สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 26 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2566
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มี เนื้อที่เพาะปลูก 62.977 ล้านไร่ ผลผลิต 26.632 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 423 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง
คาดการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปี ปี 2566/67 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 - กุมภาพันธ์ 2567 โดยเดือนเมษายน-มิถุนายน 2566 มีการเพาะปลูกข้าวนาปี จำนวน 43.731 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 70.12 ของเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ คาดว่าผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566
2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.547 ล้านไร่ ผลผลิต 6.171 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 646 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง
สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าวผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.728 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 61.23 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.398 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 95.81 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1.2 ราคา
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,882 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,849 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,022 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,975 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,850 บาท ราคาลดลงจากตันละ 31,050 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.64
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,690 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 16,330 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.20
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 855 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,061 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 868 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,066 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.50 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 5 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 518 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,212 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 520 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,012 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.38 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 200 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 518 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,212 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 526 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,220 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.52 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 8 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.1592 บาท
2.1 กรมข้าว: แนะนำเกษตรกรทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการใช้น้ำรับมือเอลนีโญ
อธิบดีกรมการข้าวแนะนำเกษตรกรที่จะเพาะปลูกข้าวนาปีให้ทำนาด้วยวิธีเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ต้องขังน้ำในแปลงนาตลอดเวลา แต่รับน้ำเข้าแปลงนาเฉพาะช่วงที่ต้นข้าวต้องการน้ำมากเท่านั้น ทำให้ลดปริมาณการใช้น้ำในการทำนา เพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญสำหรับการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เป็นการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนาให้มีช่วงน้ำขังกับช่วงน้ำแห้ง สลับกันไปในช่วงเวลาที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้รากและลำต้นของต้นข้าวแข็งแรงขึ้น เนื่องจากดินและรากได้รับอากาศ ทำให้ต้นข้าวสามารถดูดปุ๋ยได้ดีขึ้น ช่วยให้เกษตรกรลดการใช้ปุ๋ย เมื่อต้นข้าวดูดอาหารได้ดี ต้นข้าวจะแข็งแรง ลดการระบาดของโรคและแมลง ลดการใช้สารเคมี เป็นการลดต้นทุนการผลิตไปด้วย เมื่อต้นข้าวแข็งแรงจะแตกกอได้มากขึ้น รวงข้าวสมบูรณ์ ได้รับผลผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การทำนาแบบเปียกสลับแห้งเหมาะสำหรับพื้นที่นาในเขตชลประทานที่ควบคุมการระบายน้ำได้ โดยใช้ปริมาณน้ำในการเพาะปลูกน้อยกว่าวิธีปลูกข้าวแบบทั่วไป ร้อยละ 30-50 รวมทั้งยังลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการย่อยสลายอินทรียวัตถุแบบไร้อากาศ เมื่อปลูกข้าวแบบขังน้ำเป็นเวลานานได้อีกด้วย น
อกจากนี้ ประโยชน์ที่ชาวนาจะได้รับจากการทำนาแบบเปียกสลับแห้งอีกประการ คือ การขายคาร์บอนเครดิต ที่สามารถดำเนินการได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเปิดบัญชีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรง ดังนั้นการทำนาแบบเปียกสลับแห้งจึงให้ประโยชน์ทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิต เช่น ค่าสูบน้ำเข้านา ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย เป็นต้น ขณะเดียวกันเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการขายคาร์บอนเครดิตอธิบดีกรมการข้าว กล่าวเสริมว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วง เกษตรกรที่ยังไม่ได้เพาะปลูกควรรอให้ฝนตกสม่ำเสมอก่อน จึงเริ่มเตรียมแปลงเพื่อลดความเสี่ยงที่ข้าวจะเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ ตลอดจนให้สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงที่ฝนตกน้อยด้วย
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
นายสุวิทย์ เผือกจีน ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาท เปิดเผยว่า ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาทสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี และจังหวัดอุทัยธานี ลดต้นทุนการผลิตข้าวตามนโยบายของกรมการข้าว โดยเมื่อปี 2565 โครงการนาแปลงใหญ่ได้ดำเนินการจัดซื้อเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ทำการเกษตร สำหรับปีงบประมาณ 2566 กรมการข้าวดำเนินโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี คุณภาพตรงกับความต้องการของตลาด และโครงการ BCG Model ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณภาพข้าวสู่มาตรฐานการส่งออก สำหรับในส่วนของการถ่ายทอดความรู้เรื่องต้นทุนการผลิตข้าว นั้น ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาทได้จัดการอบรมเกษตรกร เรื่อง วิธีการลดต้นทุนตามที่กรมการข้าวให้คำแนะนำ คือ "3 ต้องทำ 3 ต้องลด" ซึ่ง "3 ต้องทำ" ได้แก่ ต้องปลูกข้าวไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และต้องทำบัญชีฟาร์ม ส่วน "3 ต้องลด" ได้แก่ ลดอัตราการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ลดการใช้ปุ๋ยเคมีให้เหมาะสม และลดการใช้สารเคมี
นางวลัยลักษณ์ กะการดี นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า การส่งเสริมเกษตรกรเรื่องการลดต้นทุนการผลิตข้าว สิ่งที่ต้องทำ คือ จะต้องสำรวจโรคแมลงและจดบันทึกบัญชีฟาร์ม เพื่อให้รู้ต้นทุนว่าเกษตรกรมีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารป้องกันกำจัดโรคกำจัดแมลงมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ทราบว่าสามารถลดต้นทุนในส่วนไหนได้บ้างซึ่งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวชัยนาทได้จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรอย่างสม่ำเสมอ และให้การสนับสนุนปัจจัยการผลิตในโครงการต่างๆ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านข้าวหรือให้คำปรึกษาเรื่องโรคและแมลง เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีความสะดวกสบายในการทำการเกษตร และมีรายได้เพิ่มขึ้น
ที่มา และไทยรัฐออนไลน์
สถาบันวิจัยนโยบายอาหารนานาชาติ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เป็นต้นมา ราคาธัญพืชทั่วโลก โดยเฉพาะข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปรับสูงขึ้น และราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังรัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2565 และราคายังคงสูงต่อเนื่องต่อไปอีกหลายเดือน ขณะที่ราคาข้าวยังคงที่ เนื่องจากผู้ส่งออกรายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากสงคราม แต่ในระยะหลังตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 ราคาข้าวเริ่มปรับขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะราคาส่งออกของผู้ส่งออกรายใหญ่ทั้งสองประเทศ ได้แก่ ไทย และเวียดนามทั้งนี้ ราคาส่งออกข้าวไทยในช่วงไตรมาสแรกของ ปี 2566 เพิ่มขึ้นเป็น 495 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน(ตันละ 17,404 บาท) สูงกว่าค่าเฉลี่ยในปี 2565 ร้อยละ 13 และเวียดนามราคาส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 9.6 สะท้อนถึงภาวะขาดแคลนผลผลิตข้าวที่เริ่มปรากฏชัด เนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อีกสองประเทศ คือ อินเดีย และปากีสถาน ต่างเผชิญกับปัจจัยภายในที่ทำให้ผลผลิตลดลงอย่างรวดเร็ว โดยอินเดียเริ่มมีการจำกัดการส่งออกตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อให้ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการในประเทศ และปากีสถานผลผลิตเสียหายถึงร้อยละ 31 จากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทำให้ในปี 2566 เป็นปีแห่งความท้าทายของตลาดข้าวอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากความต้องการข้าวเพื่อบริโภคเพิ่มสูงสุดขึ้นเป็นประวัติการณ์
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 35.1592 บาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร