งทางกลุ่มมีเป้าหมายจะขยายพื้นที่เพาะปลูกเป็น 1,000 ไร่ ไปยังกลุ่มเป้าหมายเกษตรกรและเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตพืชอินทรีย์? ผู้อำนวยการ สศท.1 กล่าว

ทั้งนี้ ข้าวอินทรีย์พันธุ์มะลินิลสุรินทร์ (ข้อมูลอ้างอิงจากงานวิจัยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2560) เป็นข้าวเจ้าที่มีสารแอนโทไซยานินสูง เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวกล้องสายพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งเหมาะสำหรับบำรุงร่างกายผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคหัวใจหลอดเลือดอักเสบ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และยังเหมาะสำหรับหุงบริโภค เนื่องจากมีเนื้อสัมผัสอ่อนนุ่ม รสชาติอร่อย และมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตและตลาดของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวทิพย์ช้าง ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ติดต่อสอบถามได้ที่ นายนันทวัตธ์ ไชยมงคล ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ โทร 09 3134 1104 และนายเนตร ใจเที่ยง ประธาน ศพก. รองประธานวิสาหกิจชุมชนฯโทร 08 1950 3005 ยินดีให้คำปรึกษาทุกท่าน

******************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ