สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 31, 2023 15:16 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 24 - 30 กรกฎาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.977 ล้านไร่ ผลผลิต 26.632 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 423 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 0.038 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.15 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าว ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.728 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 61.23 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.659 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.19 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,004 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,967 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.26

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,701 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,491 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.00

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,200 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 31,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.06

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 17,825 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 17,410 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.38

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 896 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,569 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 868 ดอลลาร์สหรัฐฯ (29,995 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.23 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 574 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 572 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,515 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 534 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,453 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 7.12 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,062 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 569 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,413 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 531 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,349 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 7.16 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,064 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.1175 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 ไทย

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยมีความวิตกกังวลว่า หลังจากที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกประกาศงดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ เนื่องจากอาจกระทบต่อราคาข้าวในประเทศของไทยที่ปรับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10ผู้ค้าข้าวไทยทั้งผู้ส่งออกและโรงสีมีความเห็นว่า ตลาดข้าวโลกอาจจะชะลอตัวหลังจากนี้ จึงต้องติดตามสถานการณ์ของรัฐบาลอินเดียว่าจะมีการผ่อนปรนคำประกาศดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งการส่งออกข้าวไทยคงได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของการกำหนดราคาข้าวแต่ละชนิดที่อยู่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขาย อาจจะต้องเลื่อนออกไปเพื่อกำหนดราคาให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นโอกาสที่ไทยจะสามารถทวงแชมป์ผู้ส่งออกข้าวกลับมาได้ แต่ไทยยังมีเวียดนามเป็นคู่แข่งที่สำคัญ เนื่องจากเวียดนามมีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่าไทย ขณะที่ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยได้เร่งหาวิธีเพื่อเตรียมการแก้ไขปัญหา หากราคาข้าวในประเทศปรับสูงขึ้นตามราคาส่งออก รวมทั้งมีปัจจัยจากในปี 2566 ไทยประสบปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตข้าวลดลง

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

2.2 อินโดนีเซีย

สำนักข่าว Antara News รายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซีย ระบุว่า สต็อกข้าวของประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 ซึ่งเป็นช่วงที่คาดว่าจะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงที่สุด โดยในเดือนกรกฎาคม 2566 มีการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 5 ล้านไร่ และเดือนสิงหาคม 2566 คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้มากกว่า 5 ล้านไร่ ดังนั้น สต็อกข้าวของอินโดนีเซียยังคงมีมากกว่า 2 ล้านตัน

ขณะที่ นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เฝ้าระวังปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ด้วยการคำนวณเพียงอย่างเดียว ควรมีการปรับแนวทางการดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และขอให้ทุกกระทรวงให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าโภคภัณฑ์รวมทั้งข้าวด้วย

อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน BULOG ที่มีหน้าที่ดูแลสต็อกข้าวของประเทศ ได้สำรองข้าวไว้ในสต็อกแล้วประมาณ 750,000 ตัน จากการจัดหาข้าวจากเกษตรกรในประเทศ ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการแม้ว่าผลผลิตในช่วงปลายปีจะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และมีรายงานเพิ่มเติมว่า BULOG ยังได้รับอนุญาตให้เพิ่มอุปทานข้าวโดยการนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ จำนวน 300,000 ตัน หลังจากที่มีการนำเข้าข้าวแล้วประมาณ 500,000 ตัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ