สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 23, 2023 15:29 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 16 - 22 ตุลาคม 2566

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การผลิต

1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2566

มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.375 ล้านไร่ ผลผลิต 25.761 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.96 ร้อยละ 3.27 และร้อยละ 2.36 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลง เนื่องจากฝนมาล่าช้า และปริมาณฝนน้อยกว่าปี 2565 ทำให้ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่งผลให้บางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยทำให้ต้นข้าวเติบโตได้ไม่เต็มที่ พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น ไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยการผลิตยังคงมีราคาสูง ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เกษตรกรจึงปรับลดปริมาณการใช้ ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลง

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตออกสู่ตลาดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.610 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.48 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ตุลาคม 2566 มีผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณ 6.394 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 24.82 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือนกันยายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 7.760 ล้านไร่

ผลผลิต 4.787 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 617 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.099 ล้านไร่ ผลผลิต7.199 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 649 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 30.08 ร้อยละ 33.50 และร้อยละ 4.93 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่า ปี 2566 ทำให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์

ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 3.039 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 63.49 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,835 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,894 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,986 บาท ราคาลดลงจากตันละ 13,208 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.68

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 32,550 บาท ราคาลดลงจากตันละ 32,750 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.61

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 19,790 บาท ราคาลดลงจากตันละ 19,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.80

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 861 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,109 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 858 ดอลลาร์สหรัฐฯ (31,240 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.35 แต่ลดลงในรูปเงินบาทตันละ 131 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 583 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,064 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 595 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,664 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.02 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 600 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 591 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,353 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 598 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,773 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.17 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 420 บาท

หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 36.1310 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

2.1 สถานการณ์ข้าวโลก

1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนตุลาคม 2566 ผลผลิต 518.136 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 513.684 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2565/66 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2566/67 ณ เดือนตุลาคม 2566 มีปริมาณผลผลิต 518.136 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.87 การใช้ในประเทศ 523.533 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2565/66 ร้อยละ 0.01 การส่งออก/นำเข้า 52.503 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 2.43 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 167.465 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปี 2565/66 ร้อยละ 3.12

  • ประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมา กัมพูชา จีน ปากีสถาน ตุรกี อุรุกวัย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล อินเดีย ปารากวัย ไทย และเวียดนาม
  • ประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ บังกลาเทศ จีน เอธิโอเปีย อิหร่าน มาเลเซีย เม็กซิโก เนปาล ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหราชอาณาจักร ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย เคนยา ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
  • ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ จีน อินเดีย ไทย บังกลาเทศ และไนจีเรีย

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

1) มาเลเซีย

นายชาน ฟง ฮิน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและความมั่นคงด้านอาหารของมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียจะนำประเด็นการเรียกร้องให้ประเทศผู้ผลิตข้าวในอาเซียน ให้ความสำคัญกับการส่งออกอาหารหลักไปยังประเทศสมาชิกในระหว่างการประชุมทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ที่จัดขึ้นในช่วงที่มีการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน

ด้านการเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 45 (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry : AMAF) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของภาคเกษตรกรรมและป่าไม้ ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชากรหลายล้านคนในอาเซียนที่กำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การทำประมงที่มากเกินไป การมีแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน และการสูญเสียอาหาร จากปัญหาที่กล่าวมา อาจส่งผลร้ายแรงต่อความมั่นคงทางด้านอาหารของมาเลเซียและประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มาเลเซียสนใจนำเข้าข้าวขาว คือ ไทย และเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลจะดำเนินการเจรจาซื้อข้าวอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ ยังคงให้ความสำคัญที่จะนำเข้าข้าวจากประเทศใกล้เคียงอีกด้วย

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

2) อินโดนีเซีย

นายบูดี วาเซโซ ผู้อำนวยการสำนักงานโลจิสติกส์แห่งรัฐ (Bulog) กล่าวว่า รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงาน Bulog นำเข้าข้าวอีก 2 ล้านตัน ในปี 2567 เพื่อรักษาปริมาณสำรองข้าวของประเทศ และรัฐบาลจะติดตามการผลิตข้าวในประเทศตลอดจนสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไม่ต้องการให้มีความเสี่ยงหากเกิดภาวะผลผลิตข้าวขาดแคลน จึงต้องจัดหาข้าวให้เพียงพอเพื่อชดเชยการขาดแคลนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 หน่วยงาน Bulog รายงานความคืบหน้าผลการจัดประมูลซื้อข้าวขาว 5% (White Rice 5% Broken) จากไทย เวียดนาม และเมียนมา จำนวนรวม 300,000 ตัน และจากปากีสถาน จำนวน 200,000 ตัน

สำนักงานสถิติของอินโดนีเซีย รายงานผลผลิตข้าวของอินโดนีเซียในปี 2566 คาดว่ามีปริมาณ 30.90 ล้านตัน ลดลงจากปี 2565 ร้อยละ 2.05 เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ที่ส่งผลกระทบต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยผลผลิตข้าวในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2566 จะออกสู่ตลาดประมาณ 4.78 ล้านตัน ลดลงจาก 5.37 ล้านตัน ในช่วงเดียวกันของปี 2565 หรือลดลงร้อยละ 10.98 ทั้งนี้ นางอมาเลีย อดินิงการ์ วิดยาซานตี รักษาการหัวหน้าสำนักงานสถิติ (Acting Statistics Bureau Chief) กล่าวว่า จากภาวะแห้งแล้งที่ยืดเยื้อจากอิทธิพลของเอลนีโญ ได้ส่งผลให้การปลูกและ

การเก็บเกี่ยวข้าวได้รับความเสียหาย โดยคาดว่าพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าวในปี 2566 จะมีประมาณ 63.75 ล้านไร่ ลดลงจาก 65.31 ล้านไร่ ในปี 2565 ในการนี้ อินโดนีเซียวางแผนที่จะนำเข้าข้าวเพื่อเป็นการสำรองข้าวของรัฐบาลเพิ่มเติม จำนวน 1.5 ล้านตัน ในปี 2566 นอกเหนือจากการนำเข้าตามโควตาเมื่อต้นปี 2566 จำนวน 2.3 ล้านตัน

ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ