สถานการณ์การผลิตและการตลาดรายสัปดาห์ 30 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2566
สรุปภาวะการผลิต การตลาดและราคาในประเทศ
- ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย และการควบคุมการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เพิ่มน้ำตาลทรายเป็นสินค้าควบคุม ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 โดยมีมาตรการกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำตาลทราย 2 มาตรการ คือ 1) กำหนดราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวหน้าโรงงาน กิโลกรัมละ 19 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์หน้าโรงงาน กิโลกรัมละ 20 บาท และ 2) ควบคุมราคาจำหน่ายปลีกในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยน้ำตาลทรายขาว ไม่เกินกิโลกรัมละ 24 บาท และน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ ไม่เกินกิโลกรัมละ 25 บาท รวมถึงมาตรการควบคุมการส่งออกนอกประเทศ โดยผู้ส่งออกต้องได้รับหนังสืออนุญาต หากมีปริมาณส่งออกเกิน 1 ตัน โดยประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป (ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์)
สรุปภาวะการผลิต การตลาดและราคาในต่างประเทศ
- โรงงานน้ำตาลในภาคกลาง ? ใต้ของบราซิล วางแผนที่จะขยายเวลาเปิดหีบ ปี 2566/2567 ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 12 ปี โดยโรงงานบางแห่ง คาดว่า จะเปิดหีบจนถึงกลางเดือนธันวาคม 2566 จากปกติจะสิ้นสุดการหีบอ้อยในเดือนพฤศจิกายน และบางแห่งอาจขยายเวลาออกไปจนถึงเดือนมกราคม 2567 อย่างไรก็ตาม Union of Bioenergy Producers (UDOP) คาดการณ์ว่า จะมีปริมาณอ้อยค้างไร่อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านตัน ด้าน Alcoeste Bioenergia คาดการณ์ว่า การผลิตน้ำตาลของโรงงานในภาคกลาง ? ใต้ของบราซิลในปี 2567/2568 จะเพิ่มกำลังการผลิตได้มากขึ้นถึง 4 ล้านตัน
- EU Sugar Market Observatory รายงานว่า ในปี 2565/2566 สหภาพยุโรปมีการนำเข้าน้ำตาล 2.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่การส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 25 เหลือเพียง 598,000 ตัน
- การประมาณการปริมาณอ้อยล่วงหน้าครั้งแรกของกระทรวงเกษตรประเทศอินเดีย คาดการณ์ว่า ผลผลิตอ้อยของอินเดียปี 2566/2567 อยู่ที่ 435 ล้านตัน เทียบกับค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 422 ล้านตัน
ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร