สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 24, 2023 14:22 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 17 - 23 กรกฎาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.977 ล้านไร่ ผลผลิต 26.632 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 423 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียวสำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลงผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 0.038 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.15 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือน มิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.547 ล้านไร่ ผลผลิต 6.171 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 646 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าวผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.728 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 61.23 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.659 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.19 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,967 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,954 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.09

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,491 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,326 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.59

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,550 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 30,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.27

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 17,410 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 16,830 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.45

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนกรกฎาคม 2566 ผลผลิต 520.768 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 512.493 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2565/66 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.61

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนกรกฎาคม 2566มีปริมาณผลผลิต 520.768 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.61 การใช้ในประเทศ 523.911 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.49 การส่งออก/นำเข้า 56.338 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.24 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 170.415 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.81

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา จีน อินเดีย ปากีสถาน ตุรกี อุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล ปารากวัย ไทย และเวียดนาม
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังกลาเทศ จีน ไอเวอรี่โคสต์ เอธิโอเปีย อียู กานา อิหร่าน มาเลเซีย เม็กซิโก โมซัมบิก เนปาล ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย อิรัก เคนยา ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย บังกลาเทศ และเวียดนาม

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) อินเดีย

อินเดีย เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ที่ครองส่วนแบ่งการค้าถึงร้อยละ 40 ของการค้าข้าวโลก กำลังพิจารณาจำกัดการส่งออกข้าวในหลายสายพันธุ์อีกครั้ง ซึ่งหากมีการดำเนินการ อาจส่งผลให้ราคาอาหารหลักทั่วโลกปรับสูงขึ้น ท่ามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวนจากปรากฏการณ์เอลนีโญ

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลอินเดียกำลังหารือถึงแผนการห้ามส่งออกข้าวทุกสายพันธุ์ที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ซึ่งอาจจะส่งผลให้อินเดียส่งออกข้าวลดลงถึงร้อยละ 80 ของปริมาณการส่งออกข้าวที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าจะทำให้ราคาข้าวในประเทศปรับลดลง แต่เสี่ยงที่จะส่งผลให้ราคาข้าวทั่วโลกปรับสูงขึ้น ซึ่งข้าวเป็นอาหารหลักของประชากรส่วนใหญ่ในโลก โดยประชากรในภูมิภาคเอเชียบริโภคข้าวประมาณร้อยละ 90 ของอุปทานข้าวโลก

อย่างไรก็ตาม อินเดียเคยมีมาตรการห้ามส่งออกปลายข้าว และเรียกเก็บภาษีร้อยละ 20 สำหรับการส่งออกข้าวขาวและข้าวกล้อง รวมทั้งข้าวสาลีและน้ำตาล ในช่วงที่เกิดการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน เมื่อปี 2565 ซึ่งส่งผลให้ราคาอาหารหลัก ได้แก่ ข้าวสาลี และข้าวโพด ปรับราคาสูงขึ้น

ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์

2) แอฟริกาใต้

แอฟริกาใต้ หนึ่งในประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญ กำลังเผชิญปัญหาด้านราคาผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้าที่สูงขึ้น เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินแรนด์อ่อนค่าอย่างมาก โดยสินค้าที่แอฟริกาใต้นำเข้าในปริมาณมาก คือ ข้าว ที่มีการนำเข้าประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี

นายวานดิล ซิห์โลโบ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากหอการค้าธุรกิจการเกษตร กล่าวว่า ในฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ราคาข้าวทั่วโลกปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องขณะที่อุปทานมีจำกัด ประกอบกับเมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ปริมาณการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น โดยราคาซื้อขายข้าวเดือนพฤษภาคม 2566 ของประเทศผู้ผลิตข้าว ได้แก่ ไทย เวียดนามและปากีสถาน มีราคาต่ำกว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (13,604 บาทต่อตัน) ยกเว้นอินเดียที่มีราคามากกว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (17,005 บาทต่อตัน)

ทั้งนี้ คาดว่าราคาข้าวทั่วโลกจะปรับสูงขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ เนื่องจากคาดการณ์ว่าในฤดูกาลผลิตปี 2566/67 ผลผลิตข้าวทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 521 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวหลัก ได้แก่ อินเดีย เวียดนาม สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน จีน อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาข้าวในปี 2567 ปรับลดลง และหากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินแรนด์แข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในแอฟริกาใต้ ขณะเดียวกันประเทศกำลังเข้าสู่สภาวะเอลนีโญในช่วงฤดูร้อนปี 2566/67 ที่คาดว่าจะมีความรุนแรงและกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

หมายเหตุ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.0105 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ