สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 9, 2023 15:55 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 2 - 8 ตุลาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และคาดว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปี 2565 โดยในช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม 2566 เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว

สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 4.279 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 16.61 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือนกันยายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 7.760 ล้านไร่ ผลผลิต 4.787 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 617 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 34.72 ร้อยละ 38.01 และร้อยละ 5.08 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่า ปี 2566 ทำให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 3.039 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 63.49 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 15,040 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,078 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.25

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,238 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,268 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,750 บาท ราคาลดลงจากตันละ 33,050 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.91

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 20,450 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 855 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,402 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 870 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,465 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.72 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 63 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 597 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,926 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 608 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,989 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.81 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 63 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 594 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,816 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 605 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,880 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.82 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 64 บาท

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.7276 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) มาเลเซีย

กระทรวงเกษตรมาเลเซียมีแถลงการณ์ว่า รัฐบาลประกาศมาตรการอุดหนุนราคาข้าวขาวนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ราคาตันละ 950 ริงกิต (ประมาณตันละ 7,324 บาท) เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2566 โดยจัดสรรงบประมาณให้รัฐซาราวัก และรัฐซาบาห์ เพื่อบรรเทาภาวะราคาข้าวในประเทศที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่ประชาชนอย่างมาก โดยรัฐบาลเตรียมจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานของรัฐหลายแห่ง เช่น ค่ายทหาร สำนักงานตำรวจ และกิจการหอพักของสถาบันการศึกษาสังกัดภาครัฐ เพื่อนำไปซื้อข้าวขาวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายที่จะช่วยราคาข้าวที่ผลิตในประเทศให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5

ทั้งนี้ ราคาข้าวนำเข้าของมาเลเซีย เมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2566 กิโลกรัมละ 6.40 ริงกิต (ประมาณกิโลกรัมละ 49.34 บาท) เพิ่มขึ้นจากราคาปกติที่กิโลกรัมละ 4.80 ริงกิต (ประมาณกิโลกรัมละ 37.01 บาท) ขณะที่ราคาข้าวขาวที่ผลิตในประเทศกิโลกรัมละ 2.60 ริงกิต (ประมาณกิโลกรัมละ 20.04 บาท)

ที่มา เดลินิวส์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ริงกิต เท่ากับ 7.7095 บาท

2) ฟิลิปปินส์

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประกาศยกเลิกมาตรการกำหนดเพดานราคาข้าวที่จำหน่ายในประเทศ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 หลังจากที่ออกมาตรการกำหนดเพดานราคาข้าวขาว ไม่เกินกิโลกรัมละ 41 เปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณกิโลกรัมละ 26.83 บาท) และข้าวขาวคุณภาพดีกิโลกรัมละ 45 เปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณกิโลกรัมละ 29.44 บาท) โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566

นอกจากนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์อนุมัติการนำเข้าข้าว 3.9 ล้านตัน ในช่วงเดือนมกราคม 2565 - ธันวาคม 2566 ซึ่งปีนี้ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่นำเข้าข้าวมากที่สุดในโลก แทนที่จีนที่เคยครองสถิตินำเข้าข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก ตั้งแต่ปี 2562 ได้อนุมัติการนำเข้าข้าว 3.5 ล้านตัน ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวจากไทยและเวียดนามมากที่สุด

ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์เตรียมจัดสรรงบประมาณ 12,700 ล้านเปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณ 8,309.61 ล้านบาท) เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในประเทศประมาณ 2.3 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญและวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่เป็นเจ้าของที่นาไม่เกิน 2 เฮกตาร์ (ประมาณ 12.5 ไร่) จะได้รับการช่วยเหลือรายละ 5,000 เปโซฟิลิปปินส์ (ประมาณ 3,272.50 บาท) โดยแหล่งงบประมาณมาจากอัตราภาษีส่วนเกินที่เก็บจากการนำเข้าข้าวเมื่อปี 2565

ที่มา เดลินิวส์

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 เปโซฟิลิปปินส์ เท่ากับ 0.6543 บาท

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ