นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการติดตามการดำเนินงาน กลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ หมู่ 9 ตำบลโนนโหนน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตไม้ดอกไม้ประดับใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่ผลิตและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับแบบครบวงจร ส่งจำหน่ายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียงโดยทางกลุ่มได้รับการประเมินแปลงใหญ่ดีเด่นระดับจังหวัด และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ของจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา
จากการลงพื้นที่ติดตามของ สศท.11 โดยสัมภาษณ์ นายระพิณ โคตรธาริน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ หมู่ 9 บอกเล่าว่า กลุ่มเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 เดิมนั้นเกษตรกรในหมู่บ้านประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เกษตรกรเริ่มทดลองปรับเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เป็นพืชใช้น้ำน้อย ซึ่งได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า จึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน ลดความเสี่ยงจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งได้ทำเป็นอาชีพหลักควบคู่ไปกับการทำเกษตร โดยเกษตรกรได้รวมกลุ่มผลิตไม้ดอกไม้ประดับเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน สร้างภาคีเครือข่าย พัฒนาองค์ความรู้ และพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ ให้ตรงตามความต้องการ ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ หมู่ 9 มีพื้นที่ปลูกรวม 54 ไร่ เกษตรกรสมาชิก 30 ราย สำหรับไม้ดอกไม้ประดับที่ทางกลุ่มเพาะปลูกเพื่อจำหน่ายมีทั้งหมด 38 ชนิด ซึ่งไม้ดอกไม้ประดับที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า ได้แก่ เฟื่องฟ้า ทองอุไร ดอกเข็ม ม่วงส่าหรี ดอกพุด ดอกมะลิ ดอกราตรี บอนหลากสายพันธุ์ เป็นต้น
สถานการณ์การผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ปี 2565 พบว่า เกษตรกร 1 ครัวเรือน จะปลูกประมาณ 4 ? 5 ชนิดปลูกสลับหมุนเวียนแต่ละชนิดกันไป โดยใน 1 ปี ปลูกได้ประมาณ 3 รอบการผลิต (รอบละ 4 เดือน) พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกได้ประมาณ 5,000 ต้น ต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 113,055 บาท/ไร่/ปี ประกอบด้วย ดินปลูก ถุงเพาะชำ กระถาง กิ่งพันธุ์ ปุ๋ย ค่าน้ำ ค่าไฟ การดูแลรักษา และค่าแรงงาน เกษตรกรนิยมปลูกในถุงดำขนาด 4.5 นิ้ว โดยใช้กิ่งพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ของตนเองนำมาปักชำ ให้ผลผลิตรวม 15,000 ถุง/ไร่/ปี เกษตรกรจะเริ่มจำหน่ายเมื่อต้นมีอายุ 4 เดือน ราคาที่เกษตรกรขายได้ แบ่งเป็น แบบถุงดำ ขนาด 4.5 นิ้ว ราคา 12 - 15 บาท/ต้น และ แบบกระถาง ขนาด 11 นิ้ว ราคา 40 บาท/ต้น , ขนาด 15 นิ้ว ราคา 120 บาท/ต้น ซึ่งราคาขายขึ้นอยู่กับขนาด ชนิดพันธุ์ และความนิยมของตลาด โดยเกษตรกรได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 180,000 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 66,945 บาท/ไร่/ปี หากคิดเป็นรายได้ของทั้งกลุ่มอยู่ที่ 9,720,000บาท/ปี ทั้งนี้ เกษตรกรจะผลิตไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดและปริมาณการผลิตไม้ดอกไม้ประดับแต่ละชนิดในจำนวนไม่มาก ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 จำหน่ายให้พ่อค้าในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งพ่อค้าจะมารับถึงสวนของเกษตรกร และผลผลิตอีกร้อยละ 10 จำหน่ายให้ลูกค้าทั่วไป และเริ่มมีจำหน่ายผ่านออนไลน์ ได้แก่ Line และ Facebook ของเกษตรกรเอง
ด้านผลสำเร็จของกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ หมู่ 9 มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาด โดยทางกลุ่มได้มีวิธีการดำเนินงานที่เป็นระบบ มีการจัดทำระบบฐานข้อมูลไม้ดอกไม้ประดับแต่ละชนิด เพื่อนำไปใช้ในการประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำให้ลูกค้าเห็นลักษณะต้นไม้ ดอกไม้ ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจในการซื้ออีกทั้ง สมาชิกได้รับการพัฒนาองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยมีหน่วยงานสำนักงานเกษตรจังหวัดอุบลราชธานีเข้ามาสนับสนุนในด้านการให้ความรู้ และให้งบประมาณในการทำแปลงเรียนรู้ การทำปุ๋ยหมัก สำหรับใช้ในกลุ่ม และยังมีการจัดทำฐานข้อมูลสมาชิก เก็บข้อมูลโดยใช้ GPS ระบุตำแหน่งของสวนให้กับสมาชิก ซึ่งในอนาคตกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับ หมู่ 9 มีแผนจะเพิ่มจำนวนสมาชิก ลดต้นทุนการผลิตลงโดยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง ลดปริมาณการใช้สารเคมีในการผลิต เพิ่มอัตราการรอดของกิ่งพันธุ์ และพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับเป็นไม้ดัดเพื่อเพิ่มมูลค่า
ทั้งนี้ ทางกลุ่มยังเน้นการดำเนินงานสร้างเครือข่าย การร่วมมือระหว่างภาครัฐและชุมชน การพัฒนาสมาชิกสู่ Smart Famer รวมทั้ง ยังจัดทำแผนการผลิตเพื่อให้การผลิตตรงตามความต้องการตลาด และยังนำภูมิปัญญาชาวบ้านโดยการนำดินเหลนบ่อน้ำในไร่นามาผสมเป็นดินปลูกส่งผลให้เจริญเติบโตดี หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานกรณ์การผลิตและตลาดของกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอก ไม้ประดับ หมู่ 9 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณระพิณ โคตรธาริน ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ไม้ดอกไม้ประดับหมู่ 9 ตำบลโนนโหนน อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โทร 09 4261 1991
********************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร