สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 22, 2023 13:50 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 15 - 21 พฤษภาคม 2566

1.สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 มาตรการสินค้าข้าว

1) โครงการสำคัญภายใต้แผนการผลิตและการตลาดข้าวครบวงจร ปีการผลิต 2565/66 ดังนี้

1.1) ด้านการผลิต

(1) การจัดการปัจจัยการผลิต ได้แก่ โครงการผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว และมาตรการควบคุมค่าเช่าที่นา

(2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ (นาแปลงใหญ่) โครงการส่งเสริมการผลิตข้าวอินทรีย์ โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน (ส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวอินทรีย์) และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการผลิตข้าวยั่งยืน

(3) การควบคุมปริมาณการผลิตข้าว ได้แก่ โครงการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรตามแผนที่การเกษตรเชิงรุก (Zoning by Agri-Map) โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเสริมสร้างรายได้แก่เกษตรกร โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2566 โครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านระบบสหกรณ์ แผนการถ่ายทอดความรู้การผลิตพืชหลังนาและการใช้น้ำในการผลิตพืชอย่างมีประสิทธิภาพ และแผนการผลิตพันธุ์พืชและปัจจัยการผลิต

(4) การพัฒนาชาวนา ได้แก่ โครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer)

(5) การวิจัยและพัฒนา ได้แก่ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวเจ้าพื้นนุ่มและพื้นแข็ง การปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมไทย การปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง และการปรับปรุงพันธุ์ข้าวเหนียว

(6) การประกันภัยพืชผล ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี

(7) การส่งเสริมการสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศ (รัฐชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3)

1.2) ด้านการตลาด

(1) การพัฒนาตลาดสินค้าข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมการพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร และโครงการรณรงค์บริโภคข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวของไทยทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

(2) การชะลอผลผลิตออกสู่ตลาด ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก

(3) การจัดหาและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ ได้แก่ โครงการกระชับความสัมพันธ์และรณรงค์สร้างการรับรู้ในศักยภาพข้าวไทยเพื่อขยายตลาดข้าวไทยในต่างประเทศ และโครงการปกป้องและแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า

(4) การส่งเสริมภาพลักษณ์และประชาสัมพันธ์ข้าว ผลิตภัณฑ์ข้าว และนวัตกรรมข้าว ได้แก่ โครงการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ข้าวไทย โครงการส่งเสริมตลาดและประชาสัมพันธ์ข้าวอินทรีย์ไทย และโครงการเสริมสร้างศักยภาพสินค้าเกษตรนวัตกรรมไทยเพื่อการต่อยอดเชิงพาณิชย์

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบในหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ดังนี้

2.1) โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 โดยกำหนดชนิดข้าว ราคา และปริมาณประกันรายได้ (ณ ราคาความชื้นไม่เกิน 15%) ดังนี้ (1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน (2) ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน (3) ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน (4) ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และ (5) ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

2.2) มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ประกอบด้วย3 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในเขตพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางของเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก วงเงินสินเชื่อต่อตัน จำแนกเป็น ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาว ตันละ 8,600 บาท รวมทั้งเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเอง จะได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือกในอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับในอัตราตันละ 1,000 บาท และเกษตรกรผู้ขายข้าวเปลือก ได้รับในอัตราตันละ 500 บาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66โดย ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 4 ต่อปี โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ย ร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกรร้อยละ 3 ต่อปี

(3) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 ผู้ประกอบการค้าข้าวรับซื้อข้าวเปลือกเพื่อเก็บสต็อก เป้าหมาย 4 ล้านตันข้าวเปลือก โดยสามารถรับซื้อจากเกษตรกรได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 - 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ 1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2566) และเก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร ระยะเวลาการเก็บสต็อกอย่างน้อย 60 - 180 วัน (2 - 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย ในอัตราร้อยละ 3

2.3) โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66

ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ลดต้นทุนการผลิต ให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,545 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,381 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.22

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,882 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,920 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.39

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,900 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,570 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.12

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 855 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,934 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 870 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,169 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.72 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 235 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 515 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,428 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 509 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,066 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.18 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 362 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 521 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,631 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 515 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,267 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.17 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 364 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.8415 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า วันพืชมงคลของทุกปี เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ฤดูฝน และการเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปีของเกษตรกรไทย และด้วยราคาข้าวที่สูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวนาปี

แม้ต้นทุนการผลิตสูง โดยราคาข้าวในตลาดโลกที่สูงต่อเนื่อง มาจากแรงหนุนในตลาดโลกที่มีความต้องการสูงเพื่อรับมือกับวิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ดันราคาธัญพืชโลก มาตรการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย จากสต็อกข้าวลดลง ประกอบกับสภาพอากาศที่เลวร้ายสร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวในผู้ผลิตหลัก และผู้บริโภครายใหญ่อย่างจีนที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ

เมื่อความต้องการข้าวโลกสูง ในขณะที่ไทยมีความพร้อมด้านผลผลิตมากกว่าคู่แข่ง จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น หนุนราคาส่งออกข้าวไทย และส่งผลมายังราคาข้าวที่เกษตรกรขายได้ให้คงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) ราคาส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 16.3 และราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยในประเทศสูงขึ้น ร้อยละ 18.1

?ดังนั้น จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวนาปีและดูแลต้นข้าวเป็นอย่างดี แม้จะต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (ราคาปุ๋ยเคมี ยากำจัดแมลงและศัตรูพืช ราคาพลังงาน) และต้องเผชิญกับปริมาณน้ำฝนที่ลดลงในช่วงเริ่มต้นฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมเฉลี่ยทั้งประเทศของไทยในช่วงวันที่ 1 มกราคม-14 พฤษภาคม 2566 พบว่า ปริมาณน้ำฝนสะสมมีน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ประมาณร้อยละ 57 และยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยที่ร้อยละ 28? บทวิเคราะห์ระบุ

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงที่ไทยจะเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ผลผลิตข้าวนาปีอาจได้รับความเสียหายมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 เนื่องจากช่วงหลังการเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคมไปแล้วจะเป็นช่วงที่ต้นข้าวต้องการน้ำมากขึ้น เพื่อใช้ในการเจริญเติบโตก่อนที่จะพร้อมเก็บเกี่ยวจึงต้องติดตามปริมาณน้ำฝนและภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงที่เหลือของปี 2566 ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปี 2566 จะน้อยกว่าปีก่อน และน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2566 หากช่วงแรกของการเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญไม่รุนแรงนัก รวมถึงภาวะฝนทิ้งช่วงกินเวลาไม่นาน คาดว่าผลผลิตข้าวนาปี ปี 2566 อาจลดลงประมาณร้อยละ 4.1-6 หรือคิดเป็นปริมาณ 25.1-25.6 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตข้าวนาปีส่วนใหญ่จะเป็นข้าวที่ปลูกนอกเขตชลประทาน ขณะเดียวกัน เมื่อรวมกับผลผลิตข้าวนาปรังที่ประมาณ 7.6 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 จะทำให้ผลผลิตข้าวรวมของไทยปี 2566 อาจอยู่ที่ประมาณ 32.7-33.2 ล้านตัน เฉลี่ยแล้วยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 ซึ่งคาดว่าจะเป็นปริมาณผลผลิตข้าวรวมที่ยังเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และการส่งออกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปี 2565

อย่างไรก็ดี หากเกิดภาวะแล้งจัดหรือฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน ก็อาจทำให้ผลผลิตข้าวนาปีเสียหายมากขึ้น และอาจกระทบต่อผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศให้ต่ำกว่ากรอบที่ประเมินไว้

นอกจากนี้ ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนที่สะสมในช่วงปลายปี 2566 ให้ลดลง ซึ่งเป็นน้ำเพื่อใช้สำหรับปลูกข้าวนาปรังในปี 2567 ประกอบกับการคาดการณ์ว่าเอลนีโญน่าจะกินระยะเวลานาน จึงมีความเสี่ยงที่ทั้งผลผลิตข้าวนาปรัง และข้าวนาปีของไทยในปี 2567 จะลดลง

ดังนั้น แนวทางการรับมือและความจำเป็นเร่งด่วน คือ การวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ซึ่งทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐต้องเตรียมตัวรับมือกับการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งจัดหาแหล่งน้ำสำรอง เครื่องมือ-เครื่องจักร ในการสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูก เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ รถบรรทุกน้ำ เป็นต้นซึ่งจะช่วยลดความเสียหายต่อผลผลิตสินค้าเกษตร และยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของไทยในระยะข้างหน้า ขณะที่เกษตรกรอาจมีการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต ด้วยการหันไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์ทดแทนปุ๋ยเคมีมากขึ้น หรือพิจารณาปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรบางส่วนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มราคาสูงตามตลาดโลก โดยอาจเป็นทางเลือกหนึ่งเพื่อให้เกษตรกรสามารถมีรายได้ทดแทน ท่ามกลางความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรที่มีมากขึ้นในระยะข้างหน้า

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

ญี่ปุ่น

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีงบประมาณ 2565 (เมษายน 2565-มีนาคม 2566) กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมงของญี่ปุ่น (Ministry of Agriculture, Forestry and Fisheries; MAFF) มีการประมูลนำเข้าข้าวในระบบการนำเข้าขั้นต่ำ (the Minimum Access import system) ปริมาณรวม 677,714 ตัน แบ่งเป็น การประมูลทั่วไป (ordinary market access tenders or MA) จำนวนรวม 663,972 ตัน และการประมูลในระบบ SBS (the simultaneous buy and sell tenders) จำนวนรวม 13,742 ตัน

ทั้งนี้ ในทุกๆ ปี กระทรวงเกษตรฯ (MAFF) จะนำเข้าข้าวสารประมาณ 682,000 ตัน ตามข้อกำหนดในระบบโควตาภาษีขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization tariff rate quota (TRQ)) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าโควตาข้าวขั้นต่ำ (the Minimum Access (MA)) ซึ่งจะมีการนำเข้าข้าวผ่านการประกวดราคา 2 ประเภท โดยกระทรวงเกษตรฯ จะจัดสรรโควตาจำนวน 100,000 ตัน เพื่อนำเข้าข้าวผ่านการประมูลแบบซื้อขายพร้อมกัน (Simultaneous Buy-Sell tenders; SBS) และกระทรวงเกษตรฯ จะนำปริมาณโควตาที่เหลือ ซึ่งรวมถึงปริมาณที่ไม่ได้ใช้จากการประมูลแบบ SBS มาประมูลผ่านการประมูลแบบทั่วไป (Ordinary Market Access (OMA))

โดยกระทรวงเกษตรฯ จะขายข้าวที่นำเข้าผ่านการประมูลแบบ OMA ให้กับผู้ซื้อ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ข้าวสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปหรือเป็นอาหารสัตว์ และกระทรวงเกษตรฯ ยังส่งออกข้าวบางส่วนที่ประมูลผ่านระบบ OMA เพื่อช่วยเหลือด้านอาหารด้วย

ในปีงบประมาณของญี่ปุ่น (JFY) 2022 กระทรวงเกษตรฯ สามารถประมูลข้าวผ่านระบบ SBS ได้จำนวน 13,742 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณต่ำที่สุดเป็นอันดับสาม นับตั้งแต่ญี่ปุ่นเปิดตัวระบบนำเข้าแบบ MA ในปีงบประมาณ 2538 ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดสรรโควตาส่วนที่เหลืออีก 86,258 ตัน ไปประมูลในแบบ OMA ทั้งนี้ จากการประมูลในระบบ SBS ปีงบประมาณ 2565 ญี่ปุ่นประมูลข้าวจากสหรัฐรวม 2,378 ตัน โดยเป็นข้าวเต็มเมล็ดจำนวน 1,208 ตัน และข้าวหัก 1,170 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2538

ในขณะที่การประมูลแบบทั่วไป (Ordinary Market Access (OMA)) ในปีงบประมาณ 2565 ญี่ปุ่นประมูลได้ทั้งหมด 663,972 ตัน โดยเป็นข้าวเมล็ดขนาดกลางของสหรัฐฯ จำนวน 208,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 31 ของข้าวที่ประมูลแบบ OMA ทั้งหมด ซึ่งถือเป็นปริมาณต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2539 เช่นกัน ในปีงบประมาณของญี่ปุ่น (JFY) 2022 กระทรวงเกษตรฯ ประมูลข้าวทั้งสองระบบจำนวนรวม 677,714 ตัน โดยซื้อจากไทย จำนวน 353,943 ตัน (ร้อยละ 52.2 ของปริมาณที่ประมูลได้ทั้งหมด) สหรัฐฯ จำนวน 210,378 ตัน (ร้อยละ 31) จีน จำนวน 72,200 ตัน (ร้อยละ 10.7) ออสเตรเลีย จำนวน 36,000 ตัน (ร้อยละ 5.3) และประเทศอื่นๆ 9,193 ตัน

ทั้งนี้ การประมูลผ่านระบบ SBS สามารถประมูลได้จำนวน 13,742 ตัน โดยซื้อจากไทยจำนวน 5,971 ตัน สหรัฐฯ 2,378 ตัน จีน 200 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นของประเทศอื่นๆ ในขณะที่การประมูลผ่านระบบ OMA สามารถ ประมูลได้จำนวน 663,972 ตัน โดยซื้อจากไทย จำนวน 347,972 ตัน สหรัฐฯ 208,000 ตัน จีน 72,000 ตันออสเตรเลีย 36,000 ตัน ส่วนที่เหลือเป็นของประเทศอื่นๆ

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ในระดับทรงตัวหลังจากที่ราคาปรับลดลงติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวจากต่างประเทศลดน้อยลง เพราะผู้ซื้อมองว่าราคาข้าวมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จึงชะลอการสั่งซื้อในช่วงนี้ ขณะที่ผลผลิตข้าวที่เพาะปลูกในช่วงฤดูหนาวหรือฤดูการผลิตรอง ออกสู่ตลาดช้ากว่ากำหนดหลังจากฝนตก

ในพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ตันละ 376-380 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับราคาที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565

สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (the India Meteorological Department; IMD) คาดว่าจะเกิดฝนตกจากอิทธิพลของลมมรสุมที่จะมาถึงในช่วงปลายปีนี้ โดยกรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย คาดการณ์ว่าฝนจากลมมรสุมจะพัดเข้าชายฝั่งที่รัฐ Kerala (รัฐเกรละ เป็นรัฐที่อยู่ใต้สุดของประเทศอินเดียฝั่งตะวันตก) ในวันที่4 มิถุนายน 2566 แทนที่จะเป็นวันที่ 1 มิถุนายนตามปกติ ซึ่งฤดูมรสุมมีระยะเวลาประมาณ 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายนของทุกปี

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการเกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศเอลนีโญ (the El Nino weather phenomenon) สร้างความกังวลเกี่ยวกับภาวะฝนจากลมมรสุมในปี 2566 ด้วย

ทั้งนี้ ฝนจากลมมรสุมมีความสำคัญต่อการเกษตรของอินเดีย ซึ่งภาวะที่ฝนตกชุกจะส่งผลดีต่อการเพาะปลูกพืช เช่น ข้าว ถั่วเหลือง และฝ้าย โดยเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่การเกษตรของอินเดียไม่ครอบคลุมโดยการชลประทาน จำเป็นต้องอาศัยน้ำฝนจากลมมรสุมเพื่อปลูกพืชผลจำนวนมาก

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ไอวอรี่โคสต์

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2566/67 (ตุลาคม 2566-กันยายน 2567)ไอวอรี่โคสต์ (โกตดิวัวร์) จะมีผลผลิตข้าวประมาณ 1.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.112 ล้านตัน ในปีการตลาด 2565/66 โดยคาดการณ์พื้นที่ทั้งหมดที่เก็บเกี่ยวในปี 2566/67 อยู่ที่ประมาณ 4.56 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากประมาณ 4.437 ล้านไร่ ในปี 2565/66

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพอากาศและต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตในปี 2566/67 ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในไอวอรี่โคสต์ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาในการบรรลุเป้าหมายการผลิต เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่ใช้เมล็ดพันธุ์เก่าคุณภาพต่ำผสมผสานกับการใช้ปุ๋ยที่ไม่สอดคล้องกัน ขณะที่รัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายที่จะผลิตข้าวให้ได้ 2 ล้านตัน ภายในปี 2568

สำหรับผลผลิตข้าวสารในปี 2565/66 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปี 2564/65 โดยในปีการตลาดปัจจุบัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ในเขตพื้นที่ลุ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพราะรัฐบาลได้ริเริ่มที่จะฟื้นฟูพื้นที่ลุ่มผ่านโครงการพัฒนา นอกจากนี้ ยังได้ริเริ่มให้เกษตรกรสามารถซื้อปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ และยาฆ่าแมลงได้ในราคาต่ำกว่าราคาจริงประมาณ 2.6 เท่า

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์การบริโภคข้าวในปี 2566/67 จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 2.65 ล้านตัน จากประมาณ 2.6 ล้านตัน ในปี 2564/65 ซึ่งการเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับอัตราการเติบโตของประชากรต่อปี ที่อัตราร้อยละ 2.5 และข้าวเป็นธัญพืชที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในประเทศ

สำหรับการนำเข้าข้าวในปี 2566/67 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.4 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งอัตราการนำเข้าชะลอตัวลงอย่างมากในปีปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความท้าทายด้านการผลิตในประเทศก็ตาม แต่การนำเข้าที่ลดลงเป็นผลมาจากวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศยูเครน และค่าขนส่งที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับมาตรการห้ามส่งออกข้าวที่บังคับใช้โดยบางประเทศในเอเชีย เช่น อินเดีย

การนำเข้าในปี 2565/66 ที่คาดว่าจะลดลงจากปีก่อนหน้า เนื่องจากอินเดียมีมาตรการทางภาษีสำหรับ

การส่งออกข้าวบางชนิด (เช่น ข้าวขาว) ในอัตราร้อยละ 20 และการห้ามส่งออกข้าวหัก เนื่องจากประเทศไอวอรี่โคสต์ จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจากอินเดียอย่างมาก แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามเพิ่มการผลิตในประเทศอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ในส่วนของสต็อกข้าวสิ้นปีนั้น ในปี 2566/67 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 190,000 ตัน ลดลงจากประมาณ 275,000 ตัน ในปี 2565/66 โดยประมาณการว่าระดับสต็อกจะเพียงพอที่จะรองรับการหยุดชะงักของอุปทานได้ในระยะสั้น

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ