สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 12, 2023 13:37 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 5 - 11 มิถุนายน 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์เบื้องต้น ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.898 ล้านไร่ ผลผลิต 27.013 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 429 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปีการผลิต 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.917 ล้านไร่ ผลผลิต 26.703 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 424 กิโลกรัม พบว่าเนื้อที่เพาะปลูก ลดลงร้อยละ 0.03 ส่วนผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.16 และร้อยละ 1.18 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากคาดว่าเกษตรกรปรับเปลี่ยนที่นาบางส่วนไปปลูกพืชอื่นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า เช่น มันสำปะหลัง แต่เนื้อที่ลดลงไม่มาก เพราะเกษตรกรยังคงคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหมือนที่ผ่านมา สำหรับผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ คาดว่าเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว จึงส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตข้าวทั้งประเทศเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน 2566 คาดว่ามีการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2566/67 จำนวน 22.924 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 36.45 ของเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด และตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 คาดว่ามีการเพาะปลูกข้าวนาปี จำนวน 43.913 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 69.82 ของเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.746 ล้านไร่ ผลผลิต 7.614 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 648 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.547 ล้านไร่ ผลผลิต 6.171 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 646 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.03 ร้อยละ 23.39 และร้อยละ 0.31 ตามลำดับ โดยเนื้อที่เพาะปลูกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนักและปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

ทั้งนี้ เดือนมิถุนายน 2566 คาดว่ามีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรัง ปี 2566 ปริมาณ 0.542 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 7.12 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด และตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2566 คาดว่ามีการเก็บเกี่ยวผลผลิตปริมาณ 7.300 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 95.88 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,790 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,679 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.82

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,887 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,964 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.77

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,950 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,990 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 871 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,937 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 863 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,626 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.93 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 311 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 507 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,426 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 511 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,542 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.79 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 116 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 513 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,632 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 517 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,748 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.77 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 116 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.3711 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 อินเดีย

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (the India Meteorological Department: IMD) ได้คาดการณ์ปริมาณฝนจากลมมรสุมที่จะพัดเข้าทางชายฝั่งของรัฐ Kerala (รัฐเกรละ เป็นรัฐที่อยู่ใต้สุดของประเทศอินเดียฝั่งตะวันตก) ล่าช้ากว่าเมื่อปี 2565 ประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากมีการก่อตัวของพายุหมุนในทะเลอาหรับ (the Arabian Sea) การที่ฤดูมรสุมเริ่มต้นช้า อาจส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกข้าว ฝ้าย ข้าวโพด ถั่วเหลือง และอ้อย ซึ่งปกติฤดูมรสุมมีระยะเวลาประมาณ 4 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายนของทุกปี ทั้งนี้ฝนจากลมมรสุมมีความสำคัญต่อการเกษตรของอินเดีย ซึ่งภาวะที่ฝนตกชุกจะส่งผลดีต่อการเพาะปลูกพืช เช่น ข้าว ถั่วเหลือง และฝ้าย เนื่องจากพื้นที่การเกษตรของอินเดียครึ่งหนึ่งไม่ครอบคลุมระบบชลประทาน จำเป็นต้องอาศัยน้ำฝนจากลมมรสุมเพื่อปลูกพืชหลากหลายชนิด อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ คาดการณ์ว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ(the El Nino weather phenomenon) ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2566 ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาวะฝนทิ้งช่วงจากลมมรสุมได้

กระทรวงเกษตรและสวัสดิการเกษตรกร (the Ministry of Agriculture and Farmers Welfare: MOAFW) รายงานว่า ณ วันที่ 2 มิถุนายน 2566 เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกข้าวฤดูการผลิตหลัก หรือ the Kharif crop ในปีการผลิต 2566/67 (มิถุนายน-กันยายน 2566) ประมาณ 17.82 ล้านไร่ ลดลงจาก 18.96 ล้านไร่ ในช่วงเดียวกันของปีการผลิต 2565/66 หรือลดลงร้อยละ 6 สำหรับผลผลิตข้าวสาลี ฤดูการผลิต the Rabi season ในปีการผลิต 2565/66 (พฤศจิกายน 2565-พฤษภาคม 2566) คาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 112.743 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 107.742 ล้านตัน เมื่อปีการผลิต 2564/65 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.64 ทั้งนี้ อินเดียปลูกข้าวสาลีได้เพียงปีละหนึ่งครั้ง โดยปลูกในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

2.2 กัมพูชา

สำนักข่าว The Phnom Penh Post รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ผู้แทนสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodia Rice Federation: CRF) จัดประชุมออนไลน์ร่วมกับบริษัท Green Trade Company และบริษัท China Oil and Foodstuffs Corporation (COFCO) ของทางการจีน โดยที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาข้อตกลงที่จะให้บริษัท COFCO ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของจีน เพิ่มโควตาซื้อข้าวสารจากปีละ 400,000 ตัน เป็นปีละ 500,000 ตัน และหากการเจรจาตามข้อตกลงประสบความสำเร็จ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (Memorandums of Understanding: MOU) ฉบับที่ 7 ทำให้กัมพูชาส่งออกข้าวได้ประมาณปีละ 1 ล้านตัน โดยประเทศจีนเป็นผู้ซื้อข้าวสารรายใหญ่ที่สุดของกัมพูชา และในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2566 กัมพูชาส่งออกข้าวไปจีน ปริมาณ 84,773 ตัน คิดเป็นร้อยละ 48.01 รองลงมา ได้แก่ สหภาพยุโรป ปริมาณ 56,313 ตัน คิดเป็นร้อยละ 31.89 และอาเซียน ปริมาณ 9,920 ตัน คิดเป็นร้อยละ 5.62 ของการส่งออกข้าว

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ