สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 27, 2023 14:23 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 19 - 25 มิถุนายน 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.977 ล้านไร่ ผลผลิต 26.632 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 423 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลงคาดการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2566/67 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 - กุมภาพันธ์ 2567โดยเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 มีการเพาะปลูกข้าวนาปี จำนวน 43.731 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 70.12 ของเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.547 ล้านไร่ ผลผลิต 6.171 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 646 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าวผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.728 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 61.23 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.398 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 95.81 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,849 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,818 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.22

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 9,975 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,330 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 16,030 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.87

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 868 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,066 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 874 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,074 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.69 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 520 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,012 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 509 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,514 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.16 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 498 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 526 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,220 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 515 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,721 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.14 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 499 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.6383 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนมิถุนายน 2566 ผลผลิต 520.492 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 512.525 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2565/66 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.55

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีปริมาณผลผลิต 520.492 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.55 การใช้ในประเทศ 523.772 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.46 การส่งออก/นำเข้า 55.808 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.67 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 170.213 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.89

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา กายานา อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย ตุรกี และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล ไทย และเวียดนาม
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา บังกลาเทศ จีน ไอเวอรี่โคสต์ กานา กินี อิหร่าน มาเลเซีย เม็กซิโก โมซัมบิก เนปาล ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเวียดนาม ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล เอธิโอเปีย อินโดนีเซีย อิรัก เคนยา และฟิลิปปินส์
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย บังกลาเทศ และไนจีเรีย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ได้มอบรางวัลการประกวดข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อการพาณิชย์ ครั้งที่ 2 ณ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2563 - 2567 ที่กำหนดเป้าหมายส่งเสริมข้าวพันธุ์ใหม่ของไทยให้ครบ 12 พันธุ์ ภายในระยะเวลา 5 ปี จำแนกเป็น ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวหอม 2 พันธุ์ และข้าวโภชนาการสูง 2 พันธุ์ ทั้งนี้ เนื่องจากต้องการแก้จุดอ่อน คือ ความไม่หลากหลายของผลิตภัณฑ์ข้าวที่เสนอขายในตลาดโลก จึงได้เร่งเพิ่มข้าวพันธุ์ใหม่เพื่อแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง แต่เพียง 3 ปีแรก (ปี 2563 - 2565) ไทยสามารถส่งเสริมได้ข้าวพันธุ์ใหม่แล้ว 21 พันธุ์

โดยช่วงปี 2563-2565 กรมการข้าวปรับปรุงข้าวพันธุ์ใหม่และรับรองพันธุ์สำเร็จ 12 พันธุ์ และในช่วงปี 2564-2565 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้จัดประกวดข้าวพันธุ์ใหม่ จำนวน 2 ครั้ง โดยปี 2564 ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ 6 พันธุ์ ที่มีการรับรองพันธุ์และทดลองปลูกในแปลงแล้ว และปี 2565 ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ 3 พันธุ์

สำหรับปี 2566 ข้าวพันธุ์ใหม่ที่ชนะการประกวด 3 พันธุ์ ได้แก่ 1) ข้าวหอมไทย พันธุ์ 65RJ-06 2) ข้าวขาวพื้นนุ่ม พันธุ์ 65RJ-08 และ 3) ข้าวขาวพื้นแข็ง พันธุ์ 65RJ-13 ซึ่งบริษัทรวมใจพัฒนาความรู้ จำกัด (มูลนิธิรวมใจพัฒนา)เป็นผู้ส่งเข้าประกวดทั้ง 3 ชนิดข้าว

นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สามารถดำเนินการได้เกินเป้าหมาย ทั้งเชิงปริมาณ คือ จำนวนพันธุ์ข้าว และเงื่อนไขระยะเวลาที่เร็วกว่าปี 2567 พร้อมทั้งกล่าวถึงกรมการข้าว และกรมการค้าต่างประเทศ ให้ช่วยดำเนินการสนับสนุนเพื่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวต่อไป และขอให้กรมการข้าวเร่งรัดการจดทะเบียนรับรองข้าวพันธุ์ใหม่ที่ชนะการประกวดโดยเร็ว รวมทั้งเร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ และทดลองปลูกในแปลงเกษตรกร เพื่อนำผลผลิตไปเปิดตลาดข้าวโลก ซึ่งคาดว่าการส่งออกข้าวไทยจะดีขึ้น

ไทยจะมีผลิตภัณฑ์จากข้าวที่มีความหลากหลายในตลาดโลกมากขึ้น สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวไทย ปี 2565

ไทยส่งออกข้าว ปริมาณ 7.7 ล้านตัน และคาดว่าปี 2566 จะสามารถส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 8 ล้านตัน โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่ากว่าปี 2565 ทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ดีขึ้น ความต้องการข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น และไทยมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้มากขึ้น และหวังว่าในอนาคตภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวที่ทำให้ไทยมีพันธุ์ข้าวใหม่ๆ จำนวนมาก และตอบสนองความต้องการของตลาดได้นั้น ไทยจะกลับมาเป็นแชมป์ส่งออกข้าว

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) คาดว่าไทยจะส่งออกข้าวได้ 4 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกได้ 3.51 ล้านตัน และตลอดทั้งปี 2566 คาดว่าจะสามารถส่งออกได้มากกว่า 8 ล้านตัน เพราะขณะนี้ทั่วโลกกังวลปัญหาภัยแล้ง

จากปรากฎการณ์เอลนีโญ จึงเร่งนำเข้าข้าว ประกอบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2566 เวียดนามจะมีข้าวเหลือส่งออกไม่มากนัก เพราะช่วงครึ่งปีแรกส่งออกไปแล้วกว่า 4 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าปกติ และปัจจุบันราคาข้าวไทยแข่งขันได้ เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่า โดยคาดว่าราคาข้าวจะสูงขึ้นได้อีก จากปัจจุบันข้าวขาว 5% ไทย ตันละ 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ เวียดนาม ตันละ 510 ดอลลาร์สหรัฐฯ และอินเดีย ตันละ 480 ดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเอลนีโญจะกระทบต่อผลผลิตข้าวไทย แต่เชื่อว่าไทยจะมีข้าวเหลือส่งออกแน่นอน นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้ร่วมกับกรมการค้าต่างประเทศเดินทางไปพบปะเจรจากับผู้นำเข้าข้าวรายสำคัญ เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดข้าวไทย เช่น ฮ่องกง จีน และฟิลิปปินส์ ส่วนการเจรจาขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับจีน ที่ทำสัญญาซื้อข้าวไทย 1 ล้านตัน ปัจจุบันยังคงเหลือข้าวที่จะต้องซื้ออีก 280,000 ตัน นั้น จากการหารือกับคอฟโก (รัฐวิสากิจของจีนที่นำเข้าข้าว) ได้รับการยืนยันจะซื้อจากไทยให้ครบตามสัญญา ที่มา ประชาชาติธุรกิจ ออนไลน์ และ Commerce News Agency Online

ฟิลิปปินส์

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (the US Department of Agriculture: USDA) คาดการณ์ว่า ในปี 2567 ฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวประมาณ 3.8 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสำนักอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry: BPI) ระบุว่า ณ วันที่ 4 พฤษภาคม 2566 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจำนวน 1.3 ล้านตัน ลดลงประมาณร้อยละ 12.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 1.5 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยเป็นการนำเข้าจากเวียดนามมากที่สุด จำนวน 1.2 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 90 ของการนำเข้าข้าวทั้งหมด รองลงมา คือ เมียนมา จำนวน 70,165 ตัน สำหรับส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้าข้าวจากไทย ปากีสถาน อินเดีย จีน และญี่ปุ่น

นาย Leocadio S. Sebastian ปลัดกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ ให้การรับรองว่าในปี 2566 จะไม่เกิดวิกฤตข้าว ในช่วงเริ่มต้นของปรากฎการณ์เอลนีโญ (El Nino) ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรได้เตรียมมาตรการต่างๆ ที่จำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีข้าวเพียงพอในช่วงฤดูแล้งที่อาจจะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2566 รวมถึงการเลื่อนฤดูการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น ซึ่งปกติการเพาะปลูกข้าวของฟิลิปปินส์จะเริ่มในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม โดยกระทรวงเกษตรร่วมกับ National Prevention Administration (NIA) ได้เลื่อนปฏิทินการเพาะปลูกเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวได้ก่อนเดือนพฤศจิกายน เพราะคาดว่าเป็นช่วงที่จะได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากปรากฎการณ์เอลนีโญ นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรได้จัดทำแผนที่พื้นที่เพาะปลูกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ เพื่อเตรียมการให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นแก่เกษตรกร โดยมีการจัดเตรียมมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในพื้นที่เสี่ยง

ทั้งนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 สำนักงานบริหารบรรยากาศ ธรณีฟิสิกส์ และดาราศาสตร์ของฟิลิปปินส์ (PAGASA) ได้ประเมินความน่าจะเป็นของการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก เดือนมิถุนายน -สิงหาคม 2566 คาดว่ามีโอกาสประมาณร้อยละ 80 และจะรุนแรงขึ้นในช่วงหลัง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 - มกราคม 2567 ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 86

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ