สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566
1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ
1) ข้าวนาปี ปี 2566/67 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 61.928 ล้านไร่ ผลผลิต 25.569 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 413 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2565/66 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.838 ล้านไร่ ผลผลิต 26.712 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 425 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 1.45 ร้อยละ 4.28 และร้อยละ 2.82 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร ส่งผลให้เกษตรกรในบางพื้นที่ปล่อยที่นาให้ว่าง และบางพื้นที่ปลูกข้าวนาปีได้เพียงรอบเดียว สำหรับผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากปริมาณฝนน้อยจากการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลต่อการงอกของต้นกล้า และการสร้างรวงของต้นข้าวที่เติบโตได้ไม่เต็มที่ ประกอบกับบางพื้นที่พบโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด เช่น โรคไหม้คอรวง เพลี้ยไฟ เป็นต้น
ส่งผลให้ในภาพรวมผลผลิตทั้งประเทศลดลงผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 - พฤษภาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ปริมาณ 16.555 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 64.75 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด ทั้งนี้ ตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน 2566 คาดว่ามีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 22.938 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 89.71 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด คงเหลือผลผลิตที่คาดว่าจะออกสู่ตลาดอีกประมาณ 2.631 ล้านตันข้าวเปลือก หรือร้อยละ 10.29 ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด
2) ข้าวนาปรัง ปี 2567 สศก. คาดการณ์ข้อมูลเบื้องต้น ณ เดือนกันยายน 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 7.760 ล้านไร่ ผลผลิต 4.787 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 617 กิโลกรัม ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.099 ล้านไร่ ผลผลิต 7.199 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 649 กิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 30.08 ร้อยละ 33.50 และร้อยละ 4.93 ตามลำดับ เนื้อที่เพาะปลูกลดลง เนื่องจากคาดว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และปริมาณน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติน้อยกว่า ปี 2566 ทำให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรบางพื้นที่จึงปล่อยที่นาให้ว่าง สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ ผลผลิตออกสู่ตลาด คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2567 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2567 ปริมาณรวม 3.039 ล้านตันข้าวเปลือก หรือคิดเป็นร้อยละ 63.49 ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ
ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,147 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,616 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 3.21
ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 12,548 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,808 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.03
2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ
ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 31,950 บาท ราคาลดลงจากตันละ 32,550 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.84
ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 19,250 บาท ราคาลดลงจากตันละ 19,450 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.03
3) ราคาส่งออกเอฟโอบี
ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 862 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,841 บาท/ตัน) ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 837 ดอลลาร์สหรัฐฯ (30,101 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.99 และเพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 740 บาท
ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 584 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,895 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 586 ดอลลาร์สหรัฐฯ (21,074 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.34 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 179 บาท
ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 578 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,680 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 581 ดอลลาร์สหรัฐฯ (20,895 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.52 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 215 บาท
หมายเหตุ: อัตราแลกเปลี่ยนสัปดาห์นี้ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.7787 บาท
2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
ภาวะราคาข้าวปรับสูงขึ้น โดยข้าวขาว 5% ตันละ 640-645 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 22,898 - 23,077 บาท) สูงขึ้นจากตันละ 625-630 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 22,362 - 22,541 บาท) ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2566 เนื่องจากอินโดนีเซียมีความต้องการนำเข้าข้าวจากเวียดนามเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานข้าวในประเทศมีจำกัด ประกอบกับฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิต (ช่วงฤดูร้อน-ฤดูใบไม้ร่วง) สิ้นสุดแล้ว และเวียดนามยังคงต้องติดตามสถานการณ์ปริมาณผลผลิตที่อาจจะออกสู่ตลาดลดลงในช่วงฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว
กรมศุลกากรของเวียดนาม รายงานว่า ในช่วงเดือนมกราคม - ตุลาคม 2566 คาดว่าเวียดนามจะส่งออกข้าวประมาณ 7.1 ล้านตันข้าวสาร มูลค่าประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 143,115 ล้านบาท) โดยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ปริมาณละมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และร้อยละ 35 ตามลำดับ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดตั้งแต่ปี 2552
สมาคมอาหารเวียดนาม รายงานว่า ณ วันที่ 27 ตุลาคม 2566 ราคาข้าวของเวียดนามสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก โดยราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามตันละ 643 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 23,006 บาท) สูงกว่าราคาข้าวประเภทเดียวกันของไทยและปากีสถานที่ตันละ 79 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ ตันละ 2,827 บาท) และตันละ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 2,862 บาท) ตามลำดับ สำหรับราคาข้าวขาว 25% ของเวียดนามตันละ 628 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 22,469 บาท) สูงกว่าราคาข้าวของไทยและปากีสถานที่ตันละ 106 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 3,793 บาท) และตันละ 140 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณตันละ 5,009 บาท) ตามลำดับ
ที่มา สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย
หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.7787 บาท
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร