ปีนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6 จว. ภาคเหนือตอนบน ผลผลิตรวม 8.8 แสนตัน ‘เชียงใหม่’ แหล่งผลิตใหญ่ เกษตรกรเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิต

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 5, 2023 13:23 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ปีนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6 จว. ภาคเหนือตอนบน ผลผลิตรวม 8.8 แสนตัน?เชียงใหม่? แหล่งผลิตใหญ่ เกษตรกรเตรียมเก็บเกี่ยวผลผลิต

นายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่ (สศท.1) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีมาตรการแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2566/67 โดยได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนการเพาะปลูกในแต่ละช่วงเวลาให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน ทั้งนี้ ภาครัฐจึงได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร เนื่องจากเป็นพืชที่มีศักยภาพสามารถปลูกในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าว เนื่องจากใช้น้ำน้อยกว่าการทำนา 2-3 เท่า และยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นทุกปี

สศท.1 ติดตามภาพรวมสถานการณ์การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของ 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง พะเยา และแม่ฮ่องสอน (ข้อมูล ณ กันยายน 66) คาดว่าปีเพาะปลูก 2566/67 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดรุ่น 1 และข้าวโพดรุ่น 2 (ข้าวโพดหลังนา) รวม 1,231,210 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 27 ของเนื้อที่ปลูกภาคเหนือ ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 1,231,538 ไร่ (ลดลง 328 ไร่ หรือร้อยละ 0.03) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝนทิ้งช่วง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเกษตรในพื้นที่ดอน อีกทั้ง พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในภาคเหนือส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลักจึงส่งผลกระทบจากภาวะฝนแล้งบางส่วน ด้านผลผลิตรวม คาดว่ามี 882,321 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน900,676 ตัน (ลดลง 18,355 ตัน หรือ ร้อยละ 2.04) ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 733 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 727 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 6 กิโลกรัม หรือ ร้อยละ 0.85) ซึ่งผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ค่อนข้างดี เกษตรกรจึงใส่ใจดูแลรักษา และเกษตรกรสามารถควบคุมการะบาดของหนอนกระทู้ลายจุดได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้ง 6 จังหวัดที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ข้อมูล ณ กันยายน 66) มีจำนวน 97,184 ครัวเรือน

หากพิจารณาถึงสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของจังหวัดเชียงใหม่ แหล่งผลิตอันดับ 1 ของกลุ่ม 6 จังหวัดภาคเหนือตอนบน (ข้อมูล ณ กันยายน 66) คาดว่า ปีเพาะปลูก 2566/67 จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่เพาะปลูก 285,004 ไร่ ให้ผลผลิต 205,191 ตัน ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 720 กิโลกรัม พบปลูกมากที่สุดในอำเภอแม่แจ่มเกษตรกรขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับกรมส่งเสริมการเกษตร 20,577 ครัวเรือน โดยขณะนี้ เกษตรกรอยู่ระหว่างเตรียมการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่นที่ 1 ซึ่งเก็บเกี่ยวช่วงเดือนกันยายน 2566 - มกราคม 2567 ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ความชื้น 14 % เฉลี่ยอยู่ที่ 10.77 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 จำหน่ายผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับ ผู้รวบรวมในพื้นที่ และอีกร้อยละ 20 จำหน่ายให้กับสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่ โดยปลายทางของผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะถูกส่งไปยังโรงงานผลิตอาหารสัตว์และฟาร์มไก่ไข่ ? เชียงใหม่ลำพูน

ทั้งนี้ หากพิจารณาความต้องการใช้ภายในประเทศ ในปี 2566 คาดว่ามีความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ 8.37 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากรสัตว์ในภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ และสุกร มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้กำหนดการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการใช้ยุทธศาสตร์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2564 ? 2567 โดยมีวิสัยทัศน์ คือ ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่มูลค่า ภายใต้นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) มีเป้าหมาย 3 ประการ ได้แก่ 1) การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ 2) การเพิ่มพื้นที่ปลูกในพื้นที่เหมาะสม และ 3) ผลผลิตมีคุณภาพและได้มาตรฐาน โดยมีแนวทางตามประเด็นยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการด้านการผลิต 2) ด้านการสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมในห่วงโซ่มูลค่า และ 3) ด้านการเพิ่มศักยภาพการตลาด

******************************************************

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 เชียงใหม่

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ