สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 15, 2023 15:03 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 7 - 13 สิงหาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.977 ล้านไร่ ผลผลิต 26.632 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 423 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.102 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.16 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

มีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าว ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.728 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 61.23 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - สิงหาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.711 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.86 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,305 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,112 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.37

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,044 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 10,813 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.14

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 32,883 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.24

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,850 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 18,783 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 11.00

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 938 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,562 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้น

จากตันละ 896 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,569 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.69 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,993 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 648 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,495 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 572 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,515 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 13.29 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 2,980 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 646 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,245 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 569 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,413 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 13.53 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 2,832 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7141 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 อินโดนีเซีย

สำนักข่าว AFP รายงานว่า ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐจัดหาพื้นที่สำหรับปลูกข้าวเพิ่มขึ้น ภายหลังจากประชุมเกี่ยวกับการเตรียมการจัดหาข้าวเพื่อสำรองไว้ภายในประเทศ

นายชาห์รุล ยาซิน ลิมโป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย กล่าวว่า ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศมีความพร้อมในการเตรียมที่ดินเพื่อปลูกข้าว โดยมั่นใจว่าถ้าอินโดนีเซียสามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าว 3.125 ล้านไร่ จะสามารถ ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์เอลนีโญได้เป็นอย่างดี เนื่องจากคาดว่าสต็อกข้าวที่มีอยู่อาจได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2566 ทำให้ข้าวประมาณ 300,000-1,200,000 ตัน ไม่เพียงพอสำหรับบริโภคในประเทศ ดังนั้น หากสามารถจัดหาพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นได้สำเร็จตามเป้าหมาย คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านตันข้าวเปลือก หรือประมาณ 1.5 ล้านตันข้าวสาร

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

2.2 สิงคโปร์

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (the Singapore Food Agency : SFA) กำลังดำเนินการขอยกเว้นจากการห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติของอินเดีย โดยระบุว่า สิงคโปร์นำเข้าข้าวขาวที่ไม่ใช่ ข้าวบาสมาติจากอินเดีย ประมาณร้อยละ 17 ของปริมาณข้าวที่นำเข้าทั้งหมด และในปี 2565 มีการนำเข้าข้าวจากอินเดียประมาณร้อยละ 40 ของปริมาณข้าวที่นำเข้าทั้งหมด ซึ่งในแต่ละปีสิงคโปร์นำเข้าข้าวจากแหล่งต่างๆ ประมาณ 30 ประเทศ

ทั้งนี้ ภายใต้โครงการเก็บสต็อกข้าวของสิงคโปร์ (Singapore?s Rice Stockpile Scheme) กำหนดให้ผู้นำเข้าข้าว ต้องมีสินค้าคงคลังสำรองไว้ไม่น้อยกว่าสองเท่าของการนำเข้าข้าวต่อเดือน เพื่อช่วยให้มั่นใจว่าจะมีข้าวเพียงพอสำหรับจำหน่ายในประเทศ

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ