สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 11 - 17 กันยายน 2566
1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง
ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 4.279 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 16.61 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2566 สศก. คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ร้อยละ 24.51 ร้อยละ 25.14 และร้อยละ 0.62 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากกว่าปี 2565 ซึ่งเป็นผลมาจากในช่วงเดือนกันยายน 2565 มีพายุโนรูเข้าประเทศไทย ทำให้มีฝนตกหนัก และปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าปกติ รวมทั้งราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนปลูกชดเชยข้าวนาปีที่เสียหายจากน้ำท่วม โดยขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก และการเจริญเติบโตของต้นข้าว ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - กันยายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 7.721 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 99.99 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,030 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,958 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,232 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 12,996 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.82
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,490 บาท ราคาลดลงจากตันละ 20,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29
3) ราคาส่งออกเอฟโอบี
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 890 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,503 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 911 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,044 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.31 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 541 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 621 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,982 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 640 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,512 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.97 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 530 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 618 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,875 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 623 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,914 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 39 บาท
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3970 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
สำนักข่าวซินหัว รายงานข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรของเวียดนาม ระบุว่า ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม ? สิงหาคม) เวียดนามส่งออกข้าวสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์คิดเป็นร้อยละ 89 ของเป้าหมายส่งออกตลอดทั้งปี โดยส่งออกปริมาณ 6 ล้านตัน มูลค่าประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือส่งออกเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 20 และร้อยละ 34 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อุปทานข้าวในตลาดเวียดนามค่อนข้างคงที่ช่วงไตรมาสที่ 4 ขณะที่หลายประเทศมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งนี้ ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม ได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกข้าว 7.5 - 7.8 ล้านตัน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศในประเทศเอื้ออำนวย นอกจากนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม ระบุว่า ราคาส่งออกข้าวของเวียดนามยังคงสูงที่สุดในโลก โดยราคาข้าวหัก 5% ตันละ 638 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 22,583 บาท) และข้าวหัก 25% ตันละ 623 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ตันละ 22,052 บาท)
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3970 บาท
นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนีย ประธานาธิบดีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ ได้กำหนดราคาข้าวขั้นสูงเมื่อช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน 2566 เพื่อควบคุมต้นทุนการค้าปลีกที่ปรับราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีรายงานว่า มีผู้ประกอบการค้าข้าวบางรายได้กักตุนข้าว
นายอัลเฟรโด ปาสควาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์อาจจะมีการยกเลิกการกำหนดราคาข้าวขั้นสูงภายใน 2 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นช่วงที่เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตทั่วประเทศ ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้มีการหารือเรื่องการนำเข้าข้าวกับเวียดนามซึ่งเป็นประเทศส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก
นอกจากนี้ นายลีโอ เซบาสเตียน ปลัดกระทรวงเกษตรของฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวในประเทศไม่น้อยกว่า 11 ล้านตัน และหากไม่มีพายุไต้ฝุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว คาดว่าผลผลิตข้าวในประเทศจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านตัน ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวใกล้เคียงกับปี 2565 ที่มีผลผลิต 19.76 ล้านตัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีผลผลิต 9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ร้อยละ 3
ที่มา สำนักข่าวอินโฟเควสท์
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร