สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 4, 2023 15:50 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 28 สิงหาคม - 3 กันยายน 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลงผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 4.279 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 16.61 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าว ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.721 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.99 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,948 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,824 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,662 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,973 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.75

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,050 บาท ราคาลดลงจากตันละ 33,350 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.90

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,950 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 20,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.96

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 920 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,039 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 926 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,549 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 510 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 646 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,497 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 612 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,512 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.56 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 985 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 644 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,428 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 609 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,406 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 5.75 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 1,022 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.8254 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) เมียนมา

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า สหพันธ์ข้าวเมียนมากำลังวางแผนจำกัดการส่งออกข้าวเป็นการชั่วคราวเพื่อควบคุมราคาข้าวในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับอินเดียที่เป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลกได้ประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ ส่งผลให้อุปทานข้าวในตลาดโลกลดลงประมาณ 10 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 20 ของปริมาณข้าวโลก โดยเมียนมาจะจำกัดการส่งออกข้าวเป็นการชั่วคราวระยะเวลา 45 วัน นับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นไปข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ระบุว่า เมียนมาเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 5 ของโลก ส่งออกข้าวได้ปีละไม่น้อยกว่า 2 ล้านตัน แม้ว่าเมียนมาจะไม่ใช่ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่เหมือนอินเดียหรือไทยก็ตาม

แต่ในช่วงนี้อุปทานข้าวโลกตึงตัวจึงเกิดข้อจำกัดต่างๆ ขึ้น ซึ่งการที่เมียนมามีความเคลื่อนไหวด้านมาตรการจำกัดการส่งออกข้าวในครั้งนี้ เป็นการส่งสัญญาณไปยังตลาดข้าวโลกทำให้ประเทศผู้ซื้อมีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นจากเดิมทั้งนี้ ราคาข้าวทั่วโลกที่เสนอขายโดยประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่รวมทั้งไทยและเวียดนามมีการปรับราคาสูงขึ้น นับตั้งแต่อินเดียตัดสินใจควบคุมอุปทานข้าว ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงสูงที่สุดในเอเชียโดยข้าวหัก 5% ของเวียดนามราคาตันละ 650-660 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 22,637-22,985 บาท) ขณะที่ข้าวหัก 5% ของไทยราคาตันละ 630 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 21,940 บาท) อย่างไรก็ตาม ประเทศผู้นำเข้าข้าวทั่วโลกรวมถึงฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียกำลังเร่งซื้อข้าว เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวในประเทศลดลง

ที่มา ผู้จัดการออนไลน์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.8254 บาท

2) อินเดีย

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานโดยอ้างแถลงการณ์ของกระทรวงการคลังอินเดีย ที่ประกาศขึ้นภาษีส่งออกข้าวนึ่งร้อยละ 20 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม 2566 ถึงวันที่ 16 ตุลาคม 2566 เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาข้าวภายในประเทศ ซึ่งมาตรการขึ้นภาษีส่งออกข้าวนึ่งดังกล่าวนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลอินเดียประกาศระงับการส่งออกข้าวขาวทุกชนิดยกเว้นข้าวบาสมาติ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 เนื่องจากราคาข้าวในประเทศปรับสูงขึ้น รวมทั้งมีความกังวลว่าในปี 2566 ปริมาณผลผลิตข้าวของอินเดียอาจจะลดลงจากปัญหาภัยแล้ง

ขณะที่ผู้ประกอบการค้าข้าวในนครมุมไบของอินเดียกล่าวว่า มาตรการภาษีดังกล่าว จะทำให้ราคาข้าวนึ่งในตลาดโลกปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ที่มา สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ