สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 7, 2023 13:15 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 31 กรกฎาคม - 6 สิงหาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.977 ล้านไร่ ผลผลิต 26.632 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 423 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ เดือนกรกฎาคม 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 0.038 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 0.15 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าว

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.728 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 61.23 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.659 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.19 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,112 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,004 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.77

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 10,813 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,701 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.04

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,883 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 32,200 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.12

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 18,783 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 17,825 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.37

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 ไทย

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ติดตามสถานการณ์ข้าวอย่างใกล้ชิดหลังจากที่อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาว ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566

โดยมอบหมายให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการค้าต่างประเทศ ติดตามแนวโน้มการส่งออกข้าว ปริมาณความต้องการข้าวจากต่างประเทศ และสถานการณ์ด้านราคาส่งออก กรมการค้าภายใน ติดตามสถานการณ์สต็อกข้าว และราคาข้าวเปลือกในประเทศ และสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศหรือทูตพาณิชย์ ติดตามนโยบายและมาตรการในเรื่องข้าวของแต่ละประเทศ เพื่อกระทรวงพาณิชย์จะได้นำข้อมูลที่ได้มาจัดทำแผนและมาตรการในเรื่องข้าวของไทยต่อไป

โดยเบื้องต้นคาดว่าไทยจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนข้าว เพราะเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวที่สำคัญ และมีผลผลิตเพียงพอสามารถส่งออกได้ โดยในปี 2566 อาจจะส่งออกข้าวได้มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 8 ล้านตัน และราคาข้าวในประเทศจะปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกร ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์จากที่มีการประเมินว่าภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบต่อเนื่อง 1-3 ปี ซึ่งอาจจะกระทบต่อการเพาะปลูกข้าวของไทย ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง โดยล่าสุดได้มีการหารือกับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อร่วมกันจัดทำแผนการป้องกันปัญหาจากการลดลงของผลผลิต

ที่มา ไทยโพสต์

2.2 เวียดนาม

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า เวียดนามไม่มีแผนที่จะจำกัดการส่งออกข้าว หลังจากที่อินเดียควบคุมการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศที่ปรับสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดจากเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนกระทบต่อปริมาณผลผลิตจนทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับอุปทานข้าวไปทั่วโลก

นายเหวียน หง็อก นาม ประธานสมาคมอาหารเวียดนาม ตัวแทนผู้แปรรูปและส่งออกข้าวของประเทศ กล่าวว่า บริษัทส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงส่งออกข้าวตามปกติ และการเก็บเกี่ยวพืชผลในฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วงยังคงดำเนินต่อไปในเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และไทย โดยราคาข้าวเวียดนามปรับสูงขึ้นนับตั้งแต่อินเดียระงับส่งออกเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ทำให้ราคาข้าว 5% อยู่ที่ตันละ 550-575 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 18,804-19,659 บาท) เป็นราคาสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2554 ที่ตันละ 515-525 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 17,607-17,949 บาท)

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ได้สั่งการให้สมาคมอาหารเวียดนามตรวจสอบให้มั่นใจว่ามีข้าวในประเทศเพียงพอสำหรับความมั่นคงทางอาหาร และขอให้ผู้ค้าข้าวรักษาสมดุลระหว่างการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวในประเทศ สำหรับการส่งออกข้าวของเวียดนามในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 ปริมาณ 4.84 ล้านตัน มูลค่า 2,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (88,207 ล้านบาท) ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 18.7 และร้อยละ 29.6 ตามลำดับ

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.1888 บาท

2.3 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

กระทรวงเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ออกคำสั่งห้ามส่งออกข้าว และห้ามส่งข้าวกลับไปนอกประเทศ (Re-export) ระยะเวลา 4 เดือน โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งคำสั่งดังกล่าวครอบคลุมเขตปลอดอากรในประเทศ และบังคับใช้กับข้าวทุกชนิด ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวขาว ข้าวซ้อมมือ และปลายข้าว

ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องการจะส่งออกข้าวหรือส่งข้าวกลับไปนอกประเทศ จะต้องขอใบอนุญาตส่งออกในแต่ละครั้งจากกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งคำสั่งห้ามดังกล่าวจะขยายระยะเวลาออกไปโดยอัตโนมัติ ยกเว้นว่าจะมีมติยกเลิกการบังคับใช้ คำสั่งนี้จัดทำขึ้นหลังจากที่รัฐบาลอินเดียมีมติระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติ เนื่องจากราคาข้าวในประเทศปรับสูงขึ้น และผลผลิตได้รับความเสียหายจากฝนที่ตกหนักในฤดูมรสุม

ที่มา ซินหัวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ