สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 2, 2023 14:10 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 25 กันยายน - 1 ตุลาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของ

ต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 4.279 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 16.61 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือนกันยายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 7.760 ล้านไร่ ผลผลิต 4.787 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 617 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 34.72 ร้อยละ 38.01 และร้อยละ 5.08 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่า ปี 2566 ทำให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 3.039 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 63.49 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,078 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 15,069 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.06

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,268 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,222 บาทในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 33,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,450 บาท ราคาลดลงจากตันละ 20,490 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 870 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,465 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 877 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,362 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 103 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 608 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,989 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 612 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,886 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 103 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 605 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,880 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 609 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,778 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.66 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 102 บาท

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.1661 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) ฟิลิปปินส์

สำนักข่าวฟิลิปปินส์ (The Philippine News Agency : PNA) รายงานว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์กำลังวางแผนที่จะลดภาษีนำเข้าข้าว ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะดำเนินการแทนมาตรการกำหนดเพดานราคาข้าว (the price ceiling on rice) โดยเมื่อต้นเดือนกันยายน 2566 รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้กำหนดเพดานราคาข้าวสารเกรดธรรมดา (regular milled rice) กิโลกรัมละ 41 เปโซ (ประมาณกิโลกรัมละ 26.57 บาท) และข้าวคุณภาพดี (well-milled rice) กิโลกรัมละ 45 เปโซ (ประมาณกิโลกรัมละ 29.16 บาท) เพื่อควบคุมราคาข้าวในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งชาติ (The National Economic and Development Authority : NEDA) กล่าวว่า มาตรการกำหนดเพดานราคาข้าวจะยกเลิกได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลมีทางเลือกที่เหมาะสมกว่าในการควบคุมการปรับขึ้นของราคาข้าวในตลาด จึงเป็นเหตุผลที่ทาง NEDA จะเข้าพบรัฐบาลเพื่อแนะนำทางเลือกอื่นซึ่งทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ คือ การลดภาษีนำเข้าข้าวในขณะที่ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะดำเนินการลดภาษีนำเข้าข้าว ต้องมีการตรวจสอบว่าเกษตรกรจะยังคงได้รับการคุ้มครองจากรัฐบาลหรือไม่ เนื่องจากการลดภาษีนำเข้าข้าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีน้อยลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณที่จะนำไปใช้ในการสนับสนุนเกษตรกรได้

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 เปโซ เท่ากับ 0.6480 บาท

2) อินโดนีเซีย

หัวหน้าสำนักงานอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority : NFA) แจ้งว่า รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังพิจารณาการนำเข้าข้าวจำนวน 1 ล้านตัน จากประเทศจีนเพื่อเพิ่มสต็อกข้าวในประเทศ โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้หารือเรื่องนี้กับหลายประเทศในระหว่างมีการประชุมสุดยอดอาเซียน (The ASEAN summit) ที่ผ่านมา นอกจากนี้ทีมเจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซียได้มีการเจรจากับกัมพูชาโดยมีการตกลงที่กัมพูชาจะส่งออกข้าวจำนวน 10,000 ตัน

สำหรับปี 2566 รัฐบาลได้มอบหมายให้ Bulog ซึ่งเป็นหน่วยงานจัดซื้ออาหารของรัฐ นำเข้าข้าวจำนวน 2.3 ล้านตัน เพื่อลดผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญ ซึ่งทำให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของประเทศ อาจทำให้ผลผลิตข้าวในปี 2566 ลดลงร้อยละ 5 - 7 จากปริมาณ 31.54 ล้านตัน ในปีที่ผ่านมา

สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า ช่วงเดือนมกราคม - สิงหาคม 2566 อินโดนีเซียนำเข้าข้าวประมาณ 1.59 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 237,146 ตัน ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งข้าวที่นำเข้ามากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นข้าวจากประเทศไทย 802,000 ตัน รองลงมาเป็นข้าวจากเวียดนาม 674,000 ตัน อินเดีย 66,000 ตัน และปากีสถาน 45,000 ตัน รวมทั้งธนาคารกลาง รายงานว่าข้อมูลภาวะราคาข้าวของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นในอัตราที่รวดเร็ว โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เป็นกิโลกรัมละ 14,000 รูเปีย (ประมาณกิโลกรัมละ 30.73 บาท) ซึ่งเป็นราคาสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1,000 รูเปีย เท่ากับ 2.1953 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ