สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 5, 2023 13:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 29 พฤษภาคม - 4 มิถุนายน 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์เบื้องต้น ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.898 ล้านไร่ ผลผลิต 27.013 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 429 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.917 ล้านไร่ ผลผลิต 26.703 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 424 กิโลกรัม พบว่าเนื้อที่เพาะปลูก ลดลงร้อยละ 0.03 ส่วนผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.16 และร้อยละ 1.18 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากคาดว่าเกษตรกรปรับเปลี่ยนที่นาบางส่วนไปปลูกพืชอื่นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เช่น มันสำปะหลัง แต่เนื้อที่ลดลงไม่มาก เพราะเกษตรกรยังคงคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหมือนที่ผ่านมา สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว จึงส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตข้าวทั้งประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2566 คาดการณ์มีการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2566/67 จำนวน 20.989 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 33.37 ของเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.746 ล้านไร่ ผลผลิต 7.614 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 648 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.547 ล้านไร่ ผลผลิต 6.171 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 646 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.03 ร้อยละ 23.39 และร้อยละ 0.31 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักและปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยาย เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2566 คาดการณ์มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ปี 2566 ปริมาณ 6.758 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 88.76 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,679 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,636 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.31

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,964 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,937 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,990 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.99

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนามปรับกลยุทธ์การส่งออกข้าว

กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของเวียดนาม ระบุว่า ราคาส่งออกข้าวในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ตันละ 517 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยฟิลิปปินส์เป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวเวียดนามรายใหญ่ที่สุด ปริมาณ 1.29 ล้านตัน มูลค่า 647.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 40.6 และร้อยละ 53.4 ตามลำดับ และเวียดนามส่งออกข้าวไปยังอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นถึง 26.3 เท่า เช่นกัน ขณะที่ส่งไปยังไอวอรีโคสต์ลดลงร้อยละ 49.8

โดยที่ผ่านมา เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและไทย โดยในปี 2566 รัฐบาลปรับกลยุทธ์การส่งออกข้าวให้ลดลงเหลือ 4 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2573 เพื่อเน้นการส่งออกข้าวคุณภาพสูงเป็นหลักประกันความมั่นคงทางด้านอาหารภายในประเทศ ปกป้องสิ่งแวดล้อม และปรับให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ จึงส่งผลให้มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือ 2.62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิม

ในปี 2565 ส่งออกปริมาณ 7.1 ล้านตัน มูลค่า 3.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ สถานการณ์การผลิตและแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้เวียดนามปรับตัวแบบมียุทธศาสตร์ มุ่งพัฒนาพันธุ์ข้าวพรีเมียม และเน้นขายให้ลูกค้าประจำที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีแผนจะกระจายตลาดส่งออกข้าวเพื่อลดการพึ่งพาจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งฟิลิปปินส์เป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม คิดเป็นร้อยละ 45 ของปริมาณการส่งออกในปี 2565 ในการนี้ นายกรัฐมนตรีเวียดนามกล่าวกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในการประชุมระดับภูมิภาคที่อินโดนีเซีย

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ว่า เวียดนามยินดีที่จะจัดหาข้าวให้กับฟิลิปปินส์ในระยะยาวด้วยราคาที่เหมาะสมทั้งนี้ ภายในปี 2568 การส่งออกข้าวของเวียดนาม ร้อยละ 60 จะส่งไปยังตลาดเอเชีย ร้อยละ 23 ตลาดแอฟริการ้อยละ 7 ตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 4 และส่งไปยังตลาดตะวันออกกลางและยุโรปเท่าๆ กัน คือร้อยละ 3 และรัฐบาลระบุว่า ภายในปี 2568 เวียดนามจะเน้นการผลิตข้าวหอมและข้าวเหนียวคุณภาพสูง รวมทั้งลดการผลิตธัญพืชคุณภาพต่ำเหลือร้อยละ 15 ของผลผลิตทั้งหมด และเหลือร้อยละ 10 ภายในปี 2573

ผู้ค้าข้าวในนครโฮจิมินห์ กล่าวว่า ?แม้พื้นที่นาของเวียดนามจะลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และเกษตรกรบางส่วนเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นและเลี้ยงกุ้ง แต่กลยุทธ์ดังกล่าวเป็นกลยุทธ์เชิงรุกเกินไป? รวมทั้งมีผู้ค้าข้าวรายอื่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ?ชาวนาบางคนในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง กำลังเปลี่ยนที่นาบางส่วนไปทำสวนผลไม้ เช่น มะม่วง ส้มโอ ขนุน และทุเรียน แต่ส่วนใหญ่ยังคงพึ่งพาการปลูกข้าว สำหรับแนวโน้มการเลี้ยงกุ้ง เกิดขึ้นในพื้นที่มานานหลายปี เนื่องจากน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความเค็มเพิ่มขึ้นอย่างมากในภูมิภาคสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง?

ที่มา VOICE OF VIETNAM และ กรุงเทพธุรกิจ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ