สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 28, 2023 13:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 21 - 27 สิงหาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 2.102 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 8.16 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าว

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - สิงหาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.711 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.86 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,824 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,662 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.10

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 11,973 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,696 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.37

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,350 บาท ราคาลดลงจากตันละ 34,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.47

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,750 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 20,200 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.72

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนสิงหาคม 2566 ผลผลิต 520.941 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 512.824 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2565/66 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.58

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนสิงหาคม 2566 มีปริมาณผลผลิต 520.941 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.58 การใช้ในประเทศ 522.952 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.28 การส่งออก/นำเข้า 52.898 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.60 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 171.776 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 1.16

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา จีน ปากีสถาน ตุรกี อุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ บราซิล อินเดีย ปารากวัย ไทย และเวียดนาม
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังกลาเทศ บูร์กินาฟาโซ กานา อิหร่าน มาเลเซีย เม็กซิโก ไนจีเรีย ซาอุดิอาระเบีย เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย อิรัก เคนยา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ไทย ไนจีเรีย และบังกลาเทศ

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) เวียดนาม

เวียดนาม เป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดียและไทย ได้ประกาศยุทธศาสตร์การส่งออกข้าว และกำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าวลดลงเหลือปีละ 4 ล้านตัน ภายในปี 2573 หรือลดลงร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับการส่งออกปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 7.10 ล้านตัน โดยให้เหตุผลว่า ?เพื่อส่งเสริมการส่งออกข้าวที่มีคุณภาพ รักษาอุปสงค์ของตลาดในประเทศ และเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการปรับตัวตามภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก?

รายงานของกระทรวงเกษตรเวียดนาม ระบุว่า เวียดนามจะขยายตลาดส่งออกข้าวเพื่อลดการพึ่งพิงผู้รับซื้อเพียงประเทศเดียว ซึ่งที่ผ่านมาฟิลิปปินส์เป็นผู้รับซื้อข้าวรายใหญ่ที่สุดของเวียดนาม โดยเมื่อปี 2565 เวียดนามส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ถึงร้อยละ 45 ของปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนาม อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงเน้นส่งออกข้าว ในตลาดเอเชียเป็นหลัก ส่วนตลาดรอง ได้แก่ แอฟริกา อเมริกา ตะวันออกกลาง และยุโรป สำหรับการส่งออกข้าวในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม - กรกฎาคม) เวียดนามส่งออกข้าวปริมาณ 4.89 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 21

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2566 ผลผลิตข้าวของเวียดนามจะมีประมาณ 28 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศประมาณ 20 ล้านตัน และเหลือสำหรับส่งออกประมาณ 7 - 8 ล้านตัน

ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์

2) ฟิลิปปินส์

นาง Grace Poe สมาชิกวุฒิสภาฟิลิปปินส์ กล่าวว่า จากการที่อินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ส่งผลให้ปริมาณข้าวในตลาดโลกขาดแคลนประมาณ 17.86 ล้านตัน และราคาข้าวทั่วโลกปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยเวียดนามปรับขึ้นราคาข้าวจากตันละ 500 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 600 เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีการนำเข้าข้าวจากเวียดนามถึงร้อยละ 90 ของปริมาณการนำเข้าข้าวทั้งหมด

กระทรวงเกษตรฟิลิปปินส์ โดยสำนักอุตสาหกรรมพืช (Bureau of Plant Industry) รายงานว่า ในช่วง5 เดือนแรกของปี 2566 (เดือนมกราคม - พฤษภาคม) ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวปริมาณ 1.30 ล้านตัน ขณะที่เมื่อปี 2564 นำเข้าข้าวปริมาณ 2.77 ล้านตัน และปี 2565 นำเข้าข้าวปริมาณ 3.80 ล้านตัน

สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า ฟิลิปปินส์กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากสถานการณ์ความผันผวนของราคาข้าวในตลาดโลก เนื่องจากข้าวเป็นสินค้าหลักที่เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญในดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ฟิลิปปินส์ และประชากรของประเทศบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักไม่น้อยกว่า 120 กิโลกรัมต่อปี

สำหรับปี 2567 กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ว่า ฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นจากความต้องการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะนำเข้าไม่น้อยกว่า 3.80 ล้านตัน

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ