สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 21, 2023 15:35 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 14 - 20 สิงหาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.977 ล้านไร่ ผลผลิต 26.632 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 423 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่

นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.102 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.16 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม

โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าว ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.728 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 61.23 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - สิงหาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.711 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.86 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,662 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,305 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.50

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,696 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,044 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.91 2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 33,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.18

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,200 บาท ราคาลดลงจากตันละ 20,850 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.12 3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 926 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,549 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 938 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,562 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.28 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 13 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 612 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,512 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 648 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,495 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.56 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 983 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 609 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,406 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 646 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,245 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.73 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 1,019 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.1499 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 ไทย

สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย รายงานสถานการณ์ส่งออกข้าวหลังจากที่อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวในประเทศ ส่งผลให้ราคาข้าวไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ปรับสูงขึ้นกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน โดยราคาข้าวหอมไทยปรับสูงขึ้น 145 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และข้าวขาว 5% ปรับสูงขึ้น 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การส่งออกข้าวในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 สถานการณ์อาจจะมีความไม่แน่นอน จากการที่รัฐบาลอินเดียประกาศยุติส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติเพื่อเพิ่มปริมาณข้าวในประเทศ และสกัดการขึ้นราคาข้าวในประเทศที่สูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี ทำให้ตลาดค้าข้าวโลกหยุดชะงักเพื่อรอดูสถานการณ์ เพราะหลังจากอินเดียประกาศยุติส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์บาสมาติ ราคาข้าวปรับสูงขึ้นทันที อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จะสามารถส่งออกข้าวได้ประมาณ 4 ล้านตัน โดยที่ผ่านมาช่วงครึ่งปีแรกส่งออกปริมาณ 4.2 ล้านตัน รวมทั้งปีคาดว่าจะส่งออกได้ปริมาณ 8 ล้านตัน ตามเป้าหมาย แต่คงต้องติดตามสถานการณ์อื่นๆ ด้วย เช่น ปัญหาเอลนิโญที่ทำให้เกิดภัยแล้งรุนแรง โดยจะต้องติดตามผลกระทบต่อผลผลิตข้าวไทยซึ่งช่วงเดือนกรกฎาคม ? สิงหาคม 2566 ยังคงมีฝนตกในพื้นที่ จึงต้องรอดูปริมาณฝนตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป เพราะขณะนี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ ซึ่งหากฝนทิ้งช่วงจะมีความเสียหายต่อผลผลิตข้าวนาปีที่จะเก็บเกี่ยวช่วงเดือนธันวาคม 2566

ขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวในช่วงครึ่งปีแรกได้ปริมาณมาก ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลังอาจจะส่งออกได้น้อยลงไม่เกิน3 ล้านตัน แต่ล่าสุดสมาคมผู้ส่งออกข้าวเวียดนามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาวางแผนการส่งออก และความต้องการบริโภคข้าวภายในประเทศ ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าให้ส่งออกข้าวได้เหมือนเดิม โดยยังไม่มีการจำกัดปริมาณส่งออก อย่างไรก็ตาม ถ้าเวียดนามมีการระงับการส่งออกจะทำให้ราคาส่งออกข้าวปรับสูงขึ้น1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ถึงแม้จะส่งผลดีต่อข้าวไทยก็ตาม แต่ราคาที่ปรับสูงขึ้นจะทำให้ขายข้าวได้ลำบากยิ่งขึ้น

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

2.2 จีน

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 จีนเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมหนักจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นทกซูรี ส่งผลให้กรุงปักกิ่งมีฝนตกหนักที่สุดในรอบ 140 ปี รวมทั้งระดับน้ำในภูมิภาคมองโกเลีย มณฑลจี๋หลิน และเฮยหลงเจียง กำลังอยู่ในขั้นวิกฤต โดยทั้ง 3 ภูมิภาคดังกล่าว สามารถผลิตข้าวได้ร้อยละ 23 ของปริมาณผลผลิตข้าวในประเทศจีน

ฟิทช์ เรทติ้งส์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ รายงานว่า จีนซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก กำลังเผชิญกับปัญหาฝนตกหนักและมีน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นทกซูรี ในภูมิภาคทางตอนเหนือ-ตะวันออกของจีน และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นขนุนที่กำลังเคลื่อนตัวสู่พื้นที่ทางตอนเหนือของจีนซ้ำอีกด้วย ซึ่งภาวะฝนตกหนักทำให้มีน้ำท่วมขังในไร่นาส่งผลให้ในปี 2566 จีนมีปริมาณผลผลิตข้าวลดลงได้

จากสถานการณ์ดังกล่าว อาจจะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศจีนปรับสูงขึ้น และจีนอาจจะต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เพื่อชดเชยผลผลิตข้าวภายในประเทศที่ลดลง นอกจากนี้อาจจะส่งผลให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับสูงขึ้นได้เช่นกัน

ที่มา Money & Banking Online

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ