สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 16, 2023 15:19 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 9 - 15 ตุลาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ฝนมาล่าช้า และปริมาณฝนน้อยกว่าปี 2565 ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่งผลให้เกษตรกรบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อย ทำให้ต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้ ยังพบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 6.394 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 24.82 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือนกันยายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 7.760 ล้านไร่ ผลผลิต 4.787 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 617 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.888 ล้านไร่ ผลผลิต 7.722 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 34.72 ร้อยละ 38.01 และร้อยละ 5.08 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่า ปี 2566 ทำให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 3.039 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 63.49 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,894 บาท ราคาลดลงจากตันละ 15,040 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.97

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,208 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,238 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.23

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,750 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 19,950 บาท ราคาลดลงจากตันละ 20,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.44

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 858 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,240 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 855 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,402 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 162 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 595 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,664 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 597 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,926 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 262 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,773 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 594 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,816 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.67 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 43 บาท

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.4097 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) เวียดนาม

เวียดนาม นิวส์ รายงานว่า ในปี 2566/67 คาดว่าการรุกล้ำของน้ำเค็มในทะเลบริเวณภูมิภาคดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงของเวียดนามจะเกิดเร็วขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2566 - เมษายน 2567 ขณะที่หลายพื้นที่กำลังเตรียมแผนเพื่อรองรับน้ำให้มีเพียงพอสำหรับการเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงฤดูหนาวถึงฤดูใบไม้ผลิ ตั้งแต่เดือนกันยายน - กลางเดือนพฤศจิกายน 2566 เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากภัยแล้งและความเค็มของน้ำ อย่างไรก็ตาม การที่ฤดูฝนสิ้นสุดเร็ว อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตรกรรมได้ สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำทางตอนใต้ของเวียดนาม คาดการณ์ปริมาณน้ำฝนตลอดทั้งปี 2566 มีปริมาณรวม 1,350 มิลลิเมตร ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 13 แต่มากกว่าเมื่อปี 2558 ที่ประสบภัยแล้งรุนแรงเพียง ร้อยละ 1 เท่านั้น ทั้งนี้ ในภูมิภาคดังกล่าว ช่วงฤดูแล้งรุนแรงปี 2558/59 พบว่า การรุกล้ำของน้ำเค็มและภัยแล้งนำไปสู่การสูญเสียข้าวเปลือกจำนวน 1 ล้านตัน ขณะที่ประชาชน 5 แสนครัวเรือน ต้องเผชิญกับการขาดแคลนน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน

ที่มา สำนักข่าวซินหัว (Xinhua)

2) ไทย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) เปิดเผยว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เข้มแข็ง ซึ่งสินค้าที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีอัตลักษณ์และมีศักยภาพแข่งขันได้ในเวทีโลก กระทรวงพาณิชย์จึงมอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา เร่งส่งเสริมสินค้า GI ไทยในทุกมิติ โดยเฉพาะการยื่นขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ เพื่อขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าสินค้า

สำหรับสินค้าข้าว เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญามาเลเซีย ได้ประกาศขึ้นทะเบียน GI ?ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง? และ ?ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้? เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยที่ผ่านมาข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ได้รับการจดทะเบียน GI ในสหภาพยุโรป และอินโดนีเซีย ส่วนข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับการจดทะเบียน GI ในสหภาพยุโรป จีน และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ?ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง? สามารถปลูกได้ในจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ราบกว้าง มีแหล่งน้ำหนุนจากทะเลสาบสงขลา และมีการทับถมของตะกอน ทำให้ข้าวมีคุณภาพดี มีลักษณะเด่น คือ เมล็ดข้าวเรียวเล็ก อ่อนนุ่ม ข้าวกล้องมีสีแดงถึงแดงเข้ม ข้าวสารมีสีขาวปนแดงแกมชมพูเป็นเอกลักษณ์ และมีผลผลิตปริมาณ 8,000 ตันต่อปี สร้างรายได้ประมาณ 104 ล้านบาทต่อปี สำหรับ ?ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้? สามารถปลูกได้ในฤดูการผลิตข้าวนาปี บริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด ที่มีสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะขนาดใหญ่ ดินร่วนปนทรายมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ มีความแห้งแล้งและมีความเค็มในดิน ส่งผลให้ข้าวเกิดความเครียดและหลั่งสารหอม ข้าวหอมมะลิดังกล่าว จึงมีความหอมตามธรรมชาติมากกว่าข้าวจากแหล่งอื่น และเมื่อหุงสุกจะมีกลิ่นหอมและนุ่ม โดย 5 จังหวัด มีผลผลิตปริมาณ 24,500 ตันต่อปี สร้างรายได้ประมาณ 266 ล้านบาทต่อปี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวมาเลเซียบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก โดยนิยมบริโภคเมนูนาซิเลอมัก (Nasi Lemak) ซึ่งเป็นข้าวที่หุงกับกะทิและใบเตย รับประทานคู่กับแกงและเครื่องเคียงต่างๆ มาเลเซียจึงนำเข้าข้าวจากต่างประเทศกว่าร้อยละ 30 ตามความต้องการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งข้าวไทยได้รับความนิยมในประเทศมาเลเซีย โดยในปี 2565 ไทยส่งออกข้าวไปประเทศมาเลเซีย มูลค่าประมาณ 3,200 ล้านบาท

ที่มา มติชนออนไลน์

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ