สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 10, 2023 13:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 3 - 9 กรกฎาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.977 ล้านไร่ ผลผลิต 26.632 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 423 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565

โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลงผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 0.038 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.15 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.547 ล้านไร่ ผลผลิต 6.171 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 646 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ มีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าวผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.728 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 61.23 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.659 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.18 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,938 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,882 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,083 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,022 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.61

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,790 บาท ราคาลดลงจากตันละ 30,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,870 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 16,690 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.08

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 869 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,273 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 855 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,061 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.64 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 212 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 535 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,638 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 518 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,212 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.28 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 426 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,533 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 518 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,212 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.70 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 321 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.8367 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวปรับสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จากภาวะอุปทานข้าวในประเทศตึงตัว เนื่องจากผู้ส่งออกต่างเร่งหาซื้อข้าวเพื่อเตรียมส่งมอบให้ผู้ซื้อตามสัญญาที่ยังคงค้างการส่งมอบขณะที่ผู้ซื้อต่างประเทศเร่งนำเข้าข้าวเพื่อสำรองไว้สำหรับความมั่นคงด้านอาหาร ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศปรับสูงขึ้น และทำให้ราคาส่งออกปรับสูงขึ้นตาม โดยราคาข้าวขาว 5% อยู่ที่ตันละ 500-510 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 17,418-17,767 บาท) สูงขึ้นจากตันละ 495-505 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 17,244-17,593 บาท) ในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2566

ด้านวงการค้าต่างแสดงความกังวลว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดในปี 2566 จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวในฤดูการผลิตฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง (the summer-autumn crop) มากกว่าที่คาดการณ์ไว้สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (General Statistics Office) ว่าการส่งออกข้าวของเวียดนามในเดือนมิถุนายน 2566 มีประมาณ 650,000 ตัน และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม-มิถุนายน) คาดว่าเวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 4.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้จากการส่งออกข้าวอยู่ที่ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (80,124.41 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 34.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ = 34.8367 บาท

2.2 ฟิลิปปินส์

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า สำนักประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีหลังประเทศฟิลิปปินส์มีข้าวเพียงพอสำหรับใช้ในประเทศ ขณะที่ปลัดกระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์มีข้อสังเกตว่า รัฐบาลคาดว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ดีในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2566 และคาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 หรือประมาณ 8.6 ล้านตัน

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยคาดว่าภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 สต็อกข้าวที่มีประมาณ 1.8 ล้านตันจะเพียงพอสำหรับใช้ภายในสองเดือน นอกจากนี้ มีอุปทานข้าวที่จะเพิ่มขึ้นจากการเก็บเกี่ยวข้าวฤดูกาลใหม่ รวมทั้งจากการนำเข้าที่คาดว่าจะมีขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

2.3 กัมพูชา

นาย Pan Sorasak รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า กัมพูชาได้หารือและจัดทำข้อตกลงพิเศษทวิภาคีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน ซึ่งทำให้กัมพูชาประสบความสำเร็จในการส่งออกไปยังตลาดจีน โดยปี 2566/67 กระทรวงพาณิชย์กำลังเจรจาเพื่อการลงนาม MoU ฉบับที่ 7 จำนวน 500,000 ตัน ซึ่งมีกำหนดลงนามในระยะเวลาอันใกล้นี้

โดยหวังว่าจะช่วยเพิ่มการส่งออกข้าวของกัมพูชาให้มากขึ้น เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมข้าวเป็นภาคอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลงทุนจำนวนมาก เพื่อขยายตลาดข้าวสารของกัมพูชาในต่างประเทศรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่อินโดนีเซียครั้งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาได้ขอให้ประเทศต่างๆ รวมทั้งฟิลิปปินส์ ซื้อข้าวสารจากกัมพูชา รวมทั้งขอให้นิวซีแลนด์ลงทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมข้าว คลังสินค้า โรงอบแห้ง และการแปรรูปเพิ่มเติมในกัมพูชา เพื่อขยายการส่งออกข้าวสารไปยังตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ การเจรจาสัญญาส่งออกข้าวสารเป็นการหารือที่ซับซ้อนเกี่ยวกับเงื่อนไขและราคา อย่างไรก็ตาม กัมพูชามีแผนการที่จะสำรวจตลาดเพิ่มเติม โดยชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของสิงคโปร์ในการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าที่สำคัญสำหรับเอเชียตะวันออกกลาง และภูมิภาคอื่นๆ

นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ยังได้กล่าวชื่นชมสหพันธ์ข้าวกัมพูชาที่ทำงานร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะบริษัท Green Trade จนนำไปสู่การเปิดตลาดข้าวในฟิลิปปินส์ และขอให้ดำเนินกิจกรรมนี้ต่อไปกับ ประเทศอื่นๆ ด้วย

ทางด้าน นางมาเรีย อเมลลิตา อควิโน เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำกัมพูชา กล่าวชื่นชมการเติบโตทางการค้าข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกข้าวกัมพูชาไปยังตลาดฟิลิปปินส์ที่ริเริ่มโดยกลุ่มบริษัทอาหารเขมรและผู้นำเข้าฟิลิปปินส์ เพื่อเป็นต้นแบบในการแสดงศักยภาพของข้าวกัมพูชาให้ผู้นำเข้ารายอื่นสั่งซื้อข้าวจากกัมพูชา

ขณะที่ นาย Chan Sokheang ประธานสหพันธ์ข้าวกัมพูชา (Cambodian Rice Federation: CRF) กล่าวชื่นชมกระทรวงพาณิชย์ และความคืบหน้าของสหพันธ์ข้าวกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันกัมพูชามีโควตาส่งออกข้าวไปยังตลาดจีน จำนวน 400,000 ตัน โดยกำหนดเป้าหมายส่งออกให้ครบ 1 ล้านตัน ภายในปี 2568 ดังนั้น สหพันธ์ข้าวกัมพูชาจึงเริ่มวางแผนกลยุทธ์อย่างจริงจัง โดยในเดือนตุลาคม 2566 จะมีการจัดงานที่เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นหนึ่งในงานแสดงอาหารชั้นนำของโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 บริษัท Khmer Food Group สามารถส่งออกข้าวสาร จำนวน 2,575 ตัน ไปยังตลาดฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดส่งออกข้าวครั้งสำคัญ โดยการผลักดันของกลุ่มผู้ผลิตอาหารของกัมพูชา และความพยายามของรัฐบาลที่หาตลาดสำหรับข้าวกัมพูชา

นอกจากนี้ นาย Chan Pich ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท Signatures of Asia ได้สนับสนุนแผนการขยายการส่งออก โดยเน้นย้ำถึงความแข็งแกร่งของตลาดจีนที่มีการซื้อข้าวสารจากกัมพูชาเพิ่มขึ้น

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ