สศท.7 ชู ศกอ. จ.สิงห์บุรี ทำเกษตรผสมผสาน สร้างเครือข่าย พัฒนาสู่ศูนย์เรียนรู้
นางอังคณา พุทธศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า การเกษตรแบบผสมผสานเป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เกษตรกรให้ความสนใจ เพราะในพื้นที่ที่ทำการเกษตรนั้น สามารถมีผลผลิตหลายชนิดออกขายสู่ตลาดได้ ตั้งแต่ผลผลิตที่เป็นพืชผักไม้ผลตลอดไปจนถึงในเรื่องของการเลี้ยงสัตว์ จึงทำให้เกษตรกรมีรายได้หลากหลาย และสำคัญที่สุดคือผู้ปลูกต้องได้ประโยชน์มากที่สุด แล้วยังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแปรปรวน เกษตรผสมผสานจึงเป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างรายได้เพื่อนำไปสู่การดำรงชีพที่มั่นคงสำหรับเกษตรกร
จากต้นแบบของเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) ของ สศก. ที่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตรผสมผสานแบบปลอดสารพิษ คือ นางเชิงเชาว์ เพ็ชรักษ์ ศกอ. ตำบลพักทัน อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี และเป็นประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี รวมถึงยังเป็นตัวแทนด้านเกษตรอาสาให้กับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง สศท.7 ได้ลงพื้นที่ ศพก. อำเภอบางระจัน เพื่อติดตามความสำเร็จการทำเกษตรปลอดสารพิษ โดยสัมภาษณ์นางเชิงเชาว์บอกเล่าว่า เดิมนั้นตนทำการเกษตรโดยปลูกข้าวเป็นพืชหลักและปลูกผักสวนครัวเป็นพืชเสริมเล็กน้อย ต่อมาปี 2562 ประสบปัญหาภัยแล้งจึงขยายพื้นที่ปลูกผักปลอดสารพิษโดยใช้สารชีวภาพ เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อยและเป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันพื้นที่เกษตรกรรมนางเชิงเชาว์ มีทั้งหมด 26 ไร่ ได้จัดสรรพื้นที่กิจกรรมการเกษตรที่สำคัญที่สร้างรายได้หมุนเวียน แบ่งเป็น นาข้าวปลอดสารพิษ พื้นที่ปลูก 19 ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวพันธุ์ กข 43 ซึ่งเป็นข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลค่อนข้างต่ำเหมาะสำหรับคนเป็นเบาหวานและรักสุขภาพ ปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษแบบยกแคร่ พื้นที่ปลูก 2 งานจำนวน 35 แคร่ ขนาดแคร่ละ 6 x 1.2 เมตร ได้แก่ เรคโอ๊ค กรีนโอ๊ค คอส อิตาลี และผักกินใบ อาทิ คะน้า กวางตุ้ง ผักชี ผักกาดขาว ผักกินหัว เช่า แครอท หัวไชเท้า แรดิช และเพาะเลี้ยงไก่ไข่อารมณ์ดี พื้นที่เลี้ยง 1 งาน จำนวน 100 ตัว โดยเลี้ยงแบบปล่อยธรรมชาติ ให้อาหารที่ผสมเองโดยใช้เศษผักที่ตัดแต่งจากการจำหน่ายแบบ Zero waste และปลายข้าว รำละเอียด และเลี้ยงกบกระชังบก จำนวน 50 ตารางเมตร เพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่าย นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนอื่น ฯ แบ่งเป็นที่พักอาศัย สระน้ำ และปลูกพืชผักทั่วไป
กิจกรรมหลักทางการเกษตรที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี คือ การทำนาข้าวปลอดสารพิษ โดย 1 ปี ปลูกได้ 2 รอบการผลิต มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,130 บาท/ไร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิตเฉลี่ย 520 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ราคาขายตลอดทั้งปี ณ ไร่นา ความชื้น 15 % อยู่ที่ 23,000 บาท/ตัน เกษตรกรได้ผลตอบแทน 11,960 บาท/ไร่/รอบการผลิต คิดเป็นผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย(กำไร) 8,830 บาท/ไร่/รอบการผลิต โดยผลผลิตร้อยละ 70 จำหน่ายที่หน้าสวน ผลผลิตร้อยละ 25 จำหน่ายผ่านทางออนไลน์ เพจมณีรักษ์ ฟาร์ม และผลผลิตร้อยละ 5 สำหรับบริโภค และการปลูกผักปลอดสารพิษแบบยกแคร่ 1 ปี ปลูกได้ 5 รอบการผลิต ที่มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 756 บาท/แคร่/รอบการผลิต ให้ผลผลิต 10 - 15 กิโลกรัม/แคร่/รอบการผลิต ได้ผลตอบแทน 1,750 บาท/แคร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 994 บาท/แคร่/รอบการผลิต ผักที่เกษตรกรผลิตร้อยละ 50 จำหน่ายที่หน้าสวน และจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ เพจมณีรักษ์ ฟาร์ม ผลผลิตร้อยละ 30 ส่งขายที่ตลาดเกษตรกรของจังหวัด และผลผลิต ร้อยละ 20 ส่งขายให้กับ Tops Supermarket ประมาณ 3 ครั้ง/สัปดาห์ ซึ่งทางห้างจะเน้นสินค้าที่มีความหลากหลาย สะอาด สดใหม่
ทั้งนี้ แปลงเกษตรแบบผสมผสานของนางเชิงเชาว์ ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ของอำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งมีเป้าหมายจะพัฒนาเป็นจุดท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรม ร่วมกับ ศพก. อื่นๆ ให้ผู้ที่สนใจการทำการเกษตรทฤษฎีใหม่แบบผสมผสานโดยใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาเรียนรู้และปฏิบัติและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเพื่อกระจายรายได้ให้แก่คนในชุมชนอีกด้วย มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้กับ ศพก. รวมถึงการสร้างภาคีเครือข่ายในการดำเนินงานด้านต่างๆของ ศพก. และยังถ่ายทอดความรู้ให้กับคนในชุมชนและบุคคลทั่วไปอย่างต่อเนื่องโดยมีผู้สนใจเข้ามาศึกษาดูงานกว่า 800 คน/ปี หากท่านใดสนใจหรือมีความประสงค์จะเข้าศึกษาดูงานสามารถติดต่อได้ที่ นางเชิงเชาว์ เพ็ชรักษ์ ประธานศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี โทร 08 9538 4361 ยินดีต้อนรับทุกท่าน
***********************************
ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 จังหวัดชัยนาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร