นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ?ทุเรียนทะเลหอย? นับเป็นสินค้าเกษตรที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดกระบี่ เป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ มีศักยภาพ การผลิตในพื้นที่ พบปลูกและผลิตในพื้นที่ตำบลปลายพระยาและตำบลเขาเขน อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ซึ่งทุเรียนทะเลหอย คือ ทุเรียนพันธุ์หมอนทองและพันธุ์ชะนี แต่มีเอกลักษณ์แตกต่างจากทุเรียนในพื้นที่อื่น เนื่องจากปลูกในดินที่มีเปลือกหอยปะปนอยู่ มีแร่ธาตุที่เหมาะกับการปลูกทุเรียน ทำให้ทุเรียนมีรสชาติหวาน มัน กรอบ เนื้อหนา ละเอียดเนียน กลิ่นหอมอ่อน ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ความจำเพาะและจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนทะเลหอย จึงขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) และได้รับการขึ้นทะเบียน GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ วันที่ 24 มีนาคม 2566
สศท.8 ติดตามสถานการณ์การผลิตทุเรียนทะเลหอยในพื้นที่ จ.กระบี่ พบว่า กลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลปลายพระยา ตำบลปลายพระยา อำเภอปลายพระยา นับเป็นหนึ่งกลุ่มตัวอย่างที่ผลิตทุเรียนทะเลหอยจนประสบความสำเร็จและมีศักยภาพ การผลิต เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2562 โดยมีนายสมเกียรติ โกฏิกุล เป็นประธานแปลงใหญ่ฯ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกรวม 1,200 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ให้ผลผลิตแล้ว 850 ไร่ มีสมาชิกเกษตรกร 53 ราย โดยในปี 2565 มีต้นทุนการผลิตของกลุ่มเฉลี่ย 18,000 บาท/ไร่/ปี ประกอบด้วย ค่าเตรียมดิน ค่าปลูก ค่าต้นพันธุ์ ค่าดูแลรักษา และอื่น ๆ เกษตรกรจะทำการเก็บเกี่ยวเมื่อทุเรียนมีอายุที่เหมาะสมประมาณ 115 ? 120 วัน (หลังจากดอกทุเรียนบาน) ให้ผลผลิตรวม 567 ตัน/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 667 กิโลกรัม/ไร่/ปี (ทุเรียน 1 ลูกมีน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม) ผลตอบแทนเฉลี่ย 73,370 บาท/ไร่/ปี ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 55,370 บาท/ไร่/ปี หากคิดเป็นผลตอบแทนของทั้งกลุ่มอยู่ที่ 62,364,500 บาท/ปี หรือ ทั้งกลุ่มจะได้กำไรเฉลี่ย 47,064,500 บาท/ปี
ขณะนี้ ผลผลิตทุเรียนทะเลหอยของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลปลายพระยา อยู่ในช่วงให้ผลอ่อนซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดช่วงเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม 2566 โดยผลผลิตจะออกตลาดมากที่สุดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 คิดเป็นร้อยละ 50 ของผลผลิตทั้งหมดของกลุ่ม ด้านราคาขายทุเรียนทะเลหอยในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด (ราคา ณ เดือนกรกฎาคม 2565) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 110 บาท/กิโลกรัม ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 95 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อ/ล้งทุเรียน และอีกร้อยละ 5 เกษตรกรขายผ่านกลุ่มซึ่งกลุ่มจะนำไปจำหน่ายช่องทางออนไลน์ผ่าน Facebook : ทุเรียนทะเลหอย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้ผลบ้านทะเลหอย , Facebook ส่วนตัวของเกษตรกร และ line จำหน่ายในราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 160 ? 180 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคา ที่เกษตรกรขายผ่านพ่อค้า/ล้งทุเรียน ทั้งนี้ ในระยะต่อไปทางกลุ่มมีแนวทางการขยายตลาดสู่ห้างสรรพสินค้าในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง
สำหรับทุเรียนทะเลหอย เกษตรกรในพื้นที่นิยมใช้ต้นพันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนีที่ขยายพันธุ์จากกิ่งพันธุ์หรือยอดพันธุ์ คุณภาพดี ตรงตามลักษณะพันธุ์ จากต้นพันธุ์ในแหล่งที่เชื่อถือได้ โดยกำหนดระยะปลูกประมาณ 8 x 8 ถึง 10 x 10 เมตร หรือตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยพื้นการเพาะปลูกทุเรียนทะเลหอยจะมีลักษณะดินส่วนมากเป็นดินที่เกิดจาการผุพังสลายตัวอยู่กับที่ของหินปูน ดินร่วนละเอียดลึกมาก ดินบนเป็นดินร่วนปนดินเหนียวสีแดงหรือสีแดงเข้ม การระบายน้ำได้ดี พื้นที่มีการสะสมคาร์บอนในดินสูงและเป็นแหล่งหินปูน จึงทำให้มีธาตุอาหารรและจุลธาตุที่ส่งผลดีต่อทุเรียน และมีแหล่งน้ำเพียงพอทั้งจากแหล่งน้ำที่สร้างขึ้น และแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมถึงเกษตรกรมีการจัดการสวนเน้นการดูแลรักษาแบบธรรมชาติ ทั้งวิธีการปลูกโดยอาศัยการเสียบข้าง การเลี้ยงผึ้งไว้ช่วยผสมเกสรดอกทุเรียน ทุเรียนทะเลหอยจึงมีรสชาติอร่อย หอม หวานมัน อันเป็นผลมาจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่มีความอุดมสมบูรณ์ ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านการผลิต และด้านตลาด รวมถึงภาครัฐเข้ามาส่งเสริมการรวมกลุ่มการผลิต เพื่อลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างอำนาจการต่อรอง และการผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพจะทำให้เกษตรกรมีรายได้อย่างยั่งยืน หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตทุเรียนทะเลหอย ของกลุ่มแปลงใหญ่ทุเรียนตำบลปลายพระยา ติดต่อสอบถามได้ที่ นายสมเกียรติ โกฏิกุล ประธานแปลงใหญ่ฯ โทร 08 1956 3669 หรือ Facebook : ทุเรียนทะเลหอย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มไม้ผลบ้านทะเลหอย หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.8 โทร 0 7731 1641 หรืออีเมล zone8@oae.go.th
******************************************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร