สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 17, 2023 13:20 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 10 - 16 กรกฎาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มี เนื้อที่เพาะปลูก 62.977 ล้านไร่ ผลผลิต 26.632 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 423 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลงผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 0.038 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.15 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.547 ล้านไร่ ผลผลิต 6.171 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 646 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าวผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.728 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 61.23 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.659 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.19 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,954 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,938 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,326 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,083 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.41

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 30,850 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 30,790 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 16,830 บาท ราคาลดลงจากตันละ 16,870 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 868 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,995 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 869 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,273 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 278 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 534 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,453 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 535 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,638 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 185 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 531 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,349 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 532 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,533 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.19 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 184 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.5564 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 ไทย: เน้นการผลิตข้าวพื้นนุ่มเพื่อสร้างโอกาสส่งออกไปยังประเทศฟิลิปปินส์

นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การค้าในต่างประเทศ ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นั้น ได้รับรายงานจากนางสาวจันทนา โชติมุณี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา ถึงสถานการณ์การบริโภคข้าวในประเทศฟิลิปปินส์ว่า ฟิลิปปินส์เพาะปลูกข้าวเพื่อการบริโภคในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและมีพื้นที่ราบน้อย ต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้ง ทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด และพายุไต้ฝุ่นปีละกว่า 20 ลูก นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีอัตราการเติบโตของจำนวนประชากรสูง จึงต้องเพิ่มผลผลิตข้าวทุกปีให้ทันกับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานด้านชลประทานและเทคโนโลยีการเกษตรที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ศักยภาพในการผลิตข้าวของฟิลิปปินส์ไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งจากรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์มีแนวโน้มการบริโภคข้าวในปี 2566-2567 สูงถึง 16.5 ล้านตันแต่สามารถผลิตข้าวได้เพียง 12.5 ล้านตัน ทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวจำนวนมาก และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับการเปิดเสรีนำเข้าข้าวในปี 2562 ส่งผลให้ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน

ดังนั้น ฟิลิปปินส์จึงเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย อย่างไรก็ตาม ข้าวไทยยังคงมีปัจจัยท้าทายในการขยายการส่งออกข้าวมายังฟิลิปปินส์ คือ ปัจจัยด้านราคา เนื่องจากชาวฟิลิปปินส์นิยมบริโภคข้าวขาวเป็นหลัก ซึ่งราคาถูกกว่าข้าวชนิดอื่นๆ และกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้มีรายได้น้อย ทำให้ราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ รวมทั้งพันธุ์ข้าวของไทยยังไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยปัจจุบันชาวฟิลิปปินส์นิยมรับประทานข้าวขาวพื้นนุ่ม ในขณะที่ข้าวขาวของไทยยังเป็นพื้นแข็งและมีราคาแพงกว่า

นายบุณย์ธีร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นโอกาสสำหรับการส่งออกข้าวไทยมายังตลาดฟิลิปปินส์เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2565 ไทยส่งออกข้าวมายังฟิลิปปินส์ปริมาณ 185,714 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากปี 2564 และคาดว่าในปี 2566 แนวโน้มการส่งออกข้าวไทยมายังฟิลิปปินส์จะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบนโยบายว่า ต้องการทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการผลิต การตลาดของข้าวและผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก ใช้ยุทธศาสตร์ ?ตลาดนำการผลิต? มุ่งพัฒนา 4 ด้าน ทั้งตลาดในประเทศ ตลาดต่างประเทศ การผลิต และการแปรรูป รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมที่ใช้ข้าวเป็นวัตถุดิบ โดยจะเร่งผลิตข้าวที่มีความหลากหลายเพื่อสนองต่อความต้องการและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันข้าวไทยในตลาดโลก

ที่มา มติชนออนไลน์

2.2 เมียนมา

สหพันธ์ข้าวของเมียนมา (the Myanmar Rice Federation: MRF) รายงานว่า ในช่วงไตรมาสแรก (เมษายน-มิถุนายน 2566) ของปีงบประมาณ 2566/67 (เมษายน 2566-มีนาคม 2567) เมียนมาส่งออกข้าวสารและข้าวหัก จำนวนรวม 261,079 ตัน ลดลงร้อยละ 52.58 เมื่อเทียบกับจำนวน 550,547 ตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2565/66 ประกอบด้วย ข้าวสาร 122,243 ตัน และข้าวหัก 138,836 ตัน เป็นการส่งออกทางทะเล จำนวน 246,162 ตัน ส่วนที่เหลือส่งออกทางแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ เมียนมาส่งออกข้าวสารและข้าวหักไปยังประเทศต่างๆ เช่น จีน เยอรมนี ตุรกีสเปน บัลแกเรีย โปแลนด์ เบลเยี่ยม โปรตุเกส และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น โดยเมื่อปีงบประมาณ 2565/66 เมียนมาส่งออกข้าวสารและข้าวหัก รวมประมาณ 2.2 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 853.72 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 29,501 บาท)

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.5564 บาท

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในปัจจุบันยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 หรือปรับสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี (ระหว่างปี 2561-2566) ท่ามกลางภาวะอุปทานข้าวในประเทศตึงตัว ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศปรับขึ้นราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำ (The Minimum Support Prices: MSP) สำหรับปีการตลาด 2566/67 (เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2567) เพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 7 จากปีการตลาด 2565/66 ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกที่ผู้ค้าข้าวซื้อเพื่อนำไปสีแปรสภาพเป็นข้าวสารสำหรับส่งมอบให้กับประเทศผู้ส่งออกมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม แอฟริกายังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาข้าวนึ่ง 5% อยู่ที่ตันละ 412-420 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 14,237-14,514 บาท) เพิ่มขึ้นจาก ตันละ 409-416 เหรียญสหรัฐฯ (ตันละ 14,134-14,375 บาท) ในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม 2566

ผู้ค้าข้าวในนครมุมไบ กล่าวว่า ความต้องการข้าวจากต่างประเทศมีเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาข้าวในประเทศยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณข้าวเปลือกในตลาดมีจำกัด ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายขึ้นราคารับซื้อข้าวเปลือกขั้นต่ำสำหรับปีการตลาด 2566/67 ที่จะเริ่มในช่วงเดือนตุลาคม 2566 จึงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ราคาส่งออกข้าวต้องปรับขึ้นตาม

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า จากการที่รัฐบาลอินเดียได้พิจารณาเพิ่มราคาอุดหนุนข้าวเปลือกขั้นต่ำในปีการตลาด 2566/67 ช่วงฤดูฝน (Kharif Crop) ที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่ออุปทานและราคาข้าวทั่วโลกนั้นส่งผลให้ราคาข้าวทั้งในประเทศและราคาส่งออกข้าวของอินเดียปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.5564 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ